ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จชต.? บทเรียน 'เพื่อไทย' ราคาที่ต้องจ่าย
"กองทัพ" เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หลัง "รัฐบาลทักษิณ" ยุบ ศอ.บต.-พตท.43 ต้นตอไฟใต้ลุก และใช้เวลากว่า 10 ปี วางเครือข่ายสายข่าวให้เข้มแข็ง จนสถานการณ์ 3 จชต.ดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังเข้าสู่จุดหักเหอีกครั้ง ในวันที่ 17 ต.ค.2566 ซึ่งครบ 1 เดือน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"บังคับใช้ในพื้นที่เป็นวันสุดท้าย ท่ามกลางกระแสข่าวการหยั่งเชิงของ"รัฐบาลเพื่อไทย" ภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" จ่อประกาศยกเลิก
โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง "พรรคประชาชาติ" หัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนหวังปักหมุด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลอดกฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฏอัยการศึก เงื่อนไขสร้างความขัดแย้ง ตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลังกวาดเก้าอี้ สส.พื้นที่ 7 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง รวม 9 ที่นั่ง
เพราะมองว่าโรดแมปกองทัพ ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องความมั่นคงและแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเดินเข้าสู่ระยะที่ 2 ปี 2566-2570 ทยอยปรับลดกำลังทหารควบคู่กับการปรับลดพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้หมดสิ้นในปี 2570 ช้าเกินไป
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า หากรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ่งแรกต้องชี้แจงรัฐบาล โดยทำข้อมูลสรุปสถานการณ์ในอำเภอ ที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แยกเป็นข้อดี-ข้อเสีย พร้อมชี้ให้เห็นว่า หากมีจะเป็นอย่างไร หากไม่มีจะเป็นอย่างไร
กรณีจำเป็นต้องยกเลิกทันที ก็มาพิจารณาดูว่า พื้นที่ไหน ไม่มีความรุนแรงหรืองานด้านการข่าวไม่พบความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรง สามารถยกเลิกเพิ่มเติมได้ แต่พื้นที่ไหนพบความเคลื่อนไหว ขอสงวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ได้หรือไม่ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
แต่หากจำเป็นต้องยกเลิกทั้งหมด ทหารก็ต้องพร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ต้องมาปรับวิธีการปฏิบัติในพื้นที่กันใหม่ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
" ได้สั่งแต่ละพื้นที่ประเมินว่าสามารถลดอำเภอไหนได้อีกบ้าง สำรวจไว้แล้ว แต่ขอสงวนตัวเลข เพราะยังไม่นิ่ง แต่อำเภอติดแนวชายแดนจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เพราะเป็นพื้นที่ล่อแหลม ผู้ก่อเหตุใช้หลบหนีข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลังก่อเหตุเสร็จ ผมก็ต้องฟังทีมข่าวและประชาชนในพื้นที่ และทำข้อมูลเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปแล้ว"
สำหรับการปฏิบัติงานทหารใน 3 จชต. หากมีเหตุการรุนแรง ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก บุกค้น ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 7 วัน หลังจากนั้น ใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขอหมายศาลควบคุมผู้ต้องหาได้อีก 30 วันขยายผล หาหลักฐานความเชื่อมโยง
ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก เปรียบเหมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งคือตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น เข้าระงับยับยั้ง จับกุมผู้ก่อเหตุได้ทันท่วงที ลดความเสียหายที่จะเกิดกับชีวิตทรัพย์สินประชาชน แต่อีกด้านก็ถูกมองว่า เป็นการใช้อำนาจละเมิดสิทธิคนในพื้นที่
หากประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระยะเวลาการควบคุมผู้ต้องหา 30 วันจะหายไป และถ้ารัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 มาทดแทน ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจเป็นหลัก ไม่ใช่ทหาร โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นตัวนำ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหา 3 จชต.ของรัฐบาลเพื่อไทย ชัดเจนว่าใช้ ตำรวจ-พลเรือน ตัวขับเคลื่อน ลดบทบาททหาร พิจารณาจากการมอบหมาย "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯความมั่นคง "สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) และโอนย้าย "พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์" อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มาเป็น เลขา ศอ.บต.
แนวทางเดียวกับ "ทักษิณ ชินวัตร" เคยใช้ในอดีตยุครัฐบาลไทยรักไทย เพราะมองว่าเหตุการณ์ 3 จชต.สงบแล้ว จึงสั่งยุบ ศอ.บต. และ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43)ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ท่ามกลางเสียงท้วงติง แต่ไม่เป็นผล
เป็นจุดเริ่มต้นไฟใต้นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญมากมาย อาทิ เผาโรงเรียน 20 แห่งพร้อมกันในจังหวัดนราธิวาส บุกปล้นอาวุธปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง
การวางระเบิดในจังหวัดปัตตานี บุกถล่มโรงพักในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ก่อความไม่สงบ
เมื่อคุมสถานการณ์ไม่ได้ รัฐบาลทักษิณ ตัดสินใจงัดกฎหมายพิเศษ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้ พร้อมเรียกกำลังทหารกลับเข้าพื้นที่ เริ่มต้นนับหนึ่งและต้องใช้เวลากว่า 10 ปี วางเครือข่ายงานด้านการข่าวใหม่ทั้งหมด จนสถานการณ์ดีขึ้นถึงทุกวันนี้ รวม 19 ปี ภายใต้โรดแมป
ระยะที่ 1 ปี 2547-2553 มุ่งเน้นใช้กำลังทหารเป็นกำลังหลัก เพิ่มเติมกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 เข้าควบคุมสถานการณ์และยุติสภาพปัญหา
จนเข้าสู่ระยะที่ 2 ปี 2554 ถึงปัจจุบัน สร้างความเข้มแข็งกำลังตำรวจ เพิ่มอัตรากำลัง 1,700 นาย จัดตั้งเป็นหมวดปฏิบัติการพิเศษ ดูแลพื้นที่เมือง 37 อำเภอ ด้านพลเรือนเพิ่มอัตรากำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกว่า 7,000 นาย จัดชุดคุ้มครองตำบล 164 ชุด ดูแลหมู่บ้าน ชุมชน
ปี 2559-2560 ถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 ออกจากพื้นที่ทั้งหมด ปรับลดอัตรากำลังจากหน่วยต่างๆ ในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้ปรับลดอัตราลงกว่า 20,000 นาย คงเหลืออัตรากำลัง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ในปัจจุบัน 49,995 อัตรา
ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2566-2570 ปรับลดกำลังทหารพรานจากกองทัพภาคที่ 1-3 กลับที่ตั้งปกติทั้งหมด วันที่ 1 ต.ค. นี้ ลดลง 800 อัตรา ควบคู่กับการปรับลดพื้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ล่าสุด ยกเลิกแล้ว 11 อำเภอ และทยอยให้หมดสิ้นไปภายในปี 2570
มารอบนี้เชื่อว่า "รัฐบาลเพื่อไทย" ต้องฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างรอบด้าน ไม่มุ่งแต่ผลักดันนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล เดินหน้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด เพื่อไม่ให้สถานการณ์ 3 จชต.วนลูปกลับไปเหมือนอดีต