'ปดิพัทธ์' เผย 'รัฐสภาใหม่' ยังไม่ตรวจรับ100%
"รองปธ.สภาฯคนที่หนึ่ง" เผย "รัฐสภาใหม่" ยังไม่ตรวจรับ 100% หลัง อดีตเลขาสภาฯ ไม่เคลียร์ปมปัญหา มั่นใจตรวจรับไม่สะดุด
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง แถลงถึงความคืบหน้าการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ 100% ว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ฐานะผู้รับจ้างโครงการยังไม่ได้ลงนามรับงาน 100% ซึ่งต้องติดตามจาก ว่าที่ ร.ต.ต. อาพัทธ์ สุขะนันนท์ รองเลขาธิการสภาฯ ฐานะรักษาการเลขาธิการสภาฯ พิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร สำหรับประเด็นที่เป็นข้อบกพร่องที่ไม่อาจตรวจรับงานได้รวม 6 จุดนั้น พบว่า นางพรพิศ เพชรเจริญ อดีตเลขาธิการสภาฯ ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว เพราะในรายละเอียดสามารถดำเนินการได้ ทั้งการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง หรือ ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้แก้ไขให้ถูกต้อง อย่างไรก็ดีนอกจากประเด็นงานก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบนั้น ยังพบประเด็นอื่นๆ เช่น ความปลอดภัย โครงสร้างวิศวกกรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงความสวยงาม ที่ต้องใช้เหตุผล หากจะยึดให้สมบูรณ์ตามที่ออกแบบเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคงไม่ได้ ส่วนการตรวจรับงาน 100% จะเกิดขึ้นช่วงใดนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจการจ้างจะพิจารณา ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจการจ้างยังเป็นคณะทำงานชุดเดิม
นายปดิพัทธ์ แถลงด้วยว่าจากการติดตามข้อมูลพบว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และอาคารประกอบ ได้ลงนามสัญญา เมื่อ 7 มิ.ย. 56 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน คือ 24 พ.ย. 58 แต่จากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้ต้องขยายสัญญาจำนวน 4 ครั้ง รวมระยะเวลาที่ขยาย คือ 1,864 วัน โดยไม่คิดค่าปรับ และสัญญาที่ขยายนั้นจะสิ้นสุด 31 ธ.ค. 63 เมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ทันตามกำหนด 1 ม.ค. 64 จนถึง 18 ก.ย. 66 ได้รับข้อมูลพบว่ามี ระยะก่อสร้างล่าช้า รวม 990 วัน ซึ่งต้องคิดค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ผู้รับจ้างขอใช้สิทธิ์คิดค่าปรับเป็นศูนย์ ใน 2 เหตุผล คือ 1. มาตรการที่มติคณะรัฐมนตรีให้เยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการช่วงแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 827 วัน โดยสำนักงานเลขาธิการได้นำมาปรับใช้และแก้ไขสัญญาแล้ว รวมเป็นมูลค่า กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท และ 2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังจากรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเสนอให้ปรับลด หรืองดค่าปรับรวม 150 วัน แต่ไม่ทราบว่าแก้ไขสัญญาการก่อร้างหรือไม่ ไหากแก้ไขแล้วจะมีมูลค่ารวม 1,182 ล้านบาท
“หลังจากนี้ต้องติดตามจากรักษาการเลขาธิการสภา ต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกระบวนการตรวจรับงานจะไม่สะดุดเพราะกรรมการตรวจรับยังเป็นชุดเดิม และอำนาจของรักษาการเลขาธิการสภาฯ สามารถเดินหน้าได้ ทั้งนี้ผมไม่ใช่คนมีอำนาจลงนามรับ เพราะเป็นหน้าที่ของ ผู้จ้าง คือ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ และผู้รับจ้าง ทั้งนี้ผมอยากให้การตรวจรับเป็นไปโดยเร็ว เพื่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ใช้ประโยชน์กับอาคารเต็มศักยภาพ ขับเคลื่อนมีรัฐสภาโปร่งใสต้องเริ่มจากเรื่องดังกล่าว” นายปดิพัทธ์ กล่าว.