กลยุทธ์‘บ้านใหญ่สีน้ำเงิน’ การเมืองแบบ‘วิน-วิน’
สัญญาณ "ค่ายสีน้ำเงิน" อ่านเกมยาวข้ามชอต"ยิงกระสุน" ฝ่ากระแส “หากที่หนึ่งไม่ไหว ขอเต็มใจเป็นที่สอง” เพื่อสร้างแต้มต่อรองการเมืองแบบวิน-วิน ครับนาย!!
“จำนวนของสมาชิกพรรคในแต่ละพรรคในสภาผู้แทนราษฎรอัตราส่วนในขณะนี้ก็มีความเหมาะสมอยู่แล้ว นอกเสียจากว่ามีความจำเป็อย่างยิ่งยวด ตั้งใจที่จะมีความเชื่อมั่นใจพรรคการเมืองพรรคอื่น ก็คงต้องมาคุยกันเมื่อถึงเวลาอันควร แต่คงไม่ใช่ตอนนี้”
“เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามนักข่าว ถึงเป้าหมายในการเลือกตั้งรอบหน้า พูดไปถึงข่าวคราวการย้ายพรรคของบรรดาส.ส.ซึ่งช่วงที่ผ่านมาปรากฎกระแสแรงกระเพื่อมต่างค่าย จนมิวายจะมีการจับตามาที่ “ภูมิใจไทย” ที่อาจจะเป็นเป้าหมายหลักของบรรดาส.ส.เหล่านั้น
ถอดคำให้สัมภาษณ์ “อนุทิน” สื่อว่า ประตูหน้าต่างค่ายสีน้ำเงิน ยามนี้จะยังไม่เปิดต้อนรับ แต่ก็ยังไม่ถึงกับปิดสนิทเสียทีเดียว กลับกันจังหวะก้าวย่างที่เกิดขึ้นกลับมีการมองเกมยาวไปถึงการเลือกตั้งรอบหน้าเสียมากกว่า
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “หัวหน้าหนู” หอบลูกพรรคเยือนถิ่นเซาะกราว บ้านเกิด “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ อบรมสัมมนาเพื่อเป็นการปฐมนิเทศส.ส. และสมาชิกพรรคที่ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง
การเลือกจ.บุรีรัมย์ เป็นจุดนัดรวมพลปฐมนิเทศสส.เป็นครั้งแรก หลังการเมือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายอะไร อย่างที่รู้กันนอกเหนือจากบุรีรัมย์จะเป็นบ้านเกิด“ครูใหญ่”เนวิน แล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็น“เมืองหลวงค่ายสีน้ำเงิน” โดยการเลือกตั้งรอบล่าสุดเมื่อวันที่14พ.ค.2566 ภูมิใจไทยปักธงแลนด์สไลด์ยกจังหวัด
อีกทั้งการเลือกสัมมนาสส.วันดังกล่าวก็เพื่อที่จะลูกพรรคสีน้ำเงินใช้โอกาสนี้เบิร์ดเดย์ย้อนหลัง “พ่อใหญ่เนวิน” ผู้นำทางจิตวิญญาณสีน้ำเงินซึ่งครบ65กระรัตไปเมื่อวันที่4ต.ค.ที่ผ่านมา รูปแบบงานปีนี้เป็นการเบิร์ดเดย์เป็นการภายในไม่เปิดโอกาสให้สื่อทำข่าวเหมือนปีที่แล้ว
พูดถึงวันเกิดเนวิน ก็อดไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปเมื่อวันคล้ายวันเกิดเมื่อปีที่แล้ว เมื่อวันที่4ต.ค.2565 หรือปีที่แล้ว ที่มีการจัดงานวันเกิดครบรอบ64ปี ที่ลานศิวะ12จ.บุรีรัมย์ พร้อมไม่มีพิธีปะกำช้างแบบยิ่งใหญ่ และเป็นครั้งแรกในรอบ10ปี ที่ “พ่อใหญ่เนวิน” เชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวอย่างเป็นทางการหลัง ประกาศยุติบทบาททางการเมือง
อย่างที่รู้กันการเมืองยามนั้นกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการ “เปลี่ยนผ่านอำนาจ” ตอกย้ำด้วยการเปิดตัว “28สส.” ค่ายน้อยใหญ่ที่ย้ายซบ “ค่ายสีน้ำเงิน”
