'นิกร' เผยปฏิทินเดินสายพบ 'สส.-สว.' จ่อชง 'ร่างคำถามประชามติ' ให้รัฐสภาดู
"นิกร" วางกำหนดฟังความเห็น สว.-สส.-ก้าวไกล ชงร่างคำถามประชามติ ให้ รัฐสภาพิจารณา จ่อเดินสายทำเวที4ภาค มองญัตติก้าวไกลไม่ผ่านสภา เพราะไม่เป็นกลาง
นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย ถึงการเดินสายพบปะตัวแทนกลุ่มต่างๆ ว่า ในวันที่ 30 ต.ค. จะหารือกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. เป็นประธาน ต่อจากนั้น วันที่ 2 พ.ย. เวลา 13.00 น. จะหารือกับ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน เบื้องต้นกรอบการหารือ คือ ให้ตั้งคำถามก่อนนำไปถามสว. และ สส. ทุกคน เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ลงมติ นอกจากนั้นวันที่ 14 พ.ย. จะเข้าพบกับแกนนำของพรรคก้าวไกลเพื่อขอความเห็นและถือเป็นการขอความร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญในชั้นของรัฐสภาหากผลการทำประชามติผ่าน
นายนิกร กล่าวด้วยว่าขณะที่ตัวแทนประชาชน มีกำหนดคือ วันที่ 8 พ.ย. จะหารือกับตัวแทนภาคประชาชน นักเรียน นักศึกษาตัวแทนคนรุ่นใหม่ และวันที่ 10 พ.ย. จะฟังความเห็นจากสมัชชาประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ไอลอว์ รวมถึงทหาร และตำรวจ ก่อนจะเดินสายสอบถามประชาชนใน 4 ภูมิภาค โดยกรอบที่จะรับฟังความเห็น จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ รวมถึงจำนวนในการทำประชามติกี่ครั้ง ขณะที่ความเห็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่มา ของส.ส.ร. อนุกรรมการอาจจะรับข้อเสนอได้ แต่ไม่มีหน้าที่พิจารณา เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ กมธ.ที่รัฐสภาจะตั้งขึ้น
นายนิกร กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่สภาฯ พิจารณาญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอขอให้สภาฯ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำการออกเสียงประชามติถามประชาชนต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ตนมองว่าเหตุผลที่ไม่ผ่านเพราะมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนของกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และความกังวลของการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นกลาง
“คำถามที่เกิดขึ้นการแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นแค่ไหน แม้จะเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศไว้ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องทำให้ประชาชนทราบรายละเอียด เหมือนการแก้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรอบการทำงานคาดว่าจะสรุปกลางเดือนธันวาคม 2566 ก่อนจะเสนอให้กรรมการชุดใหญ่พิจารณา คาดว่าปลายปี 2566 จะเสนอให้รัฐบาล ได้ว่ามีกี่คำถาม จากนั้นช่วงต้นปี 2567 จะขับเคลื่อนการทำประชามติได้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี2567” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการทำประชามติที่จะใช้งบประมาณจำนวนมาก นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอาจใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ต้องหารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เบื้องต้นต้องทำจำนวนน้อยครั้งแต่ต้องประสบความสำเร็จ โดยแน่นอนว่าการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกกตั้ง ต้องดำเนินการเป็นครั้งแรก.