‘ประชุม ครม.’ แบบ ‘เศรษฐาสไตล์’ ข้อสั่งการมาก-ทำงานเร็ว-กำหนดเวลาตามงาน
ประชุม ครม.แบบเศรษฐาสไตล์ ถอดแบบผู้นำองค์กรเอกชน "นายกฯCEO" ใช้ข้อสั่งการนายกฯมอบหมายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง ครม.นัดแรก 14 เรื่อง กำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดเวลาตามงานชัดเจน ใช้เวลาประชุมไม่มาก เนื่องจากใช้วิธีนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือรายละเอียดก่อนการประชุม
ความคาดหวังของประชาชนเมื่อได้นายกรัฐมนตรีที่มีแบ็คกราวด์เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มาจากภาคธุรกิจ ก็คือการริเริ่มและกำหนดแนวทางใหม่ๆ รวมทั้งวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ไม่อิงกับขั้นตอน และระบบราชการแบบที่ผ่านมาในอดีต
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกอย่างเป็นทางการของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ที่นายกฯและครม.มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน
ก็ได้ปรากฏให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่พูดได้ว่าเป็นการประชุม ครม.แบบ “เศรษฐาสไตล์” ที่แตกต่างไปจากการประชุมในสมัย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นนายกรัฐมนตรี
ตั้งแต่มาถึงทำเนียบรัฐบาลนายกฯเศรษฐาให้รถประจำตำแหน่งจอดที่หน้าตึกบัญชาการ 2 เพื่อขึ้นประชุม ครม.ทันที ตัดขั้นตอนการเดินนำฝ่ายข้าราชการการเมือง และรมต.ลงจากตึกไทยคู่ฟ้าไปประชุม ครม.ที่พล.อ.ประยุทธ์เคยทำมาตลอด 9 ปี
เมื่อเข้าสู่การประชุม ครม.แม้ว่าในการประชุมครั้งแรกจะมีเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณามาก และหลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณานาน แต่ด้วยการทำงานแบบสไตล์นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีการนัดหารือกับข้าราชการ และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆมาก่อนแล้วทำให้สามารถผ่านความเห็นชอบได้รวดเร็ว เช่น เรื่องของมาตรการ “วีซ่าฟรี” ที่ให้กับนักท่องเที่ยวจากจีน และคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.2566 – 29 ก.พ.2567 นายกฯเศรษฐาก็ได้มีการเรียกกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานด้านความมั่นคงไปหารือที่รัฐสภาก่อนวันประชุม ครม.เพื่อคุยรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อย
อีกตัวอย่างเมื่อการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่นายกฯเศรษฐานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมก็ใช้เวลาการประชุมเพียง 30 นาทีเท่านั้น เนื่องจากมีการหารือกันในเรื่องตัวเลขต่างๆมาก่อนหน้าการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สั่งรมต.ตั้งคณะทำงานเร่งคลอดนโยบายรัฐบาล
สำหรับเรื่องที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่รัฐบาลจะเดินหน้าแน่ๆ แต่ยังทำรายละเอียดไม่แล้วเสร็จ ก็มีการนำเข้ามาคุยในหลักการใน ครม.จากนั้นนายกฯเศรษฐาจะมอบหมายงานให้กับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบพร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้กลับมารายงานความคืบหน้า และรายละเอียดต่างๆภายในระยะเวลากี่วัน
ในการประชุม ครม.สไตล์นายกฯเศรษฐาจึงมีข้อสั่งการจำนวนมาก คล้ายกับผู้บริหารระดับสูง (CEO) เวลาประชุมแผนการทำงานของบริษัทที่มีการสั่งการไปยังผู้รับผิดชอบในแต่ละเรื่องเป็นการสั่งการจากบนลงล่างลงไปตาม "Bottom line" เรื่องไหนควรจะมีคณะกรรมการ คณะทำงานขึ้นมารองรับก็จะมีการสั่งการให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆตั้งขึ้นมา ให้เรียกประชุม หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเร็วแล้วรีบนำกลับมารายงานแนวทาง และความคืบหน้า
ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ถือเป็นรายละเอียดที่ตัดสั้นลงกว่าการทำงานแบบระบบราชการเดิมที่ต้องรอให้ระดับกระทรวง หน่วยงานเสนอเรื่องมาที่ ครม. ซึ่งต้องมีหนังสือเวียนขอความเห็นของแต่ละหน่วยงาน แล้วนายกฯสั่งการอีกทีซึ่งบางเรื่องกว่าจะมาถึงนายกฯและ ครม.ก็ใช้เวลานานมากจนไม่ทันการณ์
ประชุม ครม.นัดแรกนายกฯสั่งการ 14 เรื่อง
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การประชุม ครม.นัดแรกของ “รัฐบาลเศรษฐา1” จะเต็มไปด้วยข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน ครม.วันที่ 13 ก.ย.ไว้ 14 ข้อ ได้แก่
1.เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) 28 กรกฎาคม 2567 ให้สมพระเกียรติ และขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยได้มอบหมายให้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองฯ
2.สั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยแนวทางให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ และได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
3.โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) นายกรัฐมนตรีได้ให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพ และกำหนดเวลานำเสนอโดยเร็วที่สุด พร้อมมอบหมายกระทรวงการคลัง หารือสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเร่งจัดทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับประเทศ
