'สมชาย' ชี้ปม 'ทักษิณ' สะท้อนชัดเลือกปฏิบัติ ส่วนผู้ต้องขังจนป่วย-ตายคาคุก
'สมชาย หอมลออ' นักสิทธิมนุษยชน ออกโรงชี้ปม 'ทักษิณ' สะท้อนชัด สังคมเลือกปฏิบัติ ลุกลามถึงผู้ต้องขังตามคำพิพากษาเดียวกัน คนจนติดคุกป่วย เข้าไม่ถึงการรักษา ตายคาคุก จี้รัฐบาลใหม่ต้องทำให้เท่าเทียมทั้งหมด ด้าน กสม.เผยยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียน
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ ในงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้จะครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิก ซึ่งต้องนำหลักการ ของปฏิญญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อิสรภาพเสรีภาพความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน แต่ค่อนทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่ได้นำหลักการเหล่านี้ มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ยังมีความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ในทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนชายขอบ คนยากจนเกษตรกร กรรมกรชาวไร่ชาวนา แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้ยา และอื่นๆ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบ การทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นจะต้องมาทบทวนว่า 75 ปี เราได้ทำอะไรไป แล้วทำไมจึงยังไม่ประสบความสำเร็จ
นายสมชาย กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะข่าวตอนนี้ ตนคิดว่า เป็นข่าวที่กระทบกระเทือนความรู้สึก ของประชาชนที่รักความเป็นธรรม รักความยุติธรรม เนื่องจากความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมนั้นได้ลุกลามไปถึงกรณีที่อยู่ภายใต้คำพิพากษาของศาลยุติธรรม เช่น กรณีของผู้ต้องขังตามคำพิพากษาได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันมาก คนยากจน คนสูงอายุที่เจ็บป่วย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในสถานที่เดียวกัน อยู่ภายใต้คำพิพากษาของศาลยุติธรรมเดียวกัน กลับมีสถานะที่แตกต่างกันมากทั้งเรื่องของการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทั้งสภาพชีวิตความเป็นอยู่ แน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มั่งมีและมากบารมี และเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่กุมอำนาจในโครงสร้าง ทางการเมืองและทางสังคมอยู่ดังนั้นนี่คือคำถาม โตๆที่สังคมไทยและเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคน ต้องตอบว่า 75 ปีนั้นเราได้ทำอะไรไป เพื่อให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและความยุติธรรมนั้น เกิดขึ้นกับคนทุกคน บนผืนแผ่นดินนี้
“กรณีของนายทักษิณ นั้น ส่วนตัว มองว่า เป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็น ถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้ ซึ่งมันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในระบบ ระบอบที่ไม่เป็นไปตามหลักการของความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของปฏิญญา” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า มีผู้ต้องหาจำนวนมากในที่คุมขังที่มีโรครุมเร้าเหมือนกัน ก็ควรมีโอกาสได้มีสถานะเช่นเดียวกัน ถ้ารัฐบาลใหม่ชุดนี้ ตระหนักถึงเรื่องนี้ก็ควรจะต้องทำ ไม่ใช่เลือกที่จะทำกับคนบางคน หรือคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะเท่าที่ทราบมีหลายคนที่เสียชีวิตไป อย่างเช่นอากง ซึ่งโดนคดี 112 ที่เสียชีวิตไปโดยไม่มีโอกาสเท่าเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขและก็มีอีกมากมายที่มีชะตากรรมแบบเดียวกัน
ขณะที่ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวว่า หากมีเรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่กสม.ทำมี 2-3 อย่าง คือ 1.การออกแถลงการณ์ แต่ก็ต้องมีการหารือ มีข้อมูลหลักฐานอย่างครบถ้วนรอบด้าน จะทำออกไปโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียวไม่ได้ 2. หากมีการร้องเรียนเข้ามา ก็จะมีการตรวจสอบจนมีข้อสรุปและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข แต่เบื้องต้นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะต้องชี้ให้ได้ว่าใครทำไม่ถูกต้องอย่างไร
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับนายทักษิณ ประเด็นการละเมิดสิทธิ เลือกปฏิบัติ เข้ามาหรือไม่ น.ส.พรประไพ กล่าวว่า ยังไม่มี เราก็ฟังจากข่าว ทั้งนี้ ถ้ามีใครมาร้องเรียนก็จะดูก่อนว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิหรือไม่ หรือมีความชัดเจนว่ามีการกระทำใดๆ ของหน่วยงานใดที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทางกสม.ก็จะ ดำเนินการตามอำนาจที่มี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการร้องเรียนอะไรเข้ามา ส่วนประเด็นที่เป็นที่ปรากฏนั้นก็ไม่มีอะไรที่ชัดเจนพอที่จะนำมาประกอบการพิจารณาว่ามีการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ เพียงแต่มีข้อสังเกตเหมือนที่หลายคนพูด
"สิ่งที่จะต้องมีการพูดกันต่อคือการได้รับสิทธิในการได้รับการดูแลรักษาพยาบาล นั้นต้องทำให้ทั่วถึง เพราะเท่าที่ทราบมามีหลายคนที่ป่วยรุนแรงในเรือนจำที่อาจจะได้รับการดูแลที่ยังไม่ครอบคลุม ถ้วนหน้าอย่างที่ทุกคนควรจะได้รับ ตามหลักการพื้นฐาน อันนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป" น.ส.พรประไพ กล่าว