ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

ปัญหาของวงการตำรวจที่ดูเหมือนจะตั้งต้น “รากไส้ของปัญหา” เมื่อ 9ปีที่แล้ว แต่ปรากฎการณ์ของ “วงการสีกาสี” ที่มีส่วนร่วมกับ “มาเฟีย-เครือข่ายพนันออนไลน์” ทำให้เห็นชัดเจนว่า “ปัญหานั้นถูกรื้อไม่ได้จริง”

“องค์กรตำรวจ” ถูกเรียกร้องให้ปฏิรูปหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด หากองค์กรตำรวจอยู่ในครรลองที่ถูกต้อง จะสามารถเป็นความหวังให้กับประชาชนได้ แต่เมื่อไรที่เดินไปในทิศทางไม่ถูกต้อง มักจะส่งผลกระทบในภาพรวม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “สภาฯ” ตั้งประเด็น คุ้ยต้นตอ “ความฉาว” ในวงการตำรวจ ที่เปรียบเป็น ก้อนภูเขาน้ำแข็ง ที่เคลียร์-คัตได้แค่ยอดภูเขา การอภิปรายของสภาฯที่ผสมกับข้อเสนอแนะที่ ส่งผ่านไปยังรัฐบาลเหมือนยังพายเรืออยู่ในอ่าง

ย้อนกลับไปหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 การปฏิรูปตำรวจเป็นปัญหาแรกๆที่สังคมเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ในขณะนั้น ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม

โดยการปฏิรูปตำรวจผ่านกลไกที่เป็นทางการ ทั้งหมด 4 ชุด ในระดับสภา 2 ชุด ระดับ “รัฐบาล” 2 ชุด แม้จะเป็นกลไกที่มีการศึกษาต่างปี พ.ศ. ทว่าจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การรื้อโครงสร้างองค์กร ที่ยุคนั้น พบว่า “การเมืองแทรกแซง” อย่างหนัก

กรุงเทพธุรกิจขอพาไปย้อนผลการศึกษา ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2565

ในยุคของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายใต้ กรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตั้งต้นศึกษาการปฏิรูปกิจการตำรวจ ซึ่งเป็นวาระปฎิรูปลำดับที่ 6 โดยมี “ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์” อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ทั้งพลเรือน -นักกฎหมาย และ ตำรวจ เข้าร่วม เช่น “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น เริ่มลงมือศึกษาช่วงตุลาคม 2557

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

โดยมีรายงานที่นำเสนอต่อ “สภาสปท.” จำนวน 1 เล่ม ก่อนได้รับความเห็นชอบ ส่งถึง “รัฐบาลคสช.” รับไปพิจารณา

สาระสำคัญในตามรายงานการปฏิรูปกิจการตำรวจ พบว่าเน้นการจัดระเบียบองค์กรและโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ภารกิจ พร้อมกับเพิ่มการถ่วงดุลการใช้อำนาจ การริหารราชการ และการพัฒนาคุณภาพข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย

พร้อมกับตั้ง 5 ประเด็น เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจ คือ 1.ความเป็นอิสระในการบริหาร ปราศจากการเมืองแทรกแซง ซึ่งเป็นที่มาของการรื้อระบบแต่งตั้งนายตำรวจ ที่ต้องยึดหลักอาวุโส รวมถึงมีผลงานในระดับดี ผ่านเกณฑ์ประเมิน ขณะที่ “กรรมการข้าราชการตำรวจ” (ก.ตร.) และ “คณะกรรมการนโยบายตำรวจ (ก.ต.ช.) แยกส่วนการบริหารและกำกับด้านนโยบายที่ชัดเจน

ข้อเสนอของรายงาน ระบุชัดเจนว่า “ประธาน ก.ตร.” ต้องเป็นอดีต ตำรวจ ยศพล.ต.อ. ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยต้องผ่านการลงคะแนนเลือกจาก ข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับหรือเทียบเท่าขึ้นไป ขณะที่ กรรมการ ก.ตร. กำหนดสัดส่วนต้องมี “ตำรวจ” ในราชกการ 7 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คนและอดีตตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า 3 คนและมี เลขาธิการ ก.พ. ร่วมด้วย พร้อมกำหนดวาระ 2 ปี

