ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

มองภาวะผู้นำ "ประยุทธ์" ผ่านการทำงาน 9 ปีในบทบาทผู้นำประเทศ หลังอำลาทำเนียบรัฐบาล การตัดสินใจช่วงสำคัญ การบริหารวิกฤติ การเลือกคนที่เหมาะกับงาน รวมทั้งกลยุทธ์การครองใจลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา กับภาพสุดท้ายข้าราชการ-เจ้าหน้าที่มาส่งคับคั่งวันอำลาทำเนียบรัฐบาล

31 ส.ค.2566 เป็นวันปิดฉากการทำงานในทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการของผู้ชายที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศ นับตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2557 รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเกือบ 9 ปีเต็ม

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

บรรยากาศการอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์เป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทำเนียบรัฐบาล แม้แต่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลมาหลายสิบปีก็บอกว่าไม่เคยเห็น ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชน กลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนรวมตัวกันหลายร้อยชีวิตเพื่อร่วมกันอำลานายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล  

มีการเปิดเพลงร้องเพลงร่วมกัน มอบดอกไม้ ถ่ายภาพ กล่าวคำอำลาสุดซึ้งและตื้นตันใจกับนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ขบวนรถพล.อ.ประยุทธ์ค่อยๆออกจากทำเนียบรัฐบาลจนลับตาไปในช่วงเวลา 14.00 น.เศษ  มีภาพสุดท้ายที่นายกฯรัฐมนตรีคนที่เปิดกระจกโบกมือลาเป็นภาพควาทรงจำสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรีคนนี้ทิ้งไว้ในความทรงจำของใครหลายคน

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีทั้งเสียชื่นชม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หากแต่ในช่วงสุดท้ายที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศวางมือทางการเมือง และค่อยๆถอยฉาก ลดบทบาททางการเมืองลง กระทั่งยุติการทำงานในทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้เข้ามาเตรียมสถานที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเข้ามาทำหน้าที่นายกฯรักษาการในทำเนียบรัฐบาลในวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา การปิดฉากการทำงานในศูนย์กลางทำเนียบรัฐบาลด้วยผู้คนมากมายที่ห้อมล้อม มาส่งออกจากที่ทำงาน ก็สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคนรัก คนนิยมอยู่ไม่น้อย

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้พูดคุยกับข้าราชการระดับสูง เจ้าหน้าที่ และบุคคลที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับพล.อ.ประยุทธ์เพื่อถอดรหัสการทำงานในฐานะผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาลว่าการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร การทำงานในช่วงสำคัญๆ การบริหารวิกฤติ การเลือกคนที่เหมาะกับงาน รวมทั้งกลยุทธ์การครองใจลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจภาพสุดท้ายของพล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าทำไม่ถึงมีคนมาอำลา นายกฯคนนี้มากมายขนาดนี้

 

บทเรียนบริหารงานในช่วงวิกฤติโควิด-19  

มีคำกล่าวว่าวัดความสามารถผู้นำต้องวัดช่วงเกิดวิกฤติ ในช่วงการบริหารประเทศของพลที่ผ่านมามีช่วงเวลาที่ประเทศไทยเจอวิกฤติที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของวิกฤติโควิด-19 ข้าราชการระดับสูงเล่าว่า พอกระทรวงสาธารณสุขเริ่มรายงานเรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในภาวะที่เครียดมากเพราะดูแล้วไม่ใช่เรื่องที่เคยเจอมาก่อน ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มนับหนึ่งแก้ปัญหาอย่างไร แต่ประเมินสถานการณ์แล้วว่าเป็นสถานการณ์ที่ใหญ่จึงเป็นที่มาของการที่นายกฯเชิญ “อาจารย์หมอ” ระดับต้นๆของไทยมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภาพนั้นที่ออกไปก็ทำให้คนมีความหวังว่าเราจะสู้กับวิกฤติโควิด-19ได้

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

สิ่งที่ทำเลยและตัดสินใจเร็วของนายกฯในการรับมือกับโควิด-19ก็คือการตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมาบริหารสถานการณ์ เพราะรู้ว่ากลไกแบบปกติ กฎหมายปกตินั้นรับมือกับวิกฤติไม่ได้แน่  

