‘โผทหาร’ อำนาจแดนสนธยา ‘เก้าอี้ ผบ.ตร.’ ไม่มั่นคง
หาก "เพื่อไทย" จะเปิดศึกหลายด้าน ก็ไม่ส่งผลดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับกองทัพ บทเรียนในอดีตมีให้เห็น ซึ่งในที่สุดแล้ว "เก้าอี้ ผบ.ตร." อาจเป็นตำแหน่งเดียวที่คอนโทรลได้ ส่วน "เก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพ" คงต้องปล่อยไปตามทิศทางลม
ยังการันตีไม่ได้ว่า การโหวตนายกฯ วันที่ 22 ส.ค. ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย จะฝ่าด่าน สส.-สว. ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30 หลังเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกฯก้าวไกล
เศรษฐา กำลังถูกตรวจสอบพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี และทำนิติกรรมอำพรางซื้อขายที่ดิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการ-กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI
จึงวิเคราะห์กันว่า กว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศน่าจะปลายเดือน ก.ย. เพราะไม่เพียงแต่ขั้นตอนโหวตนายกฯ เท่านั้น ยังมีกระบวนการอื่นๆ เช่น การฟอร์มทีมรัฐบาล นำชื่อนายกฯ และ ครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ รอโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ และแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา
ส่งผลให้อำนาจการปรับย้ายทหาร-ตำรวจ รอบนี้จึงตกเป็นของรัฐบาลรักษาการพล.อ.ประยุทธ์ ไปโดยปริยาย เพราะหากรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ ตามข้อเรียกร้องของ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย" จะมีปัญหาอีรุงตุงนังไม่ใช่น้อย
ด้วยเหตุมี 4 เก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพ ที่นั่งเป็นคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกลาโหม หรือ บอร์ด 7 เสือกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม จะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ แม้จะมีผู้ทำหน้าที่รักษาการแทน แต่มีส่วนได้เสียในการปรับย้าย จะเกิดปัญหาตามมา ไม่ต่างกับเก้าอี้ ผบ.ตร
ส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากจะรอแก้มือในปีหน้า ก็คงไม่ง่ายนักที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนกองทัพ ทลายขุมกำลังของคนในเครือข่ายเดิม เหตุมี บอร์ด 7 เสือกลาโหม ที่เปรียบเสมือนยันต์กันฝ่ายการเมืองล้วงลูกที่ได้ผลชะงัดมากว่า 10 ปี
อีกทั้งในช่วง 5 ปีให้หลัง กองทัพเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภายหลังการกำเนิดใหม่กลุ่มทหารคอแดง ซึ่งจากเดิมมีเพียง วงศ์เทวัญ ทหารเสือราชินี บูรพาพยัคฆ์ รบพิเศษ ที่คุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญ ทำให้กลไกการปรับย้ายซับซ้อนยิ่งขึ้น
แม้แต่ 2 ลุง ผู้มากบารมีในกองทัพ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็หาใช่ผู้มีอำนาจเต็มมือในฐานะ "นายกฯ" กับ "รองนายกฯ"ก็ต่อรองอะไรได้ไม่มากนัก ในการกำหนดตัวบุคคลในตำแหน่ง เช่น เก้าอี้ ผบ.ทบ. เก้าอี้ ผบ.ทสส. รวมถึง แม่ทัพ นายกอง ที่กุมกำลังสำคัญอย่าง เก้าอี้ มทภ.1
หรือแม้แต่ตัว พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ก็ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จัดวางคนได้อิสระ เพราะต้องฟังสัญญาณจากรอบทิศ ในการพิจารณาตัวบุคคลให้สอดคล้องกับภารกิจหลักกองทัพ รัฐบาล และงานของหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) ในฐานะผบ.ฉก.ทม.รอ.904
เช่นเดียวกับ เก้าอี้ ผบ.ทสส. คนใหม่ ก็ถูกวางตัวไว้เป็นแรมปี ส่วน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส.คนปัจจุบัน ก็แค่เสนอไปตามน้ำ หาใช่คนชี้ขาด จึงเกิดสนิมกัดกร่อนในกองทัพไทยเพราะคนในไม่ได้โต
ส่วน เก้าอี้ ผบ.ตร. ในอดีตอ่อนไหวอย่างไร เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น แม้จะมี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 บังคับใช้ โดยเคลมว่าถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกการปรับย้ายตำรวจ และแก้ไขปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง
ตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะเดิมที พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อดีตรอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานกรรมาธิการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ได้กำหนดให้ ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็น ผบ.ตร. ไม่ใช่ นายกฯ ดังนั้นอำนาจการเสนอหรือเลือกบุคคลมานั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.คนต่อไปจึงเป็นของ ผบ.ตร.
ในขณะที่ นายกฯ จะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ดูแลงานด้านยุทธศาสตร์ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการบริหารตัวบุคคล ดังนั้น นายกฯ จะทำหน้าที่วางโครงสร้าง ส่งเป็นนโยบายมาให้ ก.ตร.ส่งต่อให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำไปปฏิบัติ
หากเป็นตามนี้ จะทำให้การจัดทำโผตำรวจ การเลือกบุคคลนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.หรือตำแหน่งสำคัญอื่นไร้การเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่ปรากฎว่า เมื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติแล้วเสร็จ ส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปลี่ยนใจ ให้กลับมาแก้ไข ผ่านคำพูดที่ว่า
" ขอนายกฯมานั่งจิบกาแฟที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดือนละครั้ง จะไม่ได้เชียวเหรอ"
จึงส่งผลให้การปรับย้ายตำรวจกลับมาอยู่ในจุดเดิม ให้นายกฯ เป็น ประธาน ก.ตร. เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกได้เหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กับ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะของ กองทัพ มีความเป็นเอกภาพมากกว่า การเมืองแทรกแซงไม่ได้ 100% หากถึงขั้นโหวต ฝ่ายการเมืองซึ่งมีเสียงเดียว คือเก้าอี้ รมว.กลาโหม ก็แพ้ฝ่ายทหาร
ขณะที่ฝั่งตำรวจ หากจะโหวตก็ชนะการเมืองได้ เพราะฝ่ายการเมืองมีเสียงเดียวเช่นกัน คือนายกฯ แต่ด้วยบริบทเมืองไทย เรื่องความเกรงใจ ผู้ใหญ่พูดอย่างไร ก็ยึดตามนั้น เช่นเดียวกับการประชุม ครม. นายกฯ ว่าอย่างไรก็เดินตามนั้นเช่นกัน ไม่เคยมีการโหวตแม้แต่ครั้งเดียว
การปรับย้ายทหาร-ตำรวจ ในรอบหน้านี้จะอยู่ในอำนาจรัฐบาลเพื่อไทย คงต้องรอดูว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขอะไรได้หรือไม่ เพราะ "ภูมิธรรม" ก็ยอมรับว่า การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วส่งผลให้พรรคเพื่อไทยเสียต้นทุนทางการเมืองไปไม่น้อย
ฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยจะเปิดศึกหลายด้านก็ไม่ส่งผลดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับกองทัพ บทเรียนในอดีตมีให้เห็น ซึ่งในที่สุดแล้ว เก้าอี้ ผบ.ตร. อาจเป็นตำแหน่งเดียวที่คอนโทรลได้ ส่วนเก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพ คงต้องปล่อยไปตามทิศทางลม