ขณะที่ “ก.ต.ช.” นั้น รายงานเสนอ ให้เป็นฝ่ายกำกับ มี “นายกฯ” เป็นประธาน มีกรรมการอีก 10 คน อาทิ รมว.มหาดไทย, รมว.ยุติธรรม, ปลัดมหาดไทย, ปลัดยุติธรรม เป็นต้น

ซึ่งถือว่าเป็นการ “แยกบทบาท” ที่ชัดเจนและการแต่งตั้ง ข้าราชการตำรวจนั้น “ปลอดนักการเมืองแทรกแซง”

2.ปรับปรุงมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ป้องกันการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง จากระเบียบเดิม ใช้เกณฑ์ตัดสิน “ตามดุลยพินิจ” ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ตามเส้นสาย จึงถูกกำกับด้วย “หลักเกณฑ์” ว่า ที่ยึดความอาวุโส พ่วงกับ ความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.ปฏิรูปงานสอบสวน ผลที่ได้ บูรณาการงานสืบสวนเข้ากับงานสอบสวน  มุ่งอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อเสนอลงลึกถึงให้มี “ชุดสืบสวนในคดีอาญา” ทำหน้าที่สืบสวนเฉพาะคดีที่เกิดเหตุ (หลังเกิดเหตุ) เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานให้ทราบตัวผู้กระทำผิดและติดตามการจับกุมผู้ทำผิดมาดำเนินคดี

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

4.ถ่ายโอนภารกิจเพื่อแบ่งเบาภาระ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ สตช. โดยมีข้อเสนอให้ โอนถ่าย 7 ภารกิจ ประกอบด้วย

- การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านจราจรไปให้ กทม. เมืองพัทยา หรือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม

- งานปราบปรามความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปยังกระทรวงทรัพย์ฯ

- ภารกิจด้านงานท่องเที่ยว ไปให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

- ภารกิจอำนวยความสะดวกและการบริหารจัดการจราจรพื้นที่ทางหลวง ไปให้ กระทรวงคมนาคม

- ภารกิจอำนวยความปลอดภัยและความสะดวกบนรถไฟ ไปให้ รฟท.

- ภารกิจปราบปรามและป้องกันกการทำผิดและรักษาความสงบในเขตน่านน้ำไทย (ตำรวจน้ำ) ให้กระทรวงคมนาคม

และ - การตรวจคนเข้าเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศ

5.เรื่องอื่นๆ การมีส่วนร่วมของประชาชน ถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจ การตรวจสอบ และพัฒนาระบบงบประมาณ มีข้อเสนอเชิงรูปธรรม คือ ให้ตั้ง “กต.ตร.” หรือ คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ที่มีประชาชนมีบทบาทตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ “วาระปฏิรูปตำรวจ” ชุดประเดิมที่ได้ทำรายงานศึกษามา ตั้งเป้าผลลัพธ์ไว้สำคัญ คือ ปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง-ขจัดการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนสูงสุด ขณะเดียวกันประชาชนมีส่วนตรวจสอบการทำงาน ที่นำไปสู่การทำงานที่โปร่งใส

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

ทว่า ผลงานปฏิรูปตำรวจของ “สปช.” ไม่ถูกนำไปปฏิบัติทันที เนื่องจากต้องสะดุด เพราะ “แทคติก” ทางรัฐธรรมนูญ ที่วางกรอบ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” (กมธ.) ไม่ได้รับความเห็นชอบ “สปช.” ต้องล้มสภาสปช. และตั้งใหม่ เป็น “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.)

 

การปฏิรูปตำรวจยังคงเป็นวาระที่ถูกรับงาน -สานต่อ ภายใต้คณะศึกษาที่มี “เข็มชัย ชุติวงศ์” ทำหน้าที่หัวโต๊ะโดยหยิบรายงานจาก “สปช.” มาพิจารณา ก่อนจะยำใหญ่ เป็น “แผนงานปฏิรูป” ขีดเส้นให้สตช.ออกมาตรการกำกับตัวเอง เช่น ระเบียบต่างๆ ให้ได้ ภายใน 6 เดือน

