31 สำนวนร้องรัฐสภาหมื่นล้าน “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” ลุยปมทุจริต ส่งมอบไม่ได้

31 สำนวนร้องรัฐสภาหมื่นล้าน  “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” ลุยปมทุจริต ส่งมอบไม่ได้

“อยากจะให้คนรับผิดชอบโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่นี้นะครับ พยายามท่องความหมายของสัปปายะสภาสถาน จะได้เริ่มกลับใจที่จะทำความดี แล้วให้นึกคำพูดนี้ไปเรื่อยๆ เผื่อจิตใจที่คิดจะเป็นโจร จะได้กลับตัวเป็นคนดี”

31 เรื่อง คือจำนวนสำนวนที่ “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ "สัปปายะสภาสถาน" ย่านเกียกกาย เนื่องจากการก่อสร้างไม่ตรงกับแบบที่ออกไว้ มีการกระทำที่ผิดต่อสัญญา หรือมีงานบางอย่างพบการเปลี่ยนแปลงแบบ โดยไม่แก้ไขแบบให้เป็นไปตามระเบียบ

โดยพุ่งเป้าร้องไปที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการตรวจการจ้างกรณีกระทำผิดกฎหมายและข้อสัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ขณะที่ 27 เรื่อง คือจำนวนที่ "วิลาศ" ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ร้องต่อผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยข้อกล่าวหาที่ร้องนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตทั้งหมด

“วิลาศ” ให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจว่า ตนเองได้รับข้อมูลจากวิศวกรเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ รวมทั้งข้าราชการได้ส่งข้อมูลมาให้ ว่ามีหลายโครงการ หลายงาน ของอาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย ที่ทำไม่ตรงกับแบบ บางอย่างคณะกรรมการตรวจการจ้างสั่งแก้ไขแล้ว อยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไข บางอย่างไม่ได้เริ่มแก้ไข 

“คนที่มีอำนาจ แล้วกินภาษีของพวกเรา คือคณะกรรมการตรวจจ้าง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งผู้ควบคุมงาน ซึ่งจะต้องดูแลแล้วส่งข้อมูลทำแบบให้ตรงไปตรงมา แต่วันนี้ผมเข้ามาตรวจเต็มที่ เพราะผมเห็นว่าหลายจุดมีข้อบกพร่อง ผมร้องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปแล้ว ผมเห็นว่ามีการกระทำที่ผิดข้อสัญญา ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย 31 เรื่อง ทำหนังสือถึงท่านเลขาฯ เพื่อให้เลขาฯ รับทราบว่า ขณะนี้มีการทำผิดไป แล้วถ้าเลขาฯ โดนข้อกล่าวหาทางด้านอาญา จะบอกว่าไม่รู้ ไม่ได้”
 

เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา "วิลาศ" นำ "กรุงเทพธุรกิจ" ลงพื้นที่เดินสำรวจอาคารรัฐสภา บริเวณด้านหน้า ซึ่งเป็นจุดที่ก่อสร้าง"ลานประชาชน"เพื่อให้บริการประชาชน ที่ยังไม่เรียบร้อย เพราะจะต้องมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในสถานที่แห่งนี้

คำแรกที่ "วิลาศ" เห็นผนังบริเวณชั้นใต้ดินที่สร้างลานประชาชน ถึงกับอุทานออกมาว่า “อย่างนี้ น่าเกลียดฉิบหาย แล้วอย่างนี้ งานเสร็จ 100% แล้วเหรอ พร้อมที่จะส่งแล้ว เป็นไปได้เหรอ นี่เสร็จเรียบร้อยแล้วใช่ไหม”

ผนังที่ปรากฏต่อหน้าวิลาศมีลายสีดำเป็นรอยใหญ่ หลายจุดของผนัง มีลักษณะเป็นรอยน้ำซึมออกมาจากผนัง และบางจุดสะอาดตาไม่มีรอยน้ำซึม ซึ่งสามารถเขียนแบบจิตรกรรมฝาผนังได้

31 สำนวนร้องรัฐสภาหมื่นล้าน  “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” ลุยปมทุจริต ส่งมอบไม่ได้

วิลาศ จันทร์พิทักษ์

“วันนี้ ทำหรือไม่ทำจิตกรรมฝาผนัง แต่ถ้าทำ น้ำซึมอย่างนี้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะในแบบบอกไว้อย่างนี้ ผนังที่อยูู่ติดกับดินจะต้องทำผนังกันซึม ถามว่าถ้าทำผนังกันซึม แล้วออกมาอย่างนี้ได้ยังไง ถ้ามันไม่มีความผิดปกติ มันเหมือนกันจะต้องเป็นสีเดียวกัน ลักษณะอย่างนี้มันมีความชื้นอยู่”

“วิลาศ” ย้ำว่า สมมติว่าทาสีผนังใหม่ แล้วเกิดจากไม่ได้ใส่ผนังกันซึมจริง ก็ยังไม่สามารถเขียนจิตกรรมได้ เพราะน้ำที่อยู่ใต้ผนังจะซึมออกมาเรื่อยๆ หากมีการลงสี ก็ลอกได้ ทั้งหมดเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ใส่ผนังกันซึม

“แล้วจะทำภาพวาดยังไง  วันนี้ ถ้าจะให้คนมาเขียนภาพวาด ทำใหม่เขาก็ไม่ได้มีความสามารถ เขามีหน้าที่เขียน ไม่ได้มีหน้าที่มาก่อผนังปูน”

มือตรวจสอบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่าก่อสร้างกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เป็นมหากาพย์ก่อสร้างนานกว่า 1 ทศวรรษ แม้จะพลาดหวังการเป็นผู้แทนมา 2 สมัยติดต่อกัน และไม่ได้เข้ามาเป็น สส. แต่สิ่งที่ข้องใจของ “วิลาศ” ที่สุด คือ หนังสือของผู้รับจ้างบอกว่า ขณะนี้การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ได้ทำงานครบ 100% แล้ว พร้อมที่จะส่งมอบงานให้กับรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566

