'เรือดำน้ำมือสอง' ทางออก ทร. รื้อจีทูจีซื้อ 'เรือฟริเกต' ไม่ง่าย

'เรือดำน้ำมือสอง' ทางออก ทร. รื้อจีทูจีซื้อ 'เรือฟริเกต' ไม่ง่าย

คนในกองทัพเรือ เห็นไม่ตรงกันในการปรับแก้สัญญาจีทูจี บางส่วนมองว่าขึ้นอยู่กับเจรจา แต่อีกส่วนเห็นว่า ต้องยกเลิกโครงการ "เรือดำน้ำก่อน" เรียกเงินพร้อมค่าปรับไม่เกิน 10% คืนงบ ก่อนตั้งโครงการใหม่ "เรือฟริเกต"

อาวุธที่ต่อกร "เรือดำน้ำ" ได้ดีที่สุดคือ "เรือดำน้ำ" เพราะการตรวจจับเรือดำน้ำที่รุกล้ำเข้ามา ด้วยเรือผิวน้ำหรืออากาศยาน "กองทัพเรือ" ต้องระดมทรัพยากร 10 เท่า หรือ 1 กองเรือ ประกอบด้วย เรือฟริเกต  3-4 ลำ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ ลำละ 2 เครื่อง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจพบ ด้วยคุณลักษณะการซ่อนพรางตัวเอง

อีกทั้งการพัฒนากำลังทางรบของกองทัพเรือต้องเป็นไปในลักษณะที่สมดุล  ระหว่าง ขีดความสามารถเชิงรุกและขีดความสามารถเชิงรับ เรือดำน้ำ คือ คำตอบที่จะใช้เป็นเครื่องมือใช้ในการป้องปราม  ด้วยหลักการที่  การคงไว้ซึ่งการไม่ถูกตรวจจับ ตลอดห้วงการปฏิบัติการในทะเล  ส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อฝ่ายตรงข้ามว่า  ยังคงมีภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา

กองทัพเรือ ยังยืนยันถึงความจำเป็นของ เรือดำน้ำ ตามความต้องการเดิม ที่ ผบ.ทร.คนก่อน พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึง "สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม มีเนื้อหาสำคัญ กองทัพเรือยอมรับเครื่องยนต์จีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำไทย แต่ให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องความมั่นคงและความเชื่อมั่น

ซึ่งในมุมของรัฐบาลพลเรือนอย่าง "พรรคเพื่อไทย" ที่แสดงจุดยืนตั้งแต่เป็นฝ่ายค้าน "เรือดำน้ำ"  โดยอ้างกระแสสังคมตัวชี้วัด หากเดินหน้าต่อ ปัญหาไม่จบสิ้น อีกทั้งเครื่องยนต์ไม่ตรงปก เพราะมีลำที่ 2 ลำที่3 ต่อคิวอยู่ ก็ไม่อยากมาเป็นหนังหน้าไฟ

 

 

แรกเริ่มรับตำแหน่งหมาดๆ "สุทิน" เสนอไอเดียแก้ปัญหาด้วยการให้รัฐบาลไปเจรจากับจีนขอนำเข้าปุ๋ยทดแทนให้เกษตกรได้รับผลประโยชน์ แต่ กองทัพเรือ ขอไว้หากจะเปลี่ยนให้เป็นยุทโธปกรณ์ใกล้เคียงกัน จึงนำไปสู่ข้อเสนอ "เรือฟริเกต"

เป็นไปตามแผนความต้องการเดิมของกองทัพเรือ ในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต สมรรถนะสูง จำนวน 2 ลำ ใช้ปราบเรือดำน้ำ ทดแทนเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้า และเรือหลวงพุทธเลิศหล้าที่ปลดประจำการ หลังถูกระงับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสอง U-206 A จากประเทศเยอรมนี 

ลำแรก "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" วงเงิน 14,600 ล้านบาท ในปี 2555 กองทัพเรือ เลือกต่อจากสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยเงื่อนไขต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะตั้งเป้า เรือฟริเกตที่เหลืออีก 1 ลำจะต่อเองภายในประเทศ พร้อมจัดทำแผนเตรียมเสนอรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 นี้