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง เมื่อรายงาน “ไทม์ไลน์ปฏิรูปตำรวจ” ถูกเสนอไปยัง “ทำเนียบรัฐบาล” พบว่า “ประยุทธ์” ได้ใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการมาพิจารณา พร้อมตั้ง “อดีตนายทหาร” ขึ้นมาคุมงานปฏิรูปตำรวจ คือ “พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” พ่วงกับ ตำรวจ-อดีตข้าราชการตำรวจ-นักวิชาการด้านกฎหมาย

โดยกระบวนการทำงานนั้นพบว่าได้นำ “รายงานปฏิรูปตำรวจชุดประเดิม” มาพิจารณา ประกอบกับชุด “สปท.” ใช้เวลาทำงาน 9 เดือน สรุปงานเป็นร่างกฎหมาย เพื่อหวังให้เกิดการรื้อระบบตำรวจ ที่ถูกมองว่าเป็นหลุมขยะที่มีพรมชั้นดีปูทับ

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

สำหรับข้อเสนอบางส่วน ว่าด้วยการ ทำกฎหมาย ได้ถูกส่งต่อไปยัง “กฤษฎีกา” ให้พิจารณาเป็นข้อศึกษาเบื้องต้นเพื่อเตรียมพร้อม

ทว่าเมื่อรายงานฉบับ “บุญสร้าง” เสนอต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว กลับพบว่า ได้ชงให้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่มี “เข็มชัย ชุติวงศ์” เป็นประธาน ผลิตแผนปฏิรูป 1 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรื้อระบบและโครงสร้างของตำรวจ รวมถึงเสนอให้ปรับปรุงร่างกฎหมายหลายฉบับ คลอบคลุมทั้งกระบวนการ สตช. การพัฒนาองค์กร และระบบยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิ

แต่ต่อมา รายงานที่เสนอเป็นแผนปฏิบัติการ ถูกส่งกลับมายัง “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งมีผลศึกษาเชิงประจักษ์ว่า “ปฏิรูปตำรวจ” ต้องออกเป็นกฎหมายเฉพาะ ทำให้ “ครม. มีมติ 3 เม.ย.61” ตั้ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นหัวหน้าคณะพิจารณาร่างกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศสด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)

โดยผลิตผลออกมาเป็นการเสนอร่างกฎหมายเพื่อรื้อโครงสร้าง และมีกฎหมายฉบับสำคัญที่ผลักดันได้สำเร็จ คือ “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 16 ต.ค.65 และบังคับใช้มาเกือบ 1 ปี

ชำแหละ 9 ปี “ปฏิรูปตำรวจ” ผลักดัน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 รื้อโครงสร้าง

ทว่า “กฎหมายตำรวจ” กลับต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรค จากคนใน “องค์กรตำรวจ” เสียเองที่ไม่อยากให้ใครไปปฏิรูป ทำให้ “กฎหมายตำรวจ” กลายเป็นปรากฎการณ์​ “ลูบเบาๆ” เท่านั้น ไม่ได้ให้ลึกถึงแก่นแท้ของปัญหา

ปัญหาของวงการตำรวจที่ดูเหมือนจะตั้งต้น “รากไส้ของปัญหา” เพื่อแก้ไข แต่ปรากฎการณ์ของ “วงการสีกาสี” ที่มีส่วนร่วมกับ “มาเฟีย-นักพนัน” ทำให้เห็นชัดเจนว่า “ปัญหานั้นถูกรื้อไม่ได้จริง”

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ กรณีการตั้ง “กต.ตร.” ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถ่วงดุล การใช้อำนาจของตำรวจ กลับพบว่าเป็นเวทีนัดชุมนุมของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ให้พบกับ “ตำรวจ” และได้ทำความรู้จัก จนมีการสานประโยชน์

ขณะเดียวกันกรณีของความปราบการวิ่งเต้น-ซื้อขายตำแหน่ง ที่เกิดผลลัพท์คือ “ตำรวจรีดไถ-เก็บส่วย” แต่ข้อเท็จจริง ในวงการสีกากี มักหลับหูหลับตาละเว้นให้กันและกัน เพราะคำว่า “เงิน” ที่ได้มีค่ามากกว่า “ศักดิศรี” และ “ดาวประดับบนบ่า”

ถือว่าการปฏิรูปตำรวจ ตลอด 9 ปีที่พยายามทำให้องค์กรดีขึ้น เข้าข่ายล้มเหลวไม่เป็นท่า.