เท้าความอีกนิดวันดังกล่าว “เนวิน” ยังประกาศเป็นตัวครูใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน พร้อมอวยพรรคลูกพรรคสีนำเงิน กำชัยคว้าส.ส.ให้ได้อย่างน้อย120คน
ทว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่14พ.ค.2566 ภูมิใจไทยได้สส. 71 ที่นั่ง แบ่งเป็นสส.เขต 68 ที่นั่ง และสส.บัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่ง เทียบกับผลเลือกตั้งเมื่อปี2562 เวลานั้น ภูมิใจไทยได้สส.51ที่นั่ง แบ่งเป็น สส.เขต39 คนปาร์ตี้ลิสต์ 12คน
เทียบให้เห็นชัดๆ แน่นอนว่าในส่วนของสส.เขตได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำมากว่าเดิมถึง 32 ที่นั่ง ย่อมทำให้ “บิ๊กสีน้ำเงิน” พอใจอยู่ไม่น้อย
สวนทางกับสส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่หล่นวูบแบบน่าใจหายเหลือเพียง3ที่นั่ง สาเหตุใหญ่ๆมาจากกติกาบัตร2ใบ ทำให้คะแนนที่นำมาคำนวณปาร์ตี้ลิสต์อยู่ที่ 1,136,565 ล้านคะแนน จากปี2562 ที่ใช้บัตรใบเดียว นำทุกคะแนนมาคิดปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งภูมิใจไทยได้คะแนน ป๊อปปูล่า โหวต 3,734,459 คะแนน
อีกส่วนมาจากกระแส"แดง-ส้ม" ที่รุกขยายฐานเดียวกัน จุดนี้เองที่อาจทำให้คะแนนภูมิใจไทยไหลไปอยู่ที่คะแนนเขตเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไหลไปอยู่ที่พรรคคู่แข่ง ตอกย้ำชัดที่10เขตบุรีรัมย์ “เมืองหลวงสีน้ำเงิน” ที่ถูก “แดง-ส้ม” ปกคลุมทุกเขต
ฉะนั้นการเลือกตั้งสมัยหน้า“ค่ายสีน้ำเงิน” จึงมีกระดูกชิ้นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ที่ขยายฐานเสียงในเขตภูธร หรือแม้แต่ค่ายเพื่อไทยที่เวลานี้อยู่ในสถานะ“พรรคร่วมรัฐบาล” แต่เมื่อถึงเวลาจริงเชื่อได้เลยว่า การเมืองกลับสู้โหมดของการต่อสู้-ชิงชัยอีกครั้งแน่นอน
เมื่อจุดยุทธศาสตร์ของภูมิใจไทยอยู่ที่ส.ส.เขต นอกเหนือจากส.ส.เดิมที่มีอยู่ที่ค้องรักษาไว้ให้ได้ ต้องจับตาไปที่กลุ่ม “ข้าราชการการเมือง” ซึ่งเป็นเสมือนเก้าอี้ปลอบใจ และทดลองงาน ของนัการเมือง2กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรก คือกลุ่มบ้านใหญ่ และ กลุ่มที่2คือกลุ่มที่ได้ลำดับ2ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หวังผลไปที่การนำโครงการต่างๆไปลงในแต่ละพื้นที่
เจาะรายกระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ทั้ง สมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ อดีตส.ส.สุโขทัย ลูกชายของสมชาติ ลิมปะพันธุ์ อดีตนายกฯเล็กเมืองสวรรคโลก รอบที่ผ่านมาได้ที่2 เสียแชมป์ ให้กับ ประภาพร ทองปากน้ำ ลูกสาว "ประศาสตร์ ทองปากน้ำ" อดีตส.ส.สุโขทัย จากพรรคเพื่อไทยในสังกัดสมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งตำแหน่ง "ที่ปรึกษารมว.มหาดไทย"
ถัดมา “กวาง” ไตรสุลี ไตรสรณกุล ลูกสาว “วิชิต ไตรสรณกุล” นายกอบจ. “บ้านใหญ่ศรีสะเกษ” รอบที่แล้วเจอพิษปาร์ตี้ลิสต์พลาดเป้าแม้จะอยู่ลำดับปลอดภัยแต่ชวดเป็นส.ส. ได้รับปลอบใจในตำแหน่ง “เลขานุการรมว.มหาดไทย”
ขณะที่อีกหนึ่งทายาทบ้านใหญ่คือ “โต้ง” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ รอบที่ผ่านมาได้คะแนนที่2แพ้ “เสี่ยนาย” ธเนศ เครือรัตน์ อดีตส.ส.และประธานสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ จากพรรคเพื่อไทย หมดลุ้นนั่งรัฐมนตรี ได้รับรางวัลปลอบใจเป็น “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” พ่วง “โฆษกกระทรวงแรงงาน”
กระทรวงแรงงาน อาทิ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตส.ส.ตาก รอบที่ที่ผ่านมาแพ้พรรคก้าวไกล ได้คะแนนมาเป็นลำดับ2 ปลอบใจด้วยตำแหน่ง “ที่ปรึกษารมว.แรงงาน”
กระทรวงศึกษาธิการ อาทิ “เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์” รอบที่ผ่านมาลงสู้ศึกเขต7อุบลราชธานี แต่ได้ที่2 แพ้ “สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ” ลูกสาว “เฮียกุ่ย” ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ จากพรรคเพื่อไทย ไป3,000 คะแนน ปลอบใจด้วยตำแหน่ง “ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ”
“วิศรุต ปู่เพ็ง” อดีตสจ.ขอนแก่น รอบที่ผ่านมาสู้ศึกเขต6 ขอนแก่นแพ้ "สิงหภณ ดีนาง" แชมป์จากพรรคเพื่อไทย แบบน่าเสียดายไปเพียง74 คะแนน ปลอบใจด้วยตำแหน่ง“ที่ปรึกษารมช.ศึกษาธิการ”
“นพ ชีวานันท์” อดีตส.ส.พระนครศรีอยุธยาเขต2 ลูกชาย “พ้อง ชีวานันท์” อดีตรมช.คมนาคม รอบที่ผ่านมาย้ายจากพรรคเพื่อไทยสังกัดภูมิใจไทย ภายใต้การสนับสนุนของบ้านใหญ่ “พันธ์เจริญวรกุล” แห่งเมืองกรุงเก่า ได้คะแนนอันดับ2แพ้ "ชริน วงศ์พันธ์เที่ยง" พรรคก้าวไกลไปเพียง1พันกว่าคะแนน ได้รับปลอบใจด้วยตำแหน่ง “เลขานุการรมว.ศึกษาธิการ”
หรือแม้แต่ “คารม พลพรกลาง” อดีตทนายเสื้อแดง ที่ถูกปรามาสว่าเป็น “งูเห่าสีส้ม” รอบที่ผ่านมาได้ได้ที่2ในสนามร้อยเอ็ดเขต6 แพ้ “กิตติ สมทรัพย์” แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย ได้รับปูนบำเน็จด้วย “รองโฆษกรัฐบาล”
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ แม้“คอการเมือง” บางสำนักจะประเมินว่า รัฐบาลเศรษฐาจะอยู่ยาว เผลอๆอาจครบเทอม
แต่ด้วยบทเรียน “ภูมิใจไทย” ซ้ำรอบหน้ายังคงต้องเจอกระดูกชิ้นใหญ่ ทั้งกระแส “ส้มรักพ่อ” และ “แดงรักแม่” แล้ว แน่นอนว่า “บิ๊กสีน้ำเงิน” จำต้องเตรียมแผนตั้งรับด้วยการ “ยิงกระสุน” เพื่อ “ฝ่ากระแส” ฉะนั้นทั้งการตั้งตำแหน่งข้าราชการการเมือง รวมถึงยุทธศาสต์ต่างๆที่เกิดขึ้นในค่ายสีน้ำเงินเวลานี้ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าแทบทั้งสิ้น
โดยเฉพาะกลยุทธ์ “หากที่หนึ่งไม่ไหว ขอเต็มใจเป็นที่สอง” เพื่อสร้างแต้มต่อรองการเมืองแบบวิน-วิน ครับนาย!!