’มาดามเดียร์‘ แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นนทท. หลังเหตุยิงที่พารากอน

’มาดามเดียร์‘ แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นนทท. หลังเหตุยิงที่พารากอน

’มาดามเดียร์‘ แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ นทท. หลังเหตุการณ์ยิงที่พารากอน

น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เดียร์ วทันยา บุนนาค’ และทวิตเตอร์ @dearwatanya ถึงแนวทางที่รัฐบาลควรปฏิบัติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว หลังเหตุการณ์ยิงที่สยามพารากอน โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ในภาวะที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลควรจัดการเหตุยิง #พารากอน อย่างไรเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา?!?!

ข้อแรก ต้องประกาศ #กวาดล้างปืนเถื่อน และบังคับใช้กฎหมายครอบครองอาวุธปืนให้เข้มงวด

จากสถิติพบว่าประเทศไทยถือครองปืนมากที่สุดในอาเซียน และมีปืนเถื่อนอยู่กว่า 4 ล้านกระบอก แม้จะมี พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่กำหนดโทษการครอบครองปืนเถื่อนไว้ทั้งจำคุก 1-10 ปีและปรับ 2,000-20,000 บาท แต่ยังขาดการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ถ้ารัฐบาลประกาศกวาดล้างปืนเถื่อนให้สิ้นซากภายในระยะเวลาเร่งด่วน เช่น 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาไทยได้มากขึ้น

 

ข้อสอง ช่องว่างกฎหมาย #แบลงค์กัน คือสิ่งเทียมอาวุธ-อาวุธโดยสภาพ  

ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไม่ถือว่า Blank Gun เป็นอาวุธปืน การซื้อและครอบครองจึงไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้นแต่การสั่งนำเข้าหรือจำหน่ายที่ต้องขอใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ แม้ฝ่ายตำรวจจะคัดค้านมาตลอด  เพราะ Blank Gun ยิงด้วยกระสุนจริง เพียงแต่ไม่มีหัวกระสุน แต่เมื่อแยกชิ้นส่วนแล้ว มันก็คือกระสุน และผิดกฎหมายทุกชิ้นส่วน ยิ่งไปกว่านั้น หากมีคนมีความรู้เรื่องอาวุธปืน ก็สามารถใช้ Blank Gun ยิงทำร้ายคนอื่นได้ โดยไม่ต้องโมดิฟายลำกล้อง ทั้งยังเคยมีผู้ใช้ Blank Gun ก่อคดีมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดียิงที่ห้างสยามพารากอน หรือคดีที่เกิดในพื้นที่นครบาล 2 คดี ปทุมธานี 1 คดี และมีประมาณการว่าในตลาดปืนมี Blank Gun เป็นแสนกระบอก กระสุนน่าจะเป็นล้านนัด ดังนั้นที่กฎหมายระบุว่า สิ่งเทียมอาวุธปืน ครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จะผิดก็ต่อเมื่อถูกนำมาใช้เสมือนเป็นอาวุธปืนจริงๆ จึงกลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย เช่นเดียวกับมีด ที่ถูกนิยามว่าเป็น “อาวุธโดยสภาพ” ที่ต้องใช้การควบคุมกันเอง และสุดท้ายผู้ที่มีเจตนาใช้ความรุนแรง อาจหันไปใช้อาวุธโดยสภาพก่อเหตุแทนก็เป็นได้

ข้อสาม #MediaLiteracy สิ่งจำเป็นในหลักสูตรการศึกษาไทย

การศึกษาไทยควรบรรจุการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ แยกแยะ ก่อนใช้งาน หรือก่อนจะตกเป็นเหยื่อในโลกอินเตอร์เน็ต เพราะในเคส #พารากอน หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่าอาจจะเกิดการลอกเลียนแบบความรุนแรงในมุมผู้ก่อเหตุ ในมุมประชาชนทั่วไป เราเห็นการใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นอันตราย เช่น การโพสต์บอกที่หลบภัย การสร้างคอนเทนต์เรียกยอดวิวในสถานการณ์อันตราย หรือแม้กระทั่งการเผยแพร่รูปที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเด็ก หรือแชร์รูปผู้เสียชีวิตโดยที่ไม่มีการเซนเซอร์ ซึ่งนำมาสู่การกระทำผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ และ PDPA และความเสียหายในระดับชาติ เป็นต้น ซึ่งในยุคดิจิทัล ความรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่คนไทยและเด็กไทยต้องตระหนัก

 

ทั้งหมดนี้คือการเตรียมความพร้อมของสังคมในระยะยาวและการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาในระยะเร่งด่วนที่หวังว่าผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นความสำคัญ และลงมือทำก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้”

 

https://www.facebook.com/100044178982009/posts/pfbid0vZc1sz7L16uRMcN5U3SCUUQqQzWEBRBCHeNsnvrAULB19xspTEdsV9xp7JBChcJPl/?mibextid=cr9u03

 

https://x.com/dearwatanya/status/1709862005375651954?s=46&t=gaTg6R-zosHUjnqwiMC4lg