เปิดขั้นตอนการ ‘ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ คืออะไร หลัง ‘ทักษิณ’ ร้องขอ

เปิดขั้นตอนการ ‘ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ คืออะไร หลัง ‘ทักษิณ’ ร้องขอ

เปิดขั้นตอนการ ‘ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ คืออะไร ทำอย่างไร หลังจาก ‘วิษณุ’ ยอมรับ ‘ทักษิณ’ ทำเรื่องร้องขอมาแล้ว

จากกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าได้รับหนังสือการขอพระราชทานอภัยโทษ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว โดยไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ เป็นการทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ส่วนใครเป็นผู้เขียนขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ไม่ขอตอบว่าเป็นใคร การเขียนขอพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้เป็นการขอเฉพาะบุคคลไม่เกี่ยวกับโอกาสวันสำคัญ ไม่ต้องดูว่ารับโทษมาแล้วเท่าใด เป็นพระมหากรุณาธิคุณทั้งนั้น
    
ทั้งนี้ ‘เนชั่นทีวีออนไลน์’ ได้สืบค้นข้อมูล"ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ"ไว้ ดังนี้

ความหมาย การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว ให้ได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษแล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ตาม พระราชอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 23 ) พ.ศ.2548 ภาค 7 อภัยโทษเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ มาตรา 259 ถึง มาตรา 267 

ประเภทของการพระราชทานอภัยโทษ 

1. การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป

2. การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย 

สำหรับการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม" ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ โดยผู้มีสิทธิยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฏีกา ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ได้แก่ 

  • ผู้ต้องโทษคดีถึงที่สุด
  • ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส เป็นต้น 
  • สถานทูต (ในกรณีที่เป็นนักโทษชาวต่างชาติ) 

หมายเหตุ  ทนายความ ไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง

เปิดขั้นตอนการ ‘ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย’ คืออะไร หลัง ‘ทักษิณ’ ร้องขอ

ระยะเวลาการยื่นฏีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย

1. ผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด

2. ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด 

ขั้นตอน การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย 

ผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ ทัณฑสถาน หรือ"กระทรวงยุติธรรม"หรือ"สำนักราชเลขาธิการ" หรือ"กระทรวงการต่างประเทศ"หรือสถานทูต 

โดยกรณีของนายทักษิณนั้น หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ หรือทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมี พระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบ