แฟ้มคดี ‘ทักษิณ’ คุก 10 ปี มีค้างใน ป.ป.ช. 2 คดี ก่อนลั่นกลับไทย 22 ส.ค.

แฟ้มคดี ‘ทักษิณ’ คุก 10 ปี มีค้างใน ป.ป.ช. 2 คดี ก่อนลั่นกลับไทย 22 ส.ค.

เปิดแฟ้มคดี 'ทักษิณ ชินวัตร' ศาลพิพากษาถึงที่สุดจำคุก 10 ปีใน 3 คดี ยังเหลือคดีค้างใน ป.ป.ช. อีก 2 คดี อยู่ระหว่างไต่สวน ก่อน 'อุ๊งอิ๊ง' ประกาศเจ้าตัวพร้อมกลับไทยอีกครั้ง 22 ส.ค.นี้

"อังคารที่ 22 สิงหาคม 9.00 น. ณ ดอนเมือง จะไปรับคุณพ่อทักษิณค่ะ"

คือข้อความล่าสุดที่ ‘อุ๊งอิ๊งแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย บอกถึงกำหนดการใหม่ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้เป็นบิดาว่า จะเดินทางกลับมาไทย 

หลังจากก่อนหน้านี้เคยบอกว่า ทักษิณกลับไทย 10 ส.ค. แต่ต้องเลื่อนกำหนดการออกไปก่อน โดย ‘ทักษิณ’ อ้างว่า เป็นเพราะหมอนัดตรวจสุขภาพ

หาก ‘ทักษิณ’ กลับมาไทยจริงในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เท่ากับว่า ‘ปิดตำนาน’ ผู้ต้องหาหลบหนีคดีลากยาวกว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2551 อ้างต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะกำลังต่อสู้คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดิน ถ.รัชดาภิเษก อ้างว่าไปดูกีฬาโอลิมปิก กระทั่งไม่กลับมาอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันคดีทุจริตซื้อที่ดินย่าน ถ.รัชดาภิเษก หมดอายุความไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเหลืออีกอย่างน้อย 3 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแล้ว

 

เปิดแฟ้ม คดี ทักษิณ ชินวัตร ยังเหลือคดีอะไรบ้าง กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมให้ทราบ ดังนี้

  • พิพากษาคุก 3 คดี โทษรวมจำคุก 10 ปี    

1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษ แบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ

 

2.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)
    
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

3.คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณ ดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น) โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย

 

  • 2 คดียกฟ้อง

1.คดีกล่าวหาว่าอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI

คดีดังกล่าวศาลฎีกาฯ ได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายื่นยกฟ้องตามเดิม

2.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต โดยศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซูเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือ นายทักษิณ

 

  • 1 คดีหมดอายุความ

คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551

โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว

  • อยู่ในชั้นไต่สวน ป.ป.ช. อีก 2 คดี

1.คดีกล่าวหาว่า นายทักษิณ ถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.ศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยถูกร้องเรียนกล่าวหาพร้อมกับพวก กรณีลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบการทำเหมือแร่ดีบุก จ.พังงา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ยังไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

2.คดีกล่าวหาว่า นายทักษิณ กับพวก อนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) เมื่อครั้งกลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 51% เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และมีการแก้ไขข้อบังคับหลายกรณี ซึ่งในบอร์ด ทอท.ขณะนั้นมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นบอร์ดรวมอยู่ด้วย ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้แล้ว อยู่ระหว่างสรุปข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

  • ตีตกข้อกล่าวหา 2 คดี

คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น โดยปรากฏชื่อของนายทักษิณ อดีตนายกฯ นายสุริยะ อดีต รมว.คมนาคม และนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม 3 นักการเมืองชื่อดังเป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 

ล่าสุด เมื่อ 26 ก.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล 

ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดี และมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ยกเว้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา

ส่วนคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตสอง จำนวน 8 สัญญา โดยก่อนหน้านี้นายทักษิณ ปรากฏชื่อเป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดีสุดท้ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ตีตกข้อกล่าวหาแก่นายทักษิณในคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มี “เทปลับ” ที่อ้างถึงการสั่งการของนายทักษิณ ให้ดำเนินโครงการระบายข้าวจีทูจีจริง