3 เดือน ‘เศรษฐา’ ฝ่าด่านลุยไฟ นโยบายติดหล่ม พรรคร่วมระส่ำ

3 เดือน ‘เศรษฐา’ ฝ่าด่านลุยไฟ  นโยบายติดหล่ม พรรคร่วมระส่ำ

เข้าสู่เดือนที่ 3 ของ “รัฐบาลเศรษฐา” กำลังฝ่ามรสุมจากบางนโยบายที่กำลังติดหล่ม ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ "พรรคร่วมรัฐบาล" ซึ่งเป็น“รัฐบาลผสมข้ามขั้ว” ที่อยู่ในช่วงปรับจูน

เกือบ 3 เดือนบนเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารของ “นายกฯนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ท่ามกลางการจับตาไปถึงบทบาทการเป็นผู้นำของนายกฯ คนที่ 30 ผู้นี้ ภาพของการเดินสายเยือนต่างประเทศ จนมีการเปรียบเทียบว่าเป็น “นายกฯเซลส์แมน”

ตัว“เศรษฐา”เองก็ดูเหมือนจะไม่ปฏิเสธตรงนี้ แถมวันก่อนยังเปิดใจผ่านสื่อยอมรับ ถือเป็น“มิติใหม่”ในการที่จะไปเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน

ทว่า ในห้วงที่จังหวะการเมืองกำลังเร่งพีอาร์สร้างผลงานหวังกวาดคะแนนนิยมอยู่นั้น ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่การเมืองภายในขั้วรัฐบาลเกิดความไม่ลงรอยกันในหลายช็อตหลายตอน

ทั้งนโยบาย “แจกเงินหมื่น” ของพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำ เวลานี้ตกอยู่ในสภาวะติดหล่ม “กลับตัวก็ไม่ได้ เดินต่อไปไม่รู้เมื่อไหร่จะถึง” จากเดิมจะให้ทันในเดือน ก.พ.2567 ทว่า ล่าสุดเจอ “โรคเลื่อน” ลากยาวไปถึงเดือน ก.ย.2567 เป็นอย่างน้อย 

ตอกย้ำด้วยคำชี้แจงของ “พิชัย ชุณหวชิร” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตอบชัด! ผ่านเวทีเสวนา 2 คณะกรรมาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา

“โครงการดังกล่าวจะใช้เงินจากงบประมาณ แต่คงไม่ถึง 500,000 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติจากสภาฯ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะล่าช้า ไม่น่าทันในเดือน ก.พ.2567 แต่จะใช้ได้ในช่วงเดือน ก.ย.แทน”

ไม่ต่างจากจังหวะภายใน “พรรคร่วมรัฐบาล”  แม้ก่อนหน้า “บิ๊กรัฐบาล”  ทั้ง “รองอ้วน”  ภูมิธรรม เวชยชัย จะยืนยันเสียงแข็งนโยบายดังกล่าว “ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน” 

หรือแม้แต่ “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ย้ำหนักแน่น  “ในส่วนของรัฐบาล 320 เสียงต้องสนับสนุน”

3 เดือน ‘เศรษฐา’ ฝ่าด่านลุยไฟ  นโยบายติดหล่ม พรรคร่วมระส่ำ

ทว่า ท่าทีล่าสุดจาก “ลูกพรรคสีน้ำเงิน”  โดยเฉพาะ “2 สส.” ทั้ง  “สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ” สส.กระบี่ และ “สส.ลูกแชมป์”กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ล่าสุดออกมาแสดงท่าที ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

โดยเฉพาะ “สฤษฏ์พงษ์ พูดชัดถึงการสื่อสารไปยังรัฐบาลว่า  “มีแรงกดดันจากพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ถ้าเราเก็บงำเอาไว้ไม่สื่อถึงผู้นำรัฐบาลคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งไม่ดี”

เขายังเปรียบเทียบกรณีกัญชา ที่ภูมิใจไทยยอมถอยแต่ก็ยังทิ้งไว้ซึ่งรอยร้าวภายในขั้วรัฐบาลที่ผ่านมากระทั่งกฎหมาย “แท้งคาสภาฯ”

เวลานั้นพรรคเพื่อไทยเองก็ยังเป็นพรรคฝ่ายค้านและร่วมเป็นตัวละครสำคัญในแผนล้มกัญชา รวมถึงหยิบยกเป็นวาทกรรมนำมาฟาดฟันกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมาอีกด้วย

ขณะที่ “บิ๊กเนมสีน้ำเงิน” แม้เวลานี้ ยังสวมบท “เตมีย์ใบ้” ไม่หือไม่อือด้วยเหตุผลเรื่องมารยาทในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่อย่างที่รู้กัน ตามสไตล์พรรคภูมิใจไทยแล้ว หากไม่ใช่นโยบายพรรค บรรดา“บิ๊กเนม”เลือกที่จะอยู่ใน “เซฟโซน” เปิดโหมดโนคอมเมนต์

แต่ก็ “ไม่ห้าม” หากลูกพรรคจะใช้เอกสิทธิ์ สส.แสดงความเห็นอย่างอิสรเสรี

3 เดือน ‘เศรษฐา’ ฝ่าด่านลุยไฟ  นโยบายติดหล่ม พรรคร่วมระส่ำ

หรือแม้แต่ “พรรคร่วมรัฐบาล” บางพรรค ที่เวลานี้ยังคงนิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว เอาเข้าจริง อาจแค่รอจังหวะเท่านั้น โดยเฉพาะประเด็นแหล่งที่มาของงบประมาณ