แต่เมื่อโครงการเรือดำน้ำไม่เป็นไปตามที่หวัง ด้วยปัจจัยกระแสสังคม การเมือง เครื่องยนต์ที่ไม่เป็นไปตามสัญญา การผลักดันเรือฟริเกตทดแทนแม้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้ง กองทัพเรือ และรัฐบาลเพื่อไทย แต่หนทางเดินหน้าสู่แนวทางนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ไม่ว่ากองทัพเรือจะเดินหน้าไปแนวทางไหน ปัญหาก็ไม่จบ  การแก้สัญญาเปลี่ยนมาเป็นซื้อเรือฟริเกตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการดำเนินโครงการมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ระยะเวลา จุดเริ่มต้น วันสิ้นสุด พร้อมกรอบงบประมาณ

กระบวนการต่างๆ ต้องยกเลิกโครงการเรือดำน้ำก่อน หมายความว่า โครงการเรือดำน้ำต้องไม่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ต้องคืนงบประมาณไป โดยต้องบอกเหตุผลการยกเลิกโครงการเป็นเพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือข้อสัญญา ซึ่งในเอกสาร มีกำหนดต้องจ่ายค่าปรับไม่เกิน 10% กรณีที่ต้องเรียกเงินคืน

"อยู่ดีๆจะนำเงินที่เหลืออยู่จากการดำเนินการ หรือเงินที่จ่ายไปแล้ว และเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาทเพื่อซื้อเรือฟริเกต แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งในแง่ของกฎระเบียบข้อบังคับและวิธีปฏิบัติของการดำเนินการด้านงบประมาณ"แหล่งข่าวกองทัพเรือ กล่าวและว่า

ส่วนการซื้อเรือฟริเกตเป็นโครงการใหม่ ที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ ผ่านระเบียบหรือวิธีการของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา

เพราะเป็นโครงการก่อหนี้ผูกพันวงเงินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน ถึงจะออกมาเป็นโครงการ เป็นขั้นตอนปกติจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะบอกเป็นการซื้อแบบจีทูจี ดำเนินการนอกเหนือพ.ร.บ.และระเบียบ แต่การดำเนินการในเรื่องนี้ ถูกนำ พ.รบ.และระเบียบมาบังคับใช้โดยอนุโลม

ขณะที่ "สุทิน" ยอมรับว่า การเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต มีความยุ่งยาก แต่เชื่อว่าง่ายกว่าเดินหน้าติดเครื่องยนต์จีนในเรือดำน้ำ ส่วนแนวทางการขอคืนเงินจากจีน ขอเน้นเจรจาก่อน หากหาข้อตกลงไม่ได้ การขอคืนเงินจะเป็นแนวทางสุดท้าย ซึ่งต้องพิจารณาหลายมิติ รวมทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

"ยังไม่ได้ข้อสรุป อยู่ในระหว่างหาทางออกร่วมกัน ยังไม่ถึงขั้นเป็นมติหรือแก้ไขและเสนอทางเลือกให้กับจีนหากบรรลุข้อตกลงแล้ว จากนั้นจึงนำไปส่งกันเสนอเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขข้อตกลงในสัญญาจัดซื้อ จีทูจี ต่อไป"

ส่วนข้อมูลอีกด้านจาก คณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ ที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วย ผบ.ทร. ที่กำลังพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขสัญญาจีทูจี  พบว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงต้องอยู่ภายใต้การเจรจาให้ได้ของที่เทียบเท่าหรือสูงกว่า ต่างจากสัญญาจัดซื้อจัดจ้างปกติที่สามารถยกเลิกได้ทันที  

สำหรับการเตรียมการรองรับเรือดำน้ำที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการก่อสร้างอู่จอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมบำรุง คลังเก็บอุปกรณ์ประกอบ ส่งบุคลากรไปอบรมนั้น อยู่ในเงื่อนไขหนึ่งจะบรรจุในสัญญาจีทูจี หากมีการปรับแก้ คือ การรักษาองค์ความรู้เรื่องเรือดำน้ำ เพื่อเดินหน้าต่อในอนาคต โดยการเจรจาจีนขอเรือดำน้ำมือสองมาฝึกให้กำลังพล

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลาแรมปีกว่าจะได้ข้อสรุป ส่วนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ก็ยังมีความจำเป็นต้องจัดหา แต่ไม่ชัดว่าต้องรออีกกี่ปีถึงจะเดินหน้าต่อ ภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณ การเมือง และกระแสสังคม