สยบข่าวเลือกปฏิบัติย้าย "ทักษิณ" ไป รพ.เอกชน
'รองปลัดกระทรวงยุติธรรม' ยัน รพ.ตำรวจมีศักยภาพด้านการรักษา ปัดย้าย "ทักษิณ ชินวัตร" ไปรพ.เอกชน ลั่นไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ความคืบหน้า "ทักษิณกลับไทย" ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากเดินทางกลับเข้าประเทศไทย เพื่อรับโทษคดีต่างๆเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66
และมีการส่งตัวเข้าฟังคำสั่งศาลฎีกาฯ ต่อด้วยการส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่ปรากฏว่าต้องย้ายตัวกลางดึกออกมาจากเรือนจำ มารักษาตัวที่รพ.ตำรวจ
แต่ปรากฏว่าห้องพักที่รพ.ตำรวจแอร์เสีย จึงอาจจะต้องย้ายนายทักษิณ ไปรักษาตัวที่รพ.เอกชน หรือไม่นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) มีการประชุมพิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ลงมาถึงผู้บังคับการ(ผบก.)วาระประจำปี 2566 โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เป็นประธาน
หลังการประชุม พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปฎิเสธตอบคำถามสื่อมวลชน ประเด็นการรักษาตัว รวมถึงการเคลื่อนย้ายอดีตนายกฯทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนตามที่มีกระแสข่าว
โดยระบุเพียงว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากทีมแพทย์(ผู้รักษา)ของ รพ.ตำรวจ ซึ่งหลังจากนี้จะไปประชุมร่วมกับคณะแพทย์ชุดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอดีตนายกฯทักษิณว่า อาการตั้งแต่เมื่อวานนี้(23 สิงหาคม)จนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร หลังถูกย้ายตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มาเข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจเมื่อช่วงกลางดึก วานนี้( 23 สิงหาคม)
ล่าสุด วันที่ 24 ส.ค. 66 นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ ยืนยันล่าสุดว่าตอนนี้นาย ทักษิณ ยังรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนอาการนั้น ทางเรือนจำจะได้รับรายงานเป็นระยะ
ส่วนการเข้าเยี่ยมนั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถ เนื่องจากอยู่ในช่วงการกักโรค 5 วัน นับตั้งแต่วันรับตัวเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ (23-27 สิงหาคม) ซึ่งหลังจากนั้นจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ ตามเวลาการให้เยี่ยมของโรงพยาบาลตำรวจ
"ซึ่งการอนุญาตบุคคลใดให้เข้าเยี่ยมอดีตนายกฯทักษิณ เป็นหน้าที่ของฝ่ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งตามระเบียบจะมีการแจ้ง 10 รายชื่อเท่านั้นตอนนี้แจ้งเข้ามาครบแล้ว 10 รายชื่อ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง ซึ่งทั้งหมดจะสามารถเข้าเยี่ยมอดีตนายกฯทักษิณ ได้ในวันที่ 28 สิงหาคม นี้”
ด้าน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ นายทักษิณ ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ย้ายไป โรงพยาบาลเอกชนตามที่เป็นกระแสข่าว และยังอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจริงๆแน่นอน แต่ไม่สามารถภาพมาเผยแพร่ได้ เพราะภาพของนักโทษไม่สามารถเผยแพร่ได้เหมือนกับที่อยู่ในเรือนจำเพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ และเป็นสิทธิของนักโทษ รวมถึงสิทธิของผู้ป่วย และขณะนี้ก็ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเรือนจำแม้จะอยู่โรงพยาบาลตำรวจ
โดยมั่นใจว่า โรงพยาบาลตำรวจจะสามารถดูแลได้ ซึ่งตามขั้นตอน กรมราชทัณฑ์ มี MOU กับโรงพยาบาลตำรวจ กรณีที่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถดูแลได้ เพราะด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องมือที่ใช้ และ ณ เวลานี้กระทรวงฯยังยืนยันว่า จะไม่มีการย้ายไปโรงพยาบาลอื่น
ส่วนการดูแลที่โรงพยาบาลตำรวจ กรมราชทัณฑ์ ดูแลอย่างไรบ้างนั้น รองปลัดกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ส่วนของการรักษาเป็นหน้าที่ของแพทย์ ส่วนการดูแลความปลอดภัย จะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำ ไปอยู่ประจำ ทั้งหมด 4คน และอยู่บริเวณนอกห้องตามหลักเกณฑ์ เพราะยังไงก็ยังอยู่ในการดูแลของเรือนจำ หากมาอยู่ด้านนอกต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติ
ส่วนตำรวจ ก็จะมีการรักษาความปลอดภัยในลักษณะช่วยอีกแรงหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุยังไว เพราะมีทั้งคนที่มีหลายความรู้สึก ก็ต้องดูแลไม่ให่เกิดปัญหา เพราะถ้าเกิดปัญหา ก็ถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะราชทัณฑ์ หรือตำรวจเอง ในระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
พร้อมย้ำถึงเหตุผลที่ต้องส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลตำรวจว่า นายทักษิณ มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคพังผืดที่ปอด โรคความดัน และโรคกระดูสันหลังเสื่อม เมื่อเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องจำกัดสิทธิไม่ได้พบผู้คน จากชีวิตปกติเคยอยู่ในสภาวะที่กินอยู่สุขสบาย ก็จะทำให้เกิดความเครียด เมื่อเกิดความเครียดก็จะทำให้ส่งผลต่อร่างกายที่มีปัญหาอยู่แล้ว
ส่วนขั้นตอนการเยี่ยมที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมราชทัณฑ์กำหนด หากเป็นญาติและครอบครัวต้องไม่เกิน 10 คน และใน 5 วันแรกจะไม่ให้เยี่ยม เพราะเป็นช่วงของการดูแลรักษาและเป็นไปตามกฎของราชทัณฑ์
และหลังจากนั้นหากจะเยี่ยมก็จะต้องแจ้งความจำนงค์ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครถึงจะเข้าเยี่ยมได้ และเมื่อเข้าเยี่ยมจะต้องเคารพกติกาของโรงพยาบาลคือ ประมาณ 11.00-13.00น.และ 17.00-19.00น.ในวันปกติ และแม้จะอยู่ในโรงพยาบาล ที่มีโทรศัพท์ หากจะติดต่อสื่อสารก็จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่
ส่วนคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติจะเยี่ยมได้หรือไม่นั้น ก็จะต้องเป็นบุคคลสำคัญ เช่นนักการทูต องค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็จะต้องสอบถามเจ้าตัวด้วยว่าประสงค์ที่จะให้พบหรือไม่
ทั้งนี้หากจะกลับเข้าไปยังเรือนจำ จะต้องประเมินอาการให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย และหากจะกลับเข้ามายังเรือนจำก็จะเป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
"ขณะนี้ นายทักษิณไม่ได้ร้องขออะไรเป็นเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องแอร์เสีย ผมเองได้ยินพร้อมกับสื่อมวลชน ส่วนอาหารการกินก็อยู่ในอำนาจของโรงพยาบาล พร้อมย้ำ ผมเองได้เจอวันรับตัวเข้าเรือนจำ ซึ่งนายทักษิณ ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสแลคสีกรมท่า และใน 10 วันแรกกักโรค ยังไม่ได้ทำอะไร ยังไม่ได้ตัดผม และยังไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้า แต่จะเปลี่ยนเป็นชุดอะไรเรือนจำก็จะต้องไปดู จนกว่าจะพ้นกักโรค 10วัน"
รองปลัด กล่าวอีกว่า เรื่องของการดูแลชีวิตผู้ต้องขัง หรือนักโทษ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะฉะนั้นคิดว่า ถ้าหน่วยที่ดูแลไม่สามารถดูแลได้ เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้ว และถ้าไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ก็ต้องส่งไปโรงพยาบาลอื่นเป็นเรื่องปกติ เพื่อหาทางยื้อชีวิตไว้ให้ได้ แต่ ณ เวลานี้ กระทรวง ยังยืนยันว่า จะไม่มีการย้ายไปไหน และหากจะย้ายโรงพยาบาล ต้องมีข้อมูลทางการแพทย์ มายืนยันอย่างชัดเจนว่าแพทย์ไม่สามารถดูแลได้ จะใช้ความรู้สึกไม่ได้
และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยัง ยืนยันว่า ที่ผ่านมาหากมีผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยขั้นวิกฤต จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือโรงพยาบาลตำรวจ และกรมราชทัณฑ์ทำมาตลอดแต่อาจจะไม่ได้เป็นข่าวเพราะไม่ใช่บิ๊กเนม หรือบุคคลสำคัญ
เมื่อถามว่า 4 โรคของอดีตนายกทักษิณ ศักยภาพของโรงพยาบาลตำรวจ จะสามารถดูแลได้หรือไม่ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ตอบว่า ก็เชื่ออย่างนั้นเพราะในเบื้องต้นจากการประเมินแล้วโรงพยาบาลตำรวจยังรับมือไหว และย้ำว่า ยังไม่มีการส่งไปไหนยังรักษาอยู่โรงพยาบาลตำรวจ
"สิ่งสำคัญ กรมราชทัณฑ์ ก็จะพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ได้ทำไปตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ สังคมน่าจะรับได้ แม้จะยังมีคำถามมากมายตอนนี้ก็ตาม"