พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.” จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.”  จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

สัปดาห์หน้า วาระสภาฯ ต้องจับตา การตั้ง "กมธ." 35 คณะ ที่ขณะนี้พบว่า 2พรรคใหญ่ ยังตกลงในพรรค ไม่สะเด็ดน้ำ ขณะเดียวกันคือการโหวตเลือก "ปธ.กมธ." ว่าจะมีพลิกโผหรือไม่

หลังจาก “8พรรคการเมือง” เคลียร์กันลงตัว ถึง โควตา “ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ” 35 คณะ ไปได้ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แบบทุลักทุเล เพราะมีปมปัญหา “ติดขัด” ทั้งในประเด็นที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” ต้องการยึด กมธ.  ตรงกับกระทรวงที่รับผิดชอบ เพื่อหวังสกัดการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน

ที่อาจฉวยโอกาส คุ้ยข้อมูลที่แปรผันเป็น ข้อมูล ใช้ในการตรวจสอบรัฐบาล ในเวที “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” 

ขณะที่ “พรรคฝ่ายค้าน” ต้องการ กมธ.ที่มีบทบาทตรวจสอบ “รัฐบาล”  และ กมธ.ที่คาดหวังว่าจะผลักดันนโยบายของพรรค ให้เห็นผล และแปรเป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่สุดท้าย การเลือกสรร ก็จบลงได้ แม้ แต่ละฝ่ายจะ ไม่ได้ “กมธ.” ตามใจที่หวังทุกคณะ
พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.”  จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

ในขั้นตอนต่อไป คือ เสนอให้ “สภา” รับรอง แต่เป็น “สส.” ที่จะสังกัด “กมธ.” คณะต่างๆ  โดย สส.1 คน เป็น กมธ.ได้ไม่เกิน 2 คณะ  ส่วนประธานกมธ.นั้น จะถูกเสนอชื่อและโหวตกันในที่ประชุมกมธ.นัดแรก 

เดิมกระบวนการที่ว่า จะเริ่มได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่า 2 พรรคใหญ่ ทั้ง “ก้าวไกล” - “เพื่อไทย” ยังเฟ้น “สส.” ที่จะส่งเป็น “ประธานกมธ.” ได้ไม่สะเด็ดน้ำ

อย่าง “พรรคก้าวไกล”​ ที่มีข่าวว่า ได้ตัว สส. ที่จะเป็นประธานกมธ. ตามโควตาแล้ว แต่ต้องถูก “รีเซ็ต” ใหม่ และเตรียมเคาะชื่อสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับ “พรรคเพื่อไทย” ที่มีข่าวว่า “สส.”  ซึ่งอกหักจากตำแหน่งรัฐมนตรี ขอสิทธิทำหน้าที่ เพราะเปรียบ “ประธานกมธ.” มีศักดิ์ศรี เทียบเท่า “รัฐมนตรีน้อย” 

พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.”  จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

ขณะที่ 6 พรรคการเมือง ซึ่งได้ สิทธิรับตำแหน่ง ประธานกมธ. คาดว่า “ลงตัว” แล้ว อาทิ 


พรรคภูมิใจไทย 5 คณะ  คือ ประธานกมธ.การศึกษา  มีชื่อ โสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์, ประธานกมธ.กระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ  มีชื่อ มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิชย์ สส.ลพบุรี, ประธานกมธ.การปกครอง มีชื่อ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง, ประธานกมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย มีชื่อ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์  และ ประธานกมธ.แรงงาน มีชื่อ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ 


พรรคพลังประชารัฐ 3 คณะ  เบื้องต้น ประธานกมธ.กีฬา มีชื่อ ปริญญา ฤกษ์หร่าย สส.กำแพงเพชร , ประธานกมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม มีชื่อ จักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์ ส่วน ประธาน กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ยังไม่เคาะ

ในโควตาประธานกมธ.ของพลังประชารัฐนั้น แบ่งเป็นสัดส่วนของแกนนำ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง และรอยืนยันในที่ประชุมพรรค 3 ตุลา นี้อีกครั้ง

พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คณะ คือ ประธานกมธ.อุตสาหกรรม มีชื่อ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี , ประธานกมธ.พลังงาน มีชื่อ วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี  

พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.”  จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

ส่วน กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ต้องแบ่งครึ่งกับ ก้าวไกล เบื้องต้น สัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ จองคิวไว้

พรรคประชาธิปัตย์ 2 คณะ ชัดเจนแล้ว คือ ประธานกมธ.การตำรวจ ส่ง ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช  และ  ประธานกมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา คือ ประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคิรีขันธ์ 

พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีชื่อ พาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม  ทว่าพรรคจะยืนยันเป็นทางการ 3 ต.ค. นี้

พรรคประชาชาติ ได้  กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  มีชื่อ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส นั่งประธาน

พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.”  จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

สำหรับบทบาทของ กมธ.แต่ละคณะ ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับการประชุมสภาฯ  กำหนดกรอบให้ “ศึกษา สอบหาข้อเท็จจริง” ตามเรื่อง หรือ ประเด็นที่ ชื่อกมธ.บ่งบอก

โดยในอดีต กมธ. มีบทบาทอย่างมากต่อการตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาล ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ชอบมาพากล  และหาก “กมธ.ใดที่ฝ่ายค้าน” เป็นหัวโต๊ะ มักจะเสาะแสวงหาความบกพร่องในการทำนโยบายรัฐ​ ข้อสั่งการที่มิชอบ เพื่อนำไปสู่การรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ-ลดความเชื่อถือและศรัทธาของรัฐมนตรี ในสายตาประชาชน

ขณะเดียวกัน กมธ. ยังเป็นเวทีที่มีบทบาท รับเรื่องร้องทุกข์ - ความเดือดร้อน ของประชาชนมาคลี่คลาย แม้บางเรื่อง การทำงานของ “กมธ.” จะไม่มีสิทธิแทรกแซง รัฐ-ราชการได้

ทว่า การมีผู้แทนประชาชน ลงไปเป็นปากเป็นเสียง ในรูปแบบของ “กรรมาธิการ” ย่อมมีเปอร์เซ็นต์ที่จะคลี่คลายปัญหาได้มากกว่า สวมบทบาท สส.ที่มีเพียงสังกัดพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดีในการทำงานของ “กมธ.” ในสภาฯ ชุดที่ 26 ยังต้องจับตาถึง “งบประมาณ” ที่จะนำมาใช้สอย ทั้ง การลงพื้นที่-การศึกษาดูงาน หลังจากที่ “งบประมาณปี2567” ไม่สามารถคลอดออกมาใช้ได้ตามกำหนดเวลา ดังนั้นจึงเป็นภาคบังคับที่ต้องใช้ งบค้างเก่าของปี2566  ไปพรางก่อน

ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาฯ กำหนดค่าใช้จ่ายของกมธ. ในปี 2566 ไว้ ที่ 367,790,400 บาท หรือเฉลี่ยคณะละ 10,508,297 บาท ซึ่งจะจำแนกเป็นรายการต่างๆ เป็น ค่าเบี้ยประชุม กมธ.  คณะละ 1.7 ล้านบาท, ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน คณะละ 2.4ล้านบาท, ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะของกมธ.  คณะละ 7แสนบาท, ค่าอาหารเลี้ยงรับรอง คณะละ 5แสนบาท, ค่าสนับสนุนการทำงาน 1.5ล้านบาท, ค่าจัดสัมมนา คณะละ  1.1 ล้านบาท, ค่ารับรองแขกต่างประเทศ  คณะละ 2 แสนบาท, ค่าเดินทางปฏิบัติงานในประเทศ คณะละ 9แสนบาท และ ค่าศึกษาดูงานต่างประเทศ คณะละ 1.4 ล้านบาท 

พรรคใหญ่ ไม่สะเด็ดน้ำ “ปธ.กมธ.”  จับตาตั้ง “กมธ.” สัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ในค่าใช้จ่ายยของกมธ.  หากไม่เพียงพอ สามารถถัวจ่ายในแผนงานยุทธศาสตร์พเื่อสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐได้ ยกเว้น ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน, ค่ารับรองการเดินทางในประเทศ และค่าดูงานในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี สภาฯชุดที่ 25 ซึ่งหมดวาระ เมื่อ 20 มี.ค.66  ตามปีงบประมาณ ยังพอมี “เงิน” ให้ กมธ. ของสภาฯ ชุดที่ 26 ทำหน้าที่ได้ ไปจนกว่าจะมี กฎหมายงบฯ67 บังคับใช้ ทว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังไม่เปิดเผยว่า แต่ละคณะนั้น มี “งบที่พอให้เหลือใช้ได้เท่าไร” 

ดังนั้น ยังมีประเด็นต้องจับตาต่อ หลังจากที่ มี ประธานกมธ. และกมธ. อย่างเป็นทางการแล้ว การวางแผนทำงาน ของกมธ.จะเป็นอย่างไร ภายใต้ “งบที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย”.