‘บ้านอัมพวัน’ที่มั่นสุดท้าย ‘บิ๊กป้อม’ ย้อนประวัติสุดขลัง ขนลุกซู่
ที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิค ที่มี 'บิ๊กป้อม'เป็นประธาน คือสถานที่ทรงคุณค่า มีอายุกว่า 100 ปี ในอดีตคือตำหนักพระสนมของรัชกาลที่ 5 และที่ตั้งพรรคสหประชาไทย ของ 'จอมพลถนอม' ส่วน พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 2 ก็เคยมาอยู่ที่นี่
นับจากนี้ คงต้องจับตาเส้นทางการเมือง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ค่อยๆ ลดบทบาทการเมือง โดยทิ้งเก้าอี้ สส. ขอทำหน้าที่หัวหน้าพรรคเท่านั้น
ภายหลังน้องรักหลายคน ทยอยวางมือทางการเมือง ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล่าสุด “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่เพิ่งลาออกจากประธานยุทธศาสตร์ และสมาชิกพรรค พปชร.ไปก่อนหน้านี้
ขณะที่การร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ พปชร.ได้โควตา 4 เก้าอี้รัฐมนตรีของ แต่ไม่มี “บิ๊กป้อม” กลับปรากฎชื่อน้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค เป็นแคนดิเดตรองนายกฯ ควบรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เป็นแคนดิเดต รมว.เกษตรและสหกรณ์
ส่วนเก้าอี้ รมช. 2 ตำแหน่ง สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ติดโผ รมช.สาธารณสุข และ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ลุ้นเก้าอี้ รมช.คลัง
โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ส.ค. “บิ๊กป้อม” เดินทางมาเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย พร้อมกับ พล.อ.วิชญ์ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา อดีตรอง ผบ.ทบ.
ก่อนเข้าประชุม บิ๊กป้อม ระบุว่า "จะหันมาทุ่มเท งานด้านกีฬา" หลังสั่งปัดฝุ่นฐานที่มั่น บ้านใหม่แห่งนี้
พล.อ.ณัฐ เล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่ตั้ง สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิค แห่งประเทศไทยว่า เมื่อก่อนเป็นบ้านทรุดโทรม ใช้เก็บของ หลังจาก พล.อ.ประวิตร ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิค แห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้ตนรีโนเวทสถานที่แห่งนี้ใหม่
“เพราะเป็นสถานที่ทรงคุณค่า มีอายุกว่า 100 ปี ในอดีตเป็นตำหนักพระสนมของรัชกาลที่ 5 ชื่อว่าตำหนักอัมพวัน ตำหนักจันทนีย์”
“เคยเป็นที่ตั้งพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีกลาโหม โดยมี พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก เป็น รมว.มหาดไทย ร่วมก่อตั้ง 24 ต.ค.2511 อีกทั้ง จอมพลถนอมยังใช้เป็นวอร์รูม นัด ส.ส.พรรค มาหารือก่อนประชุมรัฐสภา เปรียบเหมือนสถานที่ประชุมวิป เพราะสมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์ การติดต่อสื่อสารค่อนข้างลำบาก ต้องมาพักอาศัยค้างคืนกันที่นี่”
จากนั้นปี 2528 พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ นายกสมาคมตะกร้อ แห่งประเทศไทย และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ได้เช่าพื้นที่ต่อจากจอมพลถนอม ก่อตั้งโอลิมปิคแห่งประเทศไทย
พล.อ.ณัฐ เล่าต่อว่า "เมื่อพล.อ.ประวิตร มารับช่วงต่อ ผมเข้ามารีโนเวทใหม่ทั้งหมด ยอมรับว่าเข้ามาครั้งแรก ดูพื้นที่รู้สึกขนลุก เพราะเป็นสถานที่เก่า มีบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อาศัยมาก่อน จึงมีการทำพิธีทางศาสนา บอกเจ้าที่เจ้าทาง รวมถึงเจ้าของเดิม เพื่อขอใช้สถานที่"
“หม้อแปลงเดิม ยังเป็นชื่อของจอมพลถนอมอยู่เลย ผมเพิ่งไปเปลี่ยนชื่อใหม่ ปรับเป็นสถานที่ประชุม ไว้ทำงาน ยึดรูปแบบเดียวกับกระทรวงกลาโหม เคยมีคนเล่าว่า พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 2 เคยมาอยู่ที่นี่” พล.อ.ณัฐเล่า
การใช้งาน "บ้านอัมพวัน" ชั้นล่างจะใช้เป็นสถานที่ประชุม และต้อนรับแขก เช่น รองประธานโอลิมปิค สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน หารือ พล.อ.ประวิตร กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศจีนในเร็วๆ นี้ ส่วนชั้นสองยังปิดไว้ แต่อนาคตจะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์กีฬาโอลิมปิค
พล.อ.ณัฐ ย้ำว่า แม้การเมืองจะเปลี่ยนขั้ว แต่ไม่ส่งผลต่อเก้าอี้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิค แห่งประเทศไทย ของ พล.อ.ประวิตร เพราะเป็นตำแหน่งที่คัดเลือก ไม่เกี่ยวการเมือง เป็นเรื่องการกีฬาล้วนๆ คนเป็นประธานโอลิมปิคฯ ต้องเป็นนายกสมาคมกีฬา
“พล.อ.ประวิตร เป็นนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำ และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิค แห่งประเทศไทย ให้นั่งเก้าอี้นี้ มีวาระ 4 ปี ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เป็นมา 2 สมัยแล้ว”
"ส่วนที่ท่านบอกว่าจากนี้ไปจะทุ่มเทงานด้านกีฬา เพราะว่าท่านชอบกีฬา และเป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็กๆ เป็นนักวิ่งระยะสั้น วิ่งเร็ว 100-200 เมตร เป็นนักฟุตบอล และว่ายน้ำด้วย" พล.อ.ณัฐ เล่าประวัติ พล.อ.ประวิตร ที่น้อยคนจะรู้
จึงคาดกันว่าในอนาคต หาก “บิ๊กป้อม” วางมือทางการเมือง ลาออกหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะใช้ “บ้านอัมพวัน” ฐานที่มั่นแห่งใหม่ในการทำงานด้านกีฬา และพบปะพูดคุยเพื่อนพ้องและน้องๆ กองทัพ แทนมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ตามที่ประกาศไว้... “บ้านป่ารอยต่อฯ ปิดแล้ว คงเหลือไว้แค่มูลนิธิฯ”