6 ก.ย.วันต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ย้อนดูจุดเริ่มต้น การต่อต้านทุจริตในไทย

6 ก.ย.วันต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ย้อนดูจุดเริ่มต้น การต่อต้านทุจริตในไทย

6 ก.ย.ครบรอบวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติของไทย พาย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้น เหตุผลอะไรทำไมต้องมี ล่าสุดประเทศไทยได้คะแนนดัชนีรับรู้การทุจริตอันดับเท่าไหร่ของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 ก.ย.ของทุกปี เป็น วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติของไทย ขณะที่ "วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล" จะตรงกับวันที่ 8 ก.ย.ของทุกปี โดยปัจจุบันวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติของไทยดำเนินมาถึงปีที่ 12 แล้ว

โดยวันต่อต้านคอร์รัปชันของไทยนั้นเกิดจากการตื่นตัวและรวมพลังกันเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาคประชาชน และภาคเอกชนเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จากการริเริ่มทุ่มเทแรงกายแรงใจของ นายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในขณะนั้นที่ต้องการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศในเรื่องนี้ 

  • จุดเริ่มของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในไทย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวเปิดงานสัมมนา "ต่อต้านคอร์รัปชัน : จุดเปลี่ยนประเทศไทย" ซึ่งจัดขึ้น หอการค้าทั่วประเทศ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) และภาคี 20 องค์กร มีองค์กรจากภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วม 23 แห่ง เพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 

นายดุสิต กล่าวตอนหนึ่งภายในงานว่า "..หอการค้าไทยและภาคี 21 องค์กรจะหยุดจ่ายเงินให้รัฐเพื่อยุติข้ออ้างที่ว่า การทุจริตคอร์รัปชันเกิดจากมี "ผู้ให้" จึงมี "ผู้รับ" ที่ผ่านมาเอกชนจ่ายให้รัฐประมาณ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี"

การเริ่มต้นวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดที่ไม่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ประชาชนไม่ควรให้คนเหล่านี้เข้ามาบริหารประเทศ ต่อไปเอกชนจะตรวจสอบการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เพื่อดึงคอร์รัปชันออกมาสู่ที่สว่าง โดยไม่หวั่นไหวต่ออำนาจและการแทรกแซง..." 

จากคำกล่าวนี้เองได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมไทยเป็นวงกว้างจนกลายเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกองค์กร บริษัท หน่วยงานรัฐต่างพร้อมใจกันขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม 

  • เหตุผลกำหนด 6 ก.ย.เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันของไทย

หลังจากนั้นเมื่อนายดุสิต เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 ปณิธานอันแรงกล้านั้นได้รับการสานต่อจากเหล่าสมาชิก โดยการนำของนายประมนต์ สุธีวงศ์ ที่ผู้เข้ามารับตำแหน่งประธานภาคีเครือข่าย และได้มีการเสนอให้ถือเอาวันแห่งการจากไปของ นายดุสิต ซึ่งผู้เป็นสร้างแรงบันดาลใจและแบบอย่างของต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อในการต่อต้านคอร์รัปชันให้เป็น "วันต่อต้านคอร์รัปชัน" เพื่อให้ผู้ที่ยังอยู่ได้สานต่อเจตนารมณ์นี้ต่อไป

จากความร่วมมือของ "ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน" ซึ่งเกิดจากแนวคิดริเริ่มของนายดุสิต ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งในปี พ.ศ.2555 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โดยปัจจุบันนายวิเชียร พงศกร เป็นประธาน และได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี พ.ศ.2557 มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 54 องค์กร

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในด้านวิชาการ การบริหาร และกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
  2. จัดหาทุน เพื่อการดำเนินงาน หรือเพื่อการพัฒนาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
  3. ส่งเสริมการศึกษา และการวิจัยค้นคว้า ให้นักศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมทั้งสนับสนุนกิจการ
  4. ส่งเสริมและสนับสนุนด้านศิลปะและเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย บ่มเพาะ ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
  5. สนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
  6. ดำเนินงานพื่อสาธารณประโยชน์ และร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อกิจกรรมอันเป็นสาธาประโยชน์ 
  7. ไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริงแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้เผยแพร่ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2565 จัดทำโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 180 ประเทศ

ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลกดีขึ้นจากปี 2564 ที่ได้คะแนน 35 คะแนนและอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ไทยอยู่อันดับที่ 4 โดยประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด คือ สิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก ส่วนอันดับที่ 2 และ 3 คือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม ได้คะแนน 47 และ 42 ตามลำดับ 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)