ก่อนหน้ามีการพูดถึงการกู้เงินจากธนาคารออมสิน จนถูกจับตาว่าอาจเป็น “หนังม้วนเดิม” ที่วนลูปกลับไปเหมือนยุคจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่

ย้อนดูดีๆ ช่วงเวลานั้น ถึงขั้นมีการขนม็อบไปบุกธนาคารออมสินเพื่อทวงเงินกันมาแล้ว ขณะที่ “แกนนำม็อบ”ในวันนั้น มาวันนี้ก็ยังมีบทบาท หรือเป็นสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้นหากจะบอกว่า พรรคร่วมเห็นพ้องต้องกันแบบไม่แตกแถว ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว 

 

เช่นนี้ต้องจับตา แรงกระเพื่อมกรณี “แจกเงินหมื่น” จะมากหรือน้อย น่าจะเห็นภาพชัดต่อเมื่อเรื่องนี้ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ ตัวอย่างในอดีตก็มีให้เห็นมานักต่อนัก บางเรื่องกว่าจะผ่านครม.ก็ถูกตีกลับไปกลับมากันอยู่หลายรอบ หรือแท้งในครม.ก็มี

อีกหนึ่งปมร้อนหนีไม่พ้น “ศึก 3 เส้ากระทรวงเกษตร”  ระหว่าง 3 รัฐมนตรี ทั้ง ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตร จากพรรคพลังประชารัฐ และ 2 รัฐมนตรีช่วย ทั้ง ไชยา พรหมา จากพรรคเพื่อไทย และ อนุชา  นาคาศัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ชนวนเหตุมาจากปัญหาการแบ่งงานกรม-กอง ซึ่งฝ่ายหนึ่งมองว่าถูกข้ามหัว ไม่ต่างกับการริบดาบ-รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไปไว้ที่เสนาบดีกระทรวงแต่เพียงผู้เดียว 

ขณะที่2ใน3รัฐมนตรี อย่างที่รู้กันเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่สมัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน 

 ส่วน “ไชยา” ก่อนหน้านี้ออกมาเปิดหน้าท้าชนไปแล้วรอบหนึ่ง มาล่าสุดยังมีปมร้อนถูก “ริบดาบ” ในการสั่งโยกย้ายข้าราชการด่านกักกัน กรมปศุสัตว์ หน่วยงานในกำกับ เพื่อแก้ปัญหาลอบนำเข้าหมูเถื่อน

ย้อนกลับไปในช่วงเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ถูกกระหน่ำยิงเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย ขณะนำกำลังเข้าไปตรวจสอบห้องเย็นแห่งหนึ่งที่จังหวัดเพชรบูรณ์

เวลานั้น “ไชยา” ออกมาซัดเดือดถึง “ผู้มีมีอิทธิพลท้องถิ่น”  ที่มีความเชื่อมโยงระดับชาติแน่นอว่า ท่าทีของ“ไชยา” หวังผลกระทบชิ่งไปที่ การเมืองในจังหวัดซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของพรรคใด

ฟาก “ธรรมนัส” ในฐานะเจ้ากระทรวง ล่าสุดถึงขั้นยื่นคำขาด ไม่ยอมจบอาจริบกรมใหญ่คืน

นับเป็นอีกหนึ่งชนวนร้อนที่สะท้อนความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ได้แนบแน่นอย่างที่คิด กลับกันยิ่งเป็นการตอกย้ำแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นแบบระลอกแล้วระลอกเล่า

3 เดือน ‘เศรษฐา’ ฝ่าด่านลุยไฟ  นโยบายติดหล่ม พรรคร่วมระส่ำ

ไม่เว้นแม้ประเด็น “น้ำตาล” ที่ว่าหวาน อาจกลายเป็นรสขมระหว่าง “2 กระทรวง-2 พรรค”  คือ “กระทรวงอุตสาหกรรม”  ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และ  “กระทรวงพาณิชย์”ของพรรคเพื่อไทย หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ออกประกาศปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาท มีผลเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา 

ทว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 31 ต.ค.กลับมีมติตรึงราคาน้ำตาล และให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม ตามที่ “รองฯ ภูมิธรรม” ในฐานะเจ้ากระทรวงพาณิชย์เสนอ 

กรณีที่เกิดขึ้น แม้ “รมต.ปุ้ย” พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม จะบอกว่าไม่ใช่การ “หักหน้า” กันทางการเมือง  แต่ต่างฝ่ายก็หยิบยกเหตุผลฝั่งตัวเองออกมาประชันกันถึงความจำเป็น

ฉะนั้นหากมองในมุมการเมือง อาจมองได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นปัญหาในเชิงนโยบายระหว่าง 2 กระทรวงซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ 2 พรรคร่วมรัฐบาล 

ทั้งหมดทั้งมวล สะท้อนให้เห็นว่า กว่า 2 เดือน กำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 3 ของ “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งเป็น“รัฐบาลผสมข้ามขั้ว” กำลังเผชิญมรสุม และอาจต้องฝ่าด่านลุยไฟอีกหลายด่าน ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้!!