วันที่ 14 ก.ย. คนคุมงานบอกว่า งานเสร็จเรียบร้อย 100%

วันที่ 15 ก.ย. บริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทำหนังสือมา งานเสร็จครบ 100%

วันที่ 18 ก.ย. คณะกรรมการตรวจการจ้างบอกว่า มีมติว่าเห็นตามที่บริษัทผู้คุมงาน และที่ปรึกษาเสนอ และจะให้นัดลงมติว่าตกลงจะเริ่มตรวจรับมอบงานเมื่อไร

แต่หลังจากวันที่ 18 ก.ย. 2566 คณะกรรมการตรวจการจ้างก็ยังไม่สามารถส่งมอบงานทั้งหมดได้ เพราะมีข่าวออกมา และมีคนแสดงความคัดค้านเยอะ และที่สุดจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้มีมติส่งมอบงาน

31 สำนวนร้องรัฐสภาหมื่นล้าน  “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” ลุยปมทุจริต ส่งมอบไม่ได้

ไม่เพียง ผนังจิตรกรรม ลานประชาชน ที่ยังไม่เสร็จ 100% "วิลาศ" ยังพาไปสำรวจตู้ไฟฟ้าหน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งมีการก่อสร้างตู้ไว้ไม่ตรงกับแบบที่ออกไว้ “หลายตู้เป็นตู้ว่างเปล่า  สร้างไว้เต็มไปหมดเลย แต่ไม่ได้ใช้งาน”

“วิลาศ” สำรวจตู้ไฟฟ้าก่อนหน้านี้แล้ว พบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบ เพราะไม่มีที่ระบายอากาศ ไม่มีตะแกรงกันแมลง บางตู้มีการนำพลาสติกมาคลุมตู้ไฟฟ้าข้างใน ซึ่งพลาสติกไม่สามารถทนความร้อนได้ และอาจทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตได้

“แล้วดู บานพับ ตัวหมุดเจาะนอกประตู บานพับนี้ มันห่วยจริงๆ นะ จะหาว่าผมด่าก็ไม่ได้ ผมไม่รับงานคุณแน่นอน ไม่ตรงตามแบบอย่างรุนแรง” วิลาศ สวดยับถึงการสร้างตู้ไฟฟ้าหน้ารัฐสภา

นอกจากตู้ไฟฟ้าแล้ว "วิลาศ"ยังพาสำรวจลานจอดรถชั้นใต้ดินของอาคารรัฐสภา ซึ่งมีหลายจุุดที่มีการทำพื้นใหม่ เพราะพื้นลานจอดรถไม่ได้ใส่ผนังกันซึม

“นี่รอยเจาะ นี่คือที่ซึมทั้งนั้น  อันนี้น้ำซึมกำแพง นี่ที่น้ำซึม ยังซึมอยู่ จะเห็นเลยมันซึมขึ้นมาตลอดจนเป็นตะไคร่น้ำ” วิลาศ ชี้จุดที่มีรอยน้ำซึมที่พื้นลานจอดรถ และบางเสาก็มีน้ำซึมจนเกิดตะไคร่น้ำ

เขาบอกว่า ทั้งหมดต้องสั่งเจาะทำผนังกันซึม เพราะผู้รับจ้างทำผิดแบบ ตนมาเล่นงานครั้งแรกมา 2 ปีแล้วก็ยังไม่มีการทำ ตอนนั้นซึมเกือบทุกเสาของลานจอดรถ ถ้าไม่มีผนังกันซึม ยังไงก็ต้องรื้อทำใหม่หมด

วิลาศยังพาขึ้นไปดูพื้นของรัฐสภา ที่ปูด้วยไม้สัก ซึ่งทั้งหมดมี 27,300 แผ่น จุดเริ่มต้นมาจากข้าราชการรัฐสภาร้องมาที่เขาว่า เดินแล้วส้นรองเท้าติดในร่อง ทั้งที่ตัวแบบบอกให้ปูไม้ห่างกัน 2 มิลลิเมตร แต่สิ่งที่เห็นกับตา มีการปูไม้ห่างกันถึง 10 มิลลิเมตร และไม้ที่ปูกับพื้นจะต้องเป็น "ไม้ตะเคียนทอง" ซึ่งเขาได้นำภาพถ่ายของไม้ดังกล่าวไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ กลับพบว่า ไม้ที่ปูนั้นไม่ใช่ “ตะเคียนทอง” ทั้งหมด

31 สำนวนร้องรัฐสภาหมื่นล้าน  “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” ลุยปมทุจริต ส่งมอบไม่ได้

“อยากจะให้คนรับผิดชอบโครงการก่อสร้างนี้นะครับ พยายามท่องความหมายของสัปปายะสภาสถาน จะได้เริ่มกลับใจที่จะทำความดี แล้วให้นึกคำพูดนี้ไปเรื่อยๆ เผื่อจิตใจที่คิดจะเป็นโจร จะได้กลับตัวเป็นคนดี” วิลาศ ระบุ

เขายังย้ำถึงการลุยตรวจสอบการก่อสร้างรัฐสภา ไม่ตรงปกว่า ตนเองไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับใคร หรือไม่พอใจอคติกับใคร เมื่อฟ้องเสร็จ ถ้าตนเองแพ้ ก็ยินดีที่จะรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง แต่ถ้าตนชนะคดีขึ้นมา ก็พร้อมที่จะขยายผลต่อ อย่างกรณีไม้กระดาน ก็จะพิสูจน์กันในชั