“สิ่งที่นายกฯทำก่อนคือการกาง work flow ดูว่าจะดึงใครจากหน่วยงานไหนมาตั้งเป็นทีมเฉพาะกิจ ก็ทำให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาอยู่ใน ศบค.ซึ่งตอนหลังไม่ใช่เรื่องของโรคระบาดอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย ตอนนั้นก็มีคนที่ตัดสินใจได้ดีๆหลายคน เช่น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาฯ สมช.ก็เป็นคนที่มาช่วยดูเรื่องการปิด เปิดพื้นที่ ต่อมามี ศบศ.ที่มาดูเรื่องเศรษฐกิจก็มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เข้ามาช่วยในฐานะรองนายกฯก็ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการคนละครึ่ง และการจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ซึ่งทำให้การเยียวยาคนที่ลำบากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปถึงมือได้อย่างรวดเร็ว”

 

ศิลปะผู้นำกับการเลือกคนทำงาน

การเลือกคนที่มีความสามารถมาร่วมทำงานให้กับรัฐบาลเป็นอีกจุดเด่นที่ถูกพูดถึงของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่รัฐบาล คสช.มาถึงรัฐบาลในช่วง 4 ปีหลังมีคนที่มีความรู้ความสามารถหลายคนเข้ามาทำงานให้กับรัฐบาลจากคำเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ บางคนเป็นข้าราชระดับสูงที่เกษียณอายุ บางคนเป็นอดีต CEO องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกฯ

บางคนที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ชวนให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยคนหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์เลือกเข้ามาเองคือตำแหน่ง “ขุนคลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ซึ่งหากยังจำได้ก่อนหน้าที่อาคมจะเข้ามาเป็นรมว.คลังในการปรับ ครม.ครั้งก่อนหน้านั้นคนที่เข้ามาเป็น รมว.คลังคือ ปรีดี ดาวฉาย แต่ก็เข้ามาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ขอลาออกไป

คนที่ทำงานใกล้ชิดกับพล.อ.ประยุทธ์เล่าว่าในตอนนั้นพอรู้ว่ารัฐมนตรีคลังลาออก แล้วมีกระแสข่าวมากมายว่าจะมีชื่อนั้นชื่อนี้มาเป็นรมว.คลัง แต่พล.อ.ประยุทธ์เลือกใช้การสงบนิ่ง บอกแต่ว่า “คนที่มาเป็น รมว.คลังต้องใจนิ่งๆหน่อย” จากนั้นไม่นานก็มีการแต่งตั้งอาคมเข้ามาเป็นรมว.คลัง เนื่องจากเหตุผล “รู้มือกันอยู่” เพราะเคยทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยที่อาคมเคยเป็น รมว.คมนาคมมาก่อน

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

แล้วเวลาก็พิสูจน์ว่าพล.อ.ประยุทธ์เลือก รมว.คลังได้ถูกคนเพราะในปีที่ผ่านมารมว.คลังของไทยเพิ่งจะได้รางวัล "Finance Minister of the Year 2023" ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker จากผลงานความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเงินกู้อยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ ไม่ผันผวน  อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง และหนี้สาธารณะอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมีการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ประเทศ  รักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เป็นอย่างดี 

 

รักษาบรรยากาศในการประชุม และการทำงาน

เป็นที่รู้กันว่าการประชุมทุกคณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ตั้งแต่การประชุม ครม.ไปจนถึงการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องต่างๆ จะต้องไม่มีการมาถกเถียง ทะเลาะกันในที่ประชุม ทุกครั้งที่มีเรื่องที่หน่วยงานเห็นไม่ตรงกันจะต้องไปคุยกันให้เรียบร้อยนอกรอบก่อนที่จะเอาเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม และพล.อ.ประยุทธ์จะไม่ชอบให้ใช้วิธีการโหวตเพื่อตัดสินกันเพราะไม่อยากให้เสียบรรยากาศในการประชุม

“ทุกเรื่องที่จะเข้าสู่ที่ประชุม นายกฯจะไม่ให้มีการมาทะเลาะกันในที่ประชุม โดยให้เป็นแนวทางว่าเรื่องระหว่างหน่วยงานที่มีความเห็นต่างกันให้ไปคุยกันมาก่อน ถ้ามีการมาโต้เถียงกันในที่ประชุม ก็จะให้เอาเรื่องออกไปหรือถอนออกไปก่อน เพราะนายกฯบอกว่าในการประชุมสำคัญๆควรจะรักษาบรรยากาศในการประชุม บรรยากาศในการทำงานร่วมกัน ดังนั้นในเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเมื่อเข้าสู่การประชุม ครม.ทีไรก็มีข้อถกเถียงจึงต้องถอนเรื่องออกไปก่อนตลอด”

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

 

เคล็ด (ไม่ลับ) ผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา

เสียงสะท้อนการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่น่าสนใจยังมีในเรื่องของความประทับใจของคนที่ทำงานด้วยมานานหลายปี โดยข้าราชการระดับสูงที่เข้าประชุมและเห็นการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์มาหลายปีบอกว่าลักษณะนิสัยของนายกฯที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาชื่นชมคือการมีจิตใจเมตตากับทุกคน และมุ่งมั่นทุ่มเททำงานเป็นอย่างมากโดยเฉพาะงานเพื่อประเทศ

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ มีภาวะผู้นำสูง พร้อมที่จะรับฟังให้เกียรติคนที่ทำงานด้วย โดยจะรับฟังข้อมูลทุกอย่าง การเป็นผู้นำที่ดีอีกอย่างคือการปกป้องลูกน้อง และผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน เช่นหากสั่งงานอะไรไปแล้วมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจากการทำงานที่ได้มอบหมายไป นายกฯจะบอกว่า “ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมรับผิดชอบเอง”  

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

เขากล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่จริงเป็นคนมีอารมณ์ขัน  แต่ก็เป็นคนจริงจังในการทำงาน โดยปกตินิสัยส่วนตัวของนายกฯก็เป็นคนคิดมากเรื่องงาน เป็นคนคิดเยอะ เช่นถ้ามีรายงานว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่โน่นที่นี่ ก็จะรีบถาม รีบสั่งการว่าจะไปช่วยคนที่เดือดร้อนยังไง บางทีคิดได้ก็สั่งงานไปตอนดึกๆแล้วก็จะตามถามว่าเสร็จหรือยัง คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

“การที่คิดเรื่องงานตลอดแบบนี้ทำให้ท่านนายกฯเกิดอารมณ์โมโหง่าย แต่โมโหง่ายหายเร็วและไม่ใจร้าย พออารมณ์เย็นลง แล้วก็จะเรียกคนที่เคยว่าเคยตำหนิไปว่าไปมาคุยกันใหม่ แล้วรับฟังปัญหาอุปสรรค แล้วถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด ให้งานเดินไปได้โดยเร็ว”

 

ภาวะผู้นำ และการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี อาจสรุปได้จากประโยชน์ที่เจ้าตัวเคยพูดไว้ในปี  2565 ว่าการที่เราจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จนั้น เราต้องมีความอดทนและเข้าใจ

เมื่อผลที่ได้อาจจะไม่เพอร์เฟค ไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เพื่อจะให้ชิ้นงานต่างๆ เกิดขึ้นมาได้ ผมรู้ว่าถ้าเรามองสไตล์แบบนี้นั้น หลายท่านอาจจะมองเห็นว่าแหมเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจจริงๆ  กว่าจะทำได้สักที แต่มันก็เป็นวิธีการบริหารที่ผมเชื่อว่า สังคมเราจะได้เดินหน้าไปได้โดยไม่ทิ้งรอยแตกร้าวอย่างถาวรระหว่างคนกลุ่มต่างๆ

 

ถอดรหัสภาวะผู้นำ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ นายกฯ 9 ปี

"ผมก็ต้องทำงานสไตล์นี้นะครับ ท่านอาจสงสัยว่าเอ๊ะบางทีทำไมผมใจร้อนเกินไป บางทีผมก็ใจเย็นเกินไป ก็เพราะผมพยายามจะผสมผสานความแข็งกร้าวของผมเพื่อจะให้งานเดินหน้ากับความยืดหยุ่น เพื่อให้หลายกลุ่มหลายฝ่ายเดินไปด้วยกันได้ อาจไม่ได้ทุกอย่างตามที่ผมต้องการผมก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญ ว่าอะไรที่ผมต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนและอะไรที่ผมควรจะปล่อยผ่านไปก่อน ไม่งั้นจะไม่ได้สักอย่างเลย

ผมตระหนักดีว่าบางครั้งความแข็งกร้าวของผมนั้น ทำให้ผมต้องเสียเพื่อน เสียมิตร แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ผมต้องแลก เพื่อจะทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับประเทศให้เกิดขึ้นให้ได้”

...ทั้งหมดเป็นการประมวลภาพการทำงานกับพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 นายกฯที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของประเทศไทย นายกฯที่มีเสียวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก แต่เมื่อลงจากตำแหน่งก็เต็มไปด้วยคำอำลา และชื่นชมอยู่ไม่น้อย