'พิธา' โชว์วิสัยทัศน์ รัฐบาลก้าวไกล พาไทยยืนบนเวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรี
'พิธา' ได้รับเชิญบรรยายพิเศษที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประเด็นโอกาสไทยต่ออาเซียนและมหาอำนาจ โชว์วิสัยทัศน์รัฐบาลก้าวไกล พาไทยยืนบนเวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรี พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ก้าวย่างบนความท้าทาย และโอกาสของไทยต่ออาเซียนและมหาอำนาจ” โดยมีนิสิตเข้ารับฟังการบรรยาย
นายพิธา กล่าวว่า การต่างประเทศจะกลายเป็นนโยบายที่สำคัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หากประชาชนตระหนักว่าปัญหาภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 ไปจนถึงราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ พลังงาน ที่แพงขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลไทยจะแก้ได้หากไม่มีบทบาทในเวทีโลก นโยบายต่างประเทศก็จะกลายเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่พรรคการเมือง รัฐบาล ต้องคิด ต้องให้ความสำคัญ
"การต่างประเทศของไทยในยุคนี้ เผชิญความท้าทายสำคัญ เพราะอยู่ในยุคที่สหรัฐฯและจีน แข่งขันกันขยายอำนาจ โดยมีภูมิภาคอาเซียนเป็นสมรภูมิสำคัญ แต่บทบาทของไทยในอาเซียนกลับถดถอย และบทบาทอาเซียนในฐานะพลังต่อรองระดับภูมิภาคก็ถดถอยเช่นกัน ถ้าดูจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้นำมหาอำนาจ เลือกเดินทางเยือนอินโดนีเซียและเวียดนามบ่อยครั้ง แต่ส่งระดับรองไปร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งสะท้อนว่ามหาอำนาจให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ แต่เลือกดำเนินความสัมพันธ์กับบางประเทศที่ถูกประเมินว่ามีบทบาทสำคัญ มากกว่าสัมพันธ์กับอาเซียนทั้งกลุ่ม" นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวด้วยว่า ในสภาพการณ์เช่นนี้ การต่างประเทศไทยในมุมมองของก้าวไกล ต้องตอบ 2 โจทย์ คือ “ป้องกันวิกฤต” และ “เก็บเกี่ยวโอกาส” จากโลกใบใหม่ ความผันผวนและการแข่งขันในเวทีโลก โดยมีหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ
1. การต่างประเทศที่มีกระดูกสันหลัง มีหลักการ ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีโดยวางตัวเป็นมหาอำนาจระดับกลาง
2. การต่างประเทศที่ยึดมั่น Rule-Based International Order คือการยึดกติกา ระเบียบระหว่างประเทศ ใช้องค์กรระหว่างประเทศและเวทีนานาชาติในการต่อรองผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ไม่ลุแก่อำนาจหรือใช้วิธีการที่ละเมิดระเบียบโลก
3. การต่างประเทศที่รู้จังหวะ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเงียบ เมื่อไหร่ควรพูด ไม่ใช่ไม่กล้าพูดยืนยันหลักการเพราะเกรงใจมหาอำนาจ
นายพิธา ยกตัวอย่างรูปธรรมของการต่างประเทศไทยที่จะเกิดในรัฐบาลก้าวไกล ภายใต้หลักการ 3 ข้อนี้ ได้แก่
1. เมียนมา ไทยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดเมียนมามากที่สุด ต้องทำ Humanitarian-Economic Corridor เพื่อรองรับผู้ลี้ภัยสงคราม โดยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนทั้งสองประเทศ ผู้ลี้ภัยทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย เป็นกำลังแรงงานให้นักลงทุนไทย ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างเสถียรภาพในเมียนมาเพื่อยุติสงครามกลางเมือง เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยรัฐบาลไทยจะมีบทบาททั้งโดยตรงและผ่านอาเซียน ในการสนับสนุนผลักดันการเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในเมียนมา
2. แม่น้ำโขง รัฐบาลไทยจะรวมกลุ่มกับประเทศปลายน้ำให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเจรจาต่อรองกับประเทศต้นน้ำให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม
3. Inclusive Diplomacy การทูตที่ขยายขอบเขตงานต่างประเทศให้กว้างกว่าการเมืองหรือการเจรจาทางการทูต แต่รวมถึงการมีบทบาทในการใช้ soft power การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า
4. การเจรจาเขตการค้าเสรี ตั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในอาเซียน และการเจรจากับภูมิภาคอื่น โดยวาระสำคัญคือการเจรจาเขตการค้าเสรีไทยยุโรป ซึ่งไทยควรเจรจาต่อรองเพื่อขยายผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิฟรีวีซ่า
5. การต่างประเทศด้านสิทธิและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้เวทีระหว่างประเทศปกป้องสิทธิแรงงานไทย ปัญหากดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมีกฎหมายอากาศสะอาดและฝุ่นควันข้ามแดนที่ครอบคลุมทั้งอาเซียน (ASEAN Clean Air and Transboundary Haze Act) แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สร้างเครือข่ายปราบปรามการค้ามนุษย์ และ online scammers โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามามีบทบาทในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์มากขึ้น