โดยในเรื่องนี้ให้กลับมารายงาน ครม.โดยเร็วที่สุดในการประชุม ครม.วันที่ 18 ก.ย. ส่วนแหล่งเงินโครงการนี้นายกฯรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงการคลังวานนี้ (14 ก.ย.) ว่าจะมีความชัดเจนภายในระยะเวลา 1 เดือน
3.นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดำเนินนโยบายเว้นการลงตราวีซ่าชั่วคราวสำหรับประเทศจีน และคาซักสถาน (VISA Free) รวมถึงการผ่อนปรนเงื่อนไข และขั้นตอนการเข้าประเทศสำหรับการจัดแสดงสินค้า และนิทรรศการ โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 25 กันยายน 2566 เพื่อช่วยสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก
4.นายกรัฐมนตรียังได้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยยุทธศาตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธาน โดยได้มอบหมายให้นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
5.นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ ทุกกระทรวง ทบทวนมติ ครม ก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้ ถ้าไม่มีการทักท้วงภายใน 25 กันยายน 2566 จะยกเลิก รวมทั้งสั่งการให้ทุกกระทรวงทบทวนคำสั่ง คสช. ที่เคยบังคับใช้ ถ้าไม่มีการทักท้วงภายใน 9 ตุลาคม 2566 จะยกเลิก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลัก ‘กฎหมายไม่เขียน ถือว่าทำได้’ เป็นหลักการ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย และอำนวยความสะดวกประชาชน
6.นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมสำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino) ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปีจากนี้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายจังหวัด และมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการ และให้ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ
7.ในเรื่องของนโยบายด้านประมง นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ และจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทยเพื่อความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมประมง โดยให้คำนึงถึงการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ
8.นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอมาตรการลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีผลโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ
9.นโยบายสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกระดับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค) โดยให้มีผลโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขมีความทันสมัยขึ้น มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการดูแลประชาชนที่ดีขึ้น
10.นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกร และหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีกรอบระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี
11.เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติสั่งการให้กรมบัญชีกลางเร่งศึกษารายละเอียด การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งใน 1 เดือน และกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ให้มีผลภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยในเรื่องนี้ได้ปรับมาเป็นทางเลือกให้ข้าราชการสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินเดือน 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งในแต่ละเดือน
12.เพื่อให้ปัญหาผู้มีอิทธิพล อาวุธปืน ยาเสพติด และการซื้อขายตำแหน่งหมดไปอย่างเด็ดขาด จากที่เคยมีการสั่งการหลายครั้งเรื่องอาวุธปืน แต่ไม่ปรากฏผล โดยได้มอบหมายให้นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งทีมทำงาน และกำหนดเวลาการนำเสนอโดยเร็วที่สุด โดยผู้ครอบครองอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ให้นำมามอบแก่ทางราชการที่สถานนีตำรวจที่มีภูมิลำเนาภายใน 30 วัน และหากอาวุธปืนมีทะเบียนถูกต้อง หากจำเป็นต้องพกพา ให้ดำเนินการขออนุญาตพกพาภายใน 30 วัน ตั้งแต่บัดนี้ไป
โดยให้กำหนดเรื่องนี้ให้เป็น KPI ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ และกอรม.จังหวัด ในการประเมินผลงานการทำงานเรื่องนี้ในแต่ละปีด้วย
13.นายกรัฐมนตรียังได้กำชับ และขอให้คณะรัฐมนตรีกำกับดูแลการใช้เงินนอกงบประมาณในการไปดูงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสม
และ 14.นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ปรับลดขนาดขบวนเดินทางของนายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม เพื่อให้มีผลกระทบกับประชาชนในทุกท้องที่ให้น้อยที่สุดอีกด้วย
..กล่าวได้ว่าในวันนี้ไม่ว่านโยบาย “ผู้ว่าฯ CEO” ของพรรคเพื่อไทยจะได้ดำเนินการในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ก็ตามแต่ตอนนี้สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการทำงานของนายกฯคนใหม่คือ “เศรษฐาสไตล์” นายกฯ CEO ที่บูรณาการการสั่งการงานทุกด้าน ทำงานรวดเร็ว กำหนดระยะเวลาติดตามงาน และมีข้อสั่งการที่ชัดเจน