มติวิปวุฒิ-สส. "แคนดิเดตนายกฯ" ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ คาดรู้ผลโหวต 17.30 น.
มติวิปวุฒิ-สส. "แคนดิเดตนายกฯ" ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมในวันโหวต หลังพท.ค้าน กำหนดกรอบอภิปราย 5 ชั่วโมง คาดลงมติจบ 17.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อเวลา 10.00 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมตัวแทน ของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) และตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. โดยใช้เวลาหารือร่วมกันนานเกือบ 2 ชั่วโมง
จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ แถลงถึงข้อตกลงร่วมกันในวันประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค.จะมีเฉพาะวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้รัฐสภาลงมติโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการใช้เวลาอภิปรายก่อนการลงมติ 5 ชั่วโมง แบ่งเป็น สว. 2 ชั่วโมง และ สส. 3 ชั่วโมง ทั้งนี้คาดว่าจะลงมติได้ในเวลา 15.00 น. และจะลงมติเสร็จสิ้น 17.30 น.
ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์นั้น หากเสนอชื่อบุคคลภายนอก ไม่จำเป็นต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยประธานฝ่ายกฎหมายของสภาได้นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมของ คณะกรรมาธิการในการร่างข้อบังคับรัฐสภาปี 2563 มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งรายละเอียด มีในบันทึกการประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 63 และมีมติของที่ประชุมเมื่อ 24 ก.ค. 63 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้นประธานรัฐสภาก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการเสนอญัตติด่วนที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาของ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่ให้มีการทบทวนมติที่ประชุมเมื่อ 19 ก.ค.2566 เรื่องเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้นายรังสิมันต์ ได้แสดงเจตนารมณ์ ถึงการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นว่าตามข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ เพราะหากมีการทบทวนจะเกิดปัญหาว่า มติของสภาที่ออกไปสามารถทบทวนได้เรื่อยๆ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการลงมติและมีปัญหา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้ใช้อำนาจของประธานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับข้อที่ 5 และ 151 ประกอบ คือไม่รับว่าเป็นญัตติด่วน แต่นำเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้ว และญัตติอื่นที่มีการทบทวนก็จะเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทบทวนในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นก็จะดำเนินการตามนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแบ่งเวลาอภิปรายดังกล่าว ได้กำหนดกรอบให้อภิปรายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอชื่อต่อรัฐสภา ซึ่งในส่วนของ สส.นั้น พบว่าพรรคก้าวไกล ร้องขอเวลาอภิปราย 30 นาทีด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศในการประชุมตัวแทนวิปวุฒิสภาและพรรคการเมือง ตามที่มีประเด็นเสนอให้ บุคคลที่เสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ เข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา นั้น ได้มีการถกเถียงในรายละเอียด โดยฝั่งของพรรคเพื่อไทยและฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เช่น พรรคเสรีรวมไทย ยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้แคนดิเดตนายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ โต้แย้งกับข้อเสนอที่ขอให้ประธานรัฐสภาเปิดโอกาสและอนุญาตบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อชี้แจงได้ เพราะต้องการฟังคำชี้แจง หากนายเศรษฐา ถูกเสนอชื่อ จะมีโอกาสชี้แจงกับประเด็นที่ถูกกล่าวหาในแง่จริยธรรมที่เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามในประเด็นความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์
อย่างไรก็ดีในท้ายสุดจึงมีข้อสรุปว่า บุคคลภายนอกที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ไม่ต้องมาประชุมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ส่วนหากมีประเด็นอภิปรายพาดพิง พรรคเพื่อไทยจะจัดคนเพื่อชี้แจงแทน