มท.1 เยี่ยม ปภ. มอบ 5 นโยบาย ย้ำทำงานแบบพี่น้อง ความทุกข์ ปชช.เรื่องด่วน
มท.1 ตรวจเยี่ยม ปภ. มอบ 5 นโยบายหลัก ย้ำ "ทำงานแบบพี่น้อง" ต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันเหตุการณ์ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เห็นความทุกข์ร้อนของ ปชช.เป็นเรื่องเร่งด่วน ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ บริหารจัดการสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.1) ตรวจเยี่ยมและเป็นประธานมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีนายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1-18 และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมรับมอบนโยบาย
โดยนายอนุทิน เยี่ยมชมนิทรรศการรำลึก 100 ปี พระที่นั่งนงคราญสโมสร บริเวณพระที่นั่งนงคราญสโมสร และเดินทางเข้าสู่อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เยี่ยมชมนิทรรศการระบบการแจ้งเตือนภัย แนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัย พร้อมทั้งพบปะ "หน่วยบิน ปภ." โดยมีนักบินเฮลิคอปเตอร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ KA-32 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 4 ลำ ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัดทั่วประเทศ บรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายอนุทิน กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ ต่อการรับมือกับภัยพิบัติที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ โดยเฉพาะเมื่อสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางในการจัดการสาธารณภัยของประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยมีแนวนโยบาย เกี่ยวกับการจัดการสาธารณภัยของประเทศ ได้แก่
1. การเตรียมความพร้อมรับมือสาธารณภัยในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเอลนีโญ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วงฤดูแล้งปีหน้า จึงขอให้จังหวัดเร่งกักเก็บน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับการใช้ตลอดปี
2. การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ รวมถึงเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของจังหวัด
3. การอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขอให้จังหวัดโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กำหนดมาตรการและแนวทางการดูแลความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว ได้แก่ 1) ให้มีป้ายแจ้งเตือน ป้ายบอกทางอพยพหลายภาษา ซึ่งตรวจสอบความถูกต้องของภาษาแล้ว ให้นักท่องเที่ยว 2) ให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ 3) ให้จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลประสานผู้ประกอบการจัดให้มี Lifeguard หรือเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยชายฝั่ง
4. ความปลอดภัยทางถนน ขอให้ยึดเป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยให้ 1) บูรณาการเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เข้มงวดพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่น การขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น 2) ให้หน่วยงานราชการกําชับให้ข้าราชการและบุคลากรปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น สวมหมวกนิรภัย ขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ และการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เมื่อขับขี่รถยนต์
5. การยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ขอให้มุ่งเน้นให้ความรู้ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของอำเภอ และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งในการจัดการสาธารณภัย รวมทั้งให้มีการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานให้มากขึ้น
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ขอให้พวกเรามีวิถีในการทำงานแบบทีมกระทรวงมหาดไทย ที่ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที ซึ่งสำคัญมากสำหรับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ต้องทำงานกับความเปลี่ยนแปลง และเผชิญวิกฤติอยู่เสมอ ขอให้เป็นผู้ที่รู้เท่าทันเหตุการณ์ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องเร่งด่วน
"ผมขอชื่นชมในภารกิจที่ผ่านมา และขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกท่านของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พวกเราทำงานแบบพี่น้อง และผมพร้อมสนับสนุนการทำงานในการปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยให้ประเทศเราสามารถลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัย อย่างยั่งยืนสืบไป" นายอนุทิน กล่าว