"เพื่อไทย" ดึงเกมรื้อ “รธน.60” กลเกมลากยาวครบเทอม
ก้าวไกล-ภาคประชาชน เปิดเกมเร่งให้ "เพื่อไทย" แก้รธน.60 โดยเร็ว ผ่านมติ ครม.นัดแรก เปิดทางทำประชามติ แต่ดูท่าแล้ว ส่อถูกยื้อ เพราะต้องแก้ กม.ประชามติ ปลดล็อกเงื่อนไข "เกณฑ์ผ่านประชามติ" เสียก่อน
พรรคก้าวไกล จับมือกับแนวร่วม “ไอลอว์” และ “สภาประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ เดินคู่ขนาน เพื่อกดดันให้ “รัฐบาลเศรษฐา” ทำตามสัญญาที่รับปาก
คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ พร้อมเพิ่มเติมหลักประกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากฉันทามติของประชาชน ผ่านกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมคือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
ขณะนี้สภาประชาชนฯ เปิดเกมรุก ผ่านการยื่นคำถามประชามติ พร้อมรายชื่อประชาชน 2 แสน ให้ "พรรคเพื่อไทย” ฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หวังกดดันให้ “ครม.เศรษฐา” รับไปพิจารณาตามกระบวนการโดยเร็ว
เช่นเดียวกันกับ “ก้าวไกล” ที่ใช้เวทีของสภาฯ ขยี้ปมแก้รัฐธรรมนูญ และชงคำถามประชามติที่ตอบโจทย์
ทว่า แนวรบของก้าวไกลดันญัตติให้สภาฯ พิจารณาคำถามประชามติเมื่อ 30 ส.ค.กลับต้องเผชิญความพ่ายแพ้ต่อเสียงข้างมาก โดยมี สส.ข้างมากที่เป็นพวกกับ "เพื่อไทย” ปิดประตูใส่หน้า แต่พวกเขายังมีลุ้นในแนวรบของภาคประชาชน 2 แสนรายชื่อที่ใช้สิทธิตามกฎหมายประชามติ ว่าการประชุม ครม.นัดแรก รัฐบาลจะทำตามสัญญา และรับ “คำถามประชามติ” ที่ประชาชน ชงให้หรือไม่
ปรากฏการณ์เสียงข้างมากของสภาฯ 262 เสียง ที่ค้านการเลื่อนญัตติถกคำถามประชามติของก้าวไกลมาพิจารณาเร่งด่วน เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณไม่สู้ดี แม้ก่อนหน้านี้ จุดยืนเพื่อไทยในการริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” แถลงไว้ เมื่อ 2 ส.ค.ที่ว่า
“จะกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นต้นเหตุในการตั้งรัฐบาล และเกิดในวิกฤติบ้านเมืองให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยในการประชุม ครม.นัดแรก จะให้มีการทำประชามติ และตั้ง ส.ส.ร.ให้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ จากนั้นจะคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ภายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
เนื่องจากขณะนี้ ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยติดใจเนื้อหาของ “กฎหมายประชามติ พ.ศ.2564” และกังวลว่า จะเป็นอุปสรรค และเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสียของ และไม่ผ่านตั้งแต่ยกแรก
นั่นคือ ความสำคัญของ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขที่จะผ่านประชามติด้วย 2 เกณฑ์ คือ 1.จำนวนมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” ของจำนวนผู้มีสิทธิ และ 2.จำนวนเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของ “ผู้มาใช้สิทธิออกเสียง”
สิ่งที่แกนนำพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์และเห็นตรงกันคือ ความยากที่จะรณรงค์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมยกตัวอย่างการทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อ 7 ส.ค.2559 พบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 29 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 50 ล้านคน คิดเป็น 59% และผลการออกเสียงเห็นชอบมีเพียง 16 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 61% เท่านั้น
ทั้งนี้การรณรงค์ออกเสียงประชามติ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ครั้งนั้น อยู่ภายใต้การกำกับของ “คณะรัฐประหาร” และมีกลไกของราชการช่วยเหลือ รวมถึงปิดกั้นกลุ่มผู้เห็นต่างยังผ่านเกณฑ์ไปเพียงเล็กน้อย
ฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกเลิกฉบับเก่า ยกร่างใหม่ทั้งฉบับด้วยกระบวนการของ ส.ส.ร.ที่มีประเด็นอ่อนไหว และถูกจุดพลุให้สังคมขบคิด คือแก้ไขทั้งฉบับ รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 มาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบัน รวมถึงให้ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เป็นรูปแบบสภาเดียว ไม่มี “วุฒิสภา” ทำให้กลายเป็นประเด็นที่เสี่ยงจะ “เผา” งบประมาณที่นำไปทำประชามติ โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
ดังนั้น ในการประชุม “ครม.เศรษฐา” นัดแรก สิ่งที่ “เพื่อไทย” จะตอบสนองต่อเรื่องประชามติแก้รัฐธรรมนูญฉบับ คือยกเนื้อหา พ.ร.บ.ประชามติ ปี 64 มาตรา 13 มาถกเถียงกัน เพื่อหาทางปลดล็อก
โดยแนวโน้มคือ “ขอแก้ไขเนื้อหา” ผ่านสภาฯ โดยปรับเกณฑ์ใช้เพียง “เสียงข้างมาก” ทั้งจากฝั่งผู้มีสิทธิและผู้ออกมาใช้สิทธิ เป็น “เกณฑ์ผ่านประชามติ”
โดยอ้างอิงเนื้อหาร่างกฎหมายประชามติฉบับที่ ครม.ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เสนอให้รัฐสภาพิจารณา แทนการเคาะเรื่องชง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายประชามติ
ประเด็นดังกล่าวจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นกระบวนการยื้อ “รื้อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” เพื่อยืดอายุรัฐบาลเพื่อไทยให้อยู่ยาว กระทั่งครบเทอม
อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้ไขเนื้อหามาตราดังกล่าวคงไม่สามารถผ่านได้โดยง่าย แม้พรรคเพื่อไทยจะมี สส.เสียงข้างมาก ขอใช้กระบวนการพิจารณา 3 วาระรวดได้
เนื่องจากประเด็นหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขผ่านประชามติมาตรา 13 เคยถกเถียงกันอย่างหนัก ถึงเกณฑ์ที่จะเป็นการสร้างความชอบธรรมสูงสุด เพื่อให้เรื่องที่ทำประชามติได้รับการยอมรับ ก่อนจะคลอดเป็น 2 เงื่อนไขข้างต้น และเมื่อผ่านสภาฯ แล้วจำเป็นต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบอีก
โดยรวมแล้วกระบวนการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขดังกล่าว อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน หากผ่านต้องเข้ากระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ถึงจะเดินเครื่องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้
ดังนั้นแม้ “ก้าวไกล-ภาคประชาชน” จะเปิดแนวรบสร้างเกมเร็ว เพื่อหวังรื้อรัฐธรรมนูญเก่า สถาปนารัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน
แต่ตามกระบวนการยังมีช่องทางยื้อเวลา โดยเฉพาะกรณีที่ “พรรคเพื่อไทย” อยากอยู่ยาวครบเทอม ยังมีหลายด่านที่จะช่วยให้ความต้องการเป็นจริงได้.