สมศักดิ์ หารือ 'ปธ.ศาลฎีกา' ชง ตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด หนุน ยึดทรัพย์เร็ว
"สมศักดิ์" เข้าพบแสดงความยินดี "ประธานศาลฎีกา" คนใหม่ ถือโอกาสหารือแนวทางพิจารณาคดียาเสพติด หวัง ยกระดับ แยกคดีเป็นศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด หนุน การยึดทรัพย์เครือข่ายรวดเร็ว พร้อมดันผ่านกฎหมาย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบ นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกาโดยมีนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายเรืองศักดิ์ สุวารี ว่าที่อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายอุทัย สินมา อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด และ นายกิตติกร โล่ห์สุนทรรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เข้าร่วมที่ศาลฎีกา เพื่อร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกา
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนางอโนชา เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งตนขอให้งานที่ตั้งใจขับเคลื่อนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยการที่ตนพร้อมคณะ มาเข้าพบในวันนี้ เพราะต้องการขอปรึกษาหารือถึงแนวทางการพิจารณาคดียาเสพติด เนื่องจากปัจจุบันผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 85% เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ตนจึงอยากให้ช่วยยกระดับให้คดียาเสพติด เป็นคดีสำคัญ ซึ่งถ้าท่านประธานศาลฎีกาจะกรุณาแยกคดีเป็นศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้รัฐบาล แก้ปัญหายาเสพติดได้คล่องตัวขึ้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ได้เน้นการยึดอายัดทรัพย์ของเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ดังนั้น ถ้ามีการแยกคดี และพิจารณาด้วยความรวดเร็ว ก็จะสามารถยึดอายัดทรัพย์ของผู้กระทำผิดไว้ได้ทัน ไม่เปิดโอกาสให้มีการโยกย้ายทรัพย์หนี รวมถึงกฎหมายยาเสพติดใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งต้องมีการขยายผลคิดตามมูลค่าValue-based หรือ คำนวณทรัพย์ตามความผิดที่เคยกระทำทั้งหมด โดยจะเป็นการช่วยตัดวงจรการค้ายาเสพติดได้ ตนมองว่าเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดแบบถึงแก่นแกน เพราะก่อนตนขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในแต่ละปีอายัดได้ไม่เกิน 900 ล้านบาท และยึดทรัพย์ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทแต่หลังตนเข้ามาขับเคลื่อน ก็สามารถยึดอายัดปีสุดท้ายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะมูลค่ายาเสพติด สูงถึง 2 ล้านล้านบาท ตนจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และขอยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนในเรื่องกฎหมายในการผลักดันเป็นศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด
ขณะที่ นางอโนชา กล่าวว่า คดียาเสพติด ไม่ว่าศาลใด ก็ให้ความสำคัญ เพราะเป็นคดีส่วนใหญ่ของเรา ดังนั้น จึงมีการคิดว่า ต้องเตรียมความพร้อมรับคดีเหล่านี้ โดยเพื่อความรอบคอบ ตนมองว่า ควรมีแผนกคดียาเสพติด เพราะการมีแผนกคดียาเสพติด จะเป็นการรวบรวมผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องยาเสพติดทั้งหมด มาอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะสามารถช่วยกันปรึกษาหารือในคำพิพากษาได้ โดยจะทำให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ซึ่งการตั้งแผนกคดียาเสพติดไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเป็นเรื่องภายใน ส่วนแนวคิดการแยกคดียาเสพติด เป็นศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด เมื่อตนได้ยินจากรองนายกรัฐมนตรีเสนอ ก็รู้สึกดีใจ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติด้วย