ตรวจธุรกิจกองทัพ “มวยลุมพินี” “ซอฟต์ พาวเวอร์” สู่มรดกโลก
ตลาดโลกต้องการมวย ที่สนุกสนานและเข้าพิชิตผู้ต่อสู้ได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นหัวใจ ของการต่อสู้และการป้องกันตัว น็อคให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นนักมวยต้องปรับรูปแบบการชกแบบครบเครื่อง
จับตา “สนามมวยลุมพินี” กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของกองทัพที่ถูกพรรคก้าวไกลพาดพิงในเวทีแถลงนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” วันที่ 12 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา
ย้อนไป 4 ปีก่อน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ผู้ออกแบบวางกรอบโครงสร้างสนามมวยลุมพินีใหม่ทั้งหมด หวังผลักดันมวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว มรดกของไทยเผยแพร่ไปสู่สากล ก่อนส่งไม้ต่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ มอบหมายให้ พล.ต.สัจจา สุขสุเมฆ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก (มวยไทยลุมพินี) เข้ามากำกับดูแล สานต่อนโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมายในอนาคต
พล.ต.สัจจา เล่าความเป็นมา สนามมวยลุมพินี ก่อตั้งปี 2499 สมัยบ้านเมืองมีศึกสงคราม ใช้ดาบกระบี่กระบองต่อสู้ควบคู่กับมวยไทย เพิ่มประสิทธิภาพการรบ เพราะเป็นศิลปะการต่อสู้เรียกว่า “นวอาวุธ 9 อย่าง” หมัด 2 ศอก 2 เข่า 2 เท้า 2 หัว 1 และยังมี แม่ไม้มวยไทย 15 ท่า ลูกไม้มวยไทย 15 ท่า รวมถึง การป้องกันตัว ศิลปะมวยไทยที่ต้องสืบทอดไว้
ต่อมาเมื่อสงครามสงบ สนามมวยลุมพินีจึงมุ่งเน้นการแข่งขันเพียงอย่างเดียว และเดิมที ตั้งอยู่ถนนพระราม 4 ก่อนย้ายมาอยู่ถนนรามอินทรา และประสบปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาด ถูกปิดชั่วคราว 2 ปี 6 เดือน ส่งผลให้อาคารสถานที่ทรุดโทรม
หลังยุคโควิด-19 สนามมวยลุมพินีเปิดตัวอีกครั้ง พร้อมรีโนเวทสถานที่ สเตเดียม ผุดโรงเรียนสอนมวยไทย ปรับโครงสร้างหลายด้านงานธุรการ จัดการแข่งขัน เพิ่มความหลากหลาย ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก สนองนโยบายรัฐบาล Soft Power กำหนดให้มวยไทยอยู่ใน 5 F (Fighting) สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้
จึงเป็นที่มาปรับรูปแบบการแข่งขันสนองความต้องการต่างชาติ และคนรุ่นใหม่ ที่ชอบดูมวยสนุกสนามแบบมันส์ๆ เผด็จศึกไว จึงเพิ่มมวย 3 ยก หรือ มวยเอนเตอร์เทนเมนท์ ส่วนมวยอัตลักษณ์ 5 ยก ก็ยังคงอยู่
นอกจากนี้ยังมีมวย MNA มิกซ์มาเชี่ยนอาร์ท ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมผสาน มวยคิกบ็อกซิ่ง มวยซับมิชชัน (Submission)ควบคู่การยกระดับกรรมการสนามมวย ตัดสินโปร่งใส ยุติธรรม
“ตลาดโลกต้องการมวย ที่สนุกสนานและเข้าพิชิตผู้ต่อสู้ได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นหัวใจ ของการต่อสู้และการป้องกันตัว น็อคให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นนักมวยต้องปรับรูปแบบการชกแบบครบเครื่อง” พล.ต.สัจจา กล่าวและว่า
ส่วนโรงเรียนสนามมวย ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ส่งครูมวยไปสอนมวยไทยขั้นพื้นฐานให้กำลังพลในกองทัพภาคต่างๆ และปัจจุบันกำลังทำหลักสูตรครูมวยไทย ซึ่งเปิดมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว จะใช้เวลาอีก 2 เดือน ปรับปรุงยิมมวย เปิดให้ประชาชนทั่วไป ต่างชาติเข้ามาฝึกซ้อมในลักษณะกีฬาเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ สนามมวยลุมพินี มีความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะปักหมุดมวยไทย ให้เป็นจุดหมายปลายทาง ให้คนต่างประเทศ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการนักลงทุน เข้ามาลงทุน มาประกอบการ มาท่องเที่ยวในเมืองไทย
กระทรวงแรงงานจะทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย เมื่อได้ใบรับรอง สามารถประกอบอาชีพเป็นครูมวยทั้งภายใน ภายนอกประเทศ ได้อย่างมีคุณภาพ ส่วน “มูลนิธิไทย” ของกระทรวงการต่างประเทศ ทำ Content is King เผยแพร่ประวัตินักชกมีชื่อเสียงในต่างประเทศทั่วโลก
“ปัจจุบัน สนามมวยลุมพินีกำลังรวบรวมข้อมูลส่งให้กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อผลักดันให้มวยไทยขึ้นทะเบียนยูเนสโก เป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า และกระทรวงวัฒนธรรมเตรียมเสนอรัฐบาลวันที่ 31 มี.ค.2567 นี้” พล.ต.สัจจา ระบุ
พล.ต.สัจจา เปิดเผยว่า ได้ทำเอ็มโอยูกับบริษัทจีน ที่รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมาขอซื้อแบรนด์ โลโก้ จากสนามมวยลุมพินี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มวยไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ โด่งดังในประเทศจีน ในลักษณะการแข่งขันที่เป็นมาตรฐานของสนามมวยลุมพินี นำไปเผยแพร่ใน 6 เมืองของจีน
ขณะที่กิจกรรมกองทัพอีกประเภท ที่ถูกพรรคก้าวไกลพูดถึง “สนามม้าโคราช” ซึ่งอยู่ภายใต้ดูแลกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งไม่เปิดให้มีการแข่งขันม้า ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ลากยาวจนถึงปัจจุบัน เพื่อดำเนินการตามนโยบายของ ผบ.ทบ. เรื่องทำพื้นที่ทหารให้ปลอดการพนัน
ก่อนหน้านี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการใช้พื้นที่ ให้รื้อสนามม้าโคราช และเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์รูปแบบอื่น เช่น สถานที่ท่องเที่ยว หรือสวนสาธารณะ เปิดให้ประชาชนใช้ออกกำลังกาย
พัฒนาการ 2 กิจกรรมกองทัพที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต เพื่อปลดล็อคข้อครหา หลังถูกฝ่ายการเมืองโจมตีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา