'ชัชชาติ' เผย กทม.เก็บภาษีได้เกินเป้า คาดสิ้นปีได้ 9.7 หมื่นล้าน
'ชัชชาติ' เผย กทม.เก็บภาษีปี 66 ได้เกินเป้า รวมยอด 9.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 115.59% คาดสิ้นปีนี้เก็บได้ถึง 9.7 หมื่นล้าน ระบุเตรียมหารือการรับมือฝุ่น PM2.5 ร่วมกับรัฐบาล
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 19/2566 โดยนายชัชชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ปีนี้การจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างดี ณ วันที่ 31 ส.ค. 2566 ภาพรวมกรุงเทพมหานครจัดเก็บได้ 91,319,809,630.11 บาท (คิดเป็น 115.59 %) จากที่ประมาณการไว้ 79,000,000,000 บาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะจัดเก็บภาษีได้ถึง 97,000 ล้านบาท หากดูรายละเอียด ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเราจัดเก็บได้ค่อนข้างดี ประมาณ 11,000 ล้านบาท จะเห็นว่าการจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปีที่แล้วเนื่องจากได้เร่งทำฐานข้อมูลมากขึ้นและส่งใบเก็บภาษีได้ถึง 1 ล้านคน ขณะนี้รายได้ที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองประมาณ 19,000 ล้านบาท รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ จัดเก็บได้ประมาณ 72,000 ล้านบาท
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โดยรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ได้มากที่สุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 37,285 ล้านบาท ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มมี 2 ส่วน คือ แบ่งตามจุดซื้อขายและแบ่งตามจำนวนประชากร ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่ลงทะเบียนในกรุงเทพมหานครก็มีจำนวนหนึ่ง แต่จำนวนประชากรแฝงมีเกือบถึง 10 ล้านคน คงต้องหารือกันว่าการให้ทะเบียนประชากรสอดคล้องกับจำนวนประชากรที่อยู่จริง เพื่อจะทำให้ได้งบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ด้านภาษีรถยนต์ เก็บได้ถึงประมาณ 17,000 ล้านบาท ยังมีผู้ที่ยังไม่ดำเนินการจ่ายอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กทม.ได้มี MOU กับขนส่งเพื่อจะเร่งเก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่มเติม
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนการเก็บภาษีในแต่ละเขต มีหน่วยงานที่เก็บภาษีได้เกินเป้า 7 หน่วยงาน ได้แก่
- กองรายได้
- เขตลาดกระบัง
- เขตลาดพร้าว
- เขตสวนหลวง
- เขตจตุจักร
- เขตหนองจอก
- เขตห้วยขวาง
แต่มีบางเขตที่เก็บได้น้อย เช่น เขตดอนเมืองเก็บได้เพียง 38% เหตุผลเนื่องจากกระทรวงการคลังเปลี่ยนวิธีคำนวนการประเมินภาษีทำให้ภาษีที่ดินแปลงใหญ่จากแต่ก่อนอาจเก็บได้อัตราหนึ่ง แต่เมื่อมีการปรับวิธีการคำนวนประเมินใหม่การเก็บภาษีจึงเก็บได้ลดลง เพราะฉะนั้นรายละเอียดเหล่านี้เราให้ฝ่ายรายได้ศึกษา 2 ประเด็น คือ
1. การปรับวิธีการคำนวนราคาประเมินทำให้มีการสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็นเท่าใด
2. เกษตรที่ผิดวัตถุประสงค์ คือเกษตรที่ทำเพื่อหวังลดภาษีมีเท่าใด
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องมีการหารือกับรัฐบาลว่ามีข้อแนะนำอย่างไร
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เรื่องที่จะต้องคุยเพิ่มเติมจะเป็นเรื่อง PM2.5 เนื่องจากใกล้ถึงฤดูฝุ่นสูงแล้ว ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการรับมือ PM2.5 ปัจจุบันเรามีข้อมูลต่าง ๆ เช่น ฝุ่นมาจากไหน มีมาตรการอย่างไร การพยากรณ์เป็นอย่างไร รวมถึงได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่ แถบสีต่าง ๆ ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ เราได้มีการวางแผนเพื่อหารือกับทางรัฐบาล เนื่องจากหลายส่วนเราควบคุมไม่ได้และเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ของทางรัฐบาลอยู่แล้ว