ปิดฉากทางตันเลือกตั้ง เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ผ่านมาประมาณ 3 เดือน ในที่สุดประเทศไทยก็มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่เพิ่งผ่านช่วงการเลือกตั้งมา กัมพูชา และ สเปนเองก็อยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งน่าจับตาว่า ครม. ของทั้ง 3 ประเทศนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองออกมาดีที่สุดตามที่ประชาชนคาดหวัง
รอมาสามเดือนในที่สุดไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “เศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ คนที่ 30 ที่จะนำพารัฐนาวาฝ่ากระแสเศรษฐกิจโลกขาลง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบแต่นี่คือผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.มีพรรคการเมืองลงแข่งขัน 67 พรรค เท่ากับว่าทุกพรรคร่วมลงเล่นในกติกาเดียวกัน แม้เป็นกติกาที่ถูกเขียนขึ้นหลังการรัฐประหาร ทุกพรรครู้ดีว่ามีเงื่อนกลซ่อนอยู่ แต่เมื่อตัดสินใจลงเล่นถือว่ายอมรับ การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ใครเป็นรัฐบาลใครเป็นฝ่ายค้านชัดเจนกันแล้ว นับจากนี้ทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
จะว่าไปช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภามีการเลือกตั้งกันหลายประเทศ นอกจากไทยแล้วกัมพูชาและสเปนก็เลือกตั้งในวันเดียวกันคือวันที่ 23 ก.ค. แต่กัมพูชานั้นง่ายตรงที่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของ (อดีต) นายกรัฐมนตรีฮุนเซนคว้าชัยชนะแบบยิ่งกว่าแลนด์สไลด์ สภา 125 ที่นั่ง พรรคฮุนเซนคว้าไป 120 ที่นั่ง ส่งมอบตำแหน่งนายกฯ ให้ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตฉลุยแบบ “พ่อให้มา” หนึ่งเดือนผ่านไปพอดิบพอดี วันที่ 22 ส.ค.สภากัมพูชามีมติรับรองฮุน มาเนต เป็นนายกฯ คนใหม่ วันเดียวกับที่สภาไทยโหวตเศรษฐาเป็นนายกฯ
เรื่องการเมืองกัมพูชานับว่ามีบทเรียนสอนใจ การเลือกตั้งปี 1993 ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติพรรคซีพีพีของฮุนเซนได้คะแนนเป็นอันดับสอง พ่ายให้กับพรรคฟุนซินเป็กของเจ้ารณฤทธิ์ แต่ทั้งสองพรรคไม่มีใครได้เสียงข้างมาก กัมพูชาแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมทางการเมือง เป็นนายกฯ คู่กันไปเลยสองคน ก็นับว่าเข้าท่าถ้าสุดท้ายนายกฯ คนที่ 2 ไม่รัฐประหารโค่นนายกฯ คนที่ 1 ไปเสียก่อนก็นับว่าเป็นตัวแบบที่น่าศึกษา ส่วนที่ยังไม่จบคือการเมืองสเปน พรรคประชาชน (Popular Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง พรรคสังคมนิยมของนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ได้อันดับสอง
เดิมทีประเมินกันว่าพรรคฝ่ายขวาต้องชนะถล่มทลายตามกระแสเลี้ยวขวาของยุโรป นายกฯ ซานเชสต้องหลุดจากตำแหน่งแน่ๆ แต่กลายเป็นว่าทั้งสองพรรคกลับไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ต้องไปหาแนวร่วมมาจัดตั้งรัฐบาลผสม ดูแววแล้วพรรคอันดับหนึ่งไม่น่าจะรวมได้ โอกาสที่พรรคอันดับสองของอดีตนายกฯ จะได้เป็นแกนนำรัฐบาลจึงมีสูงมาก นี่คือระบบรัฐสภาใครรวมเสียงข้างมากได้ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล สเปนยังไม่จบแต่ไทยจบแล้วในเกมเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้อาจไม่ถูกใจคนทั้งหมดแต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้วถูกต้องตามกติกาทุกประการ นับจากนี้เริ่มนับหนึ่งในฐานะรัฐบาลที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชน ใครไม่ถูกใจอย่าหงุดหงิดนานขอให้เปลี่ยนความโกรธเป็นพลังช่วยกันตรวจสอบเพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับทุกคน อย่างนี้น่าจะเป็นความโกรธอย่างสร้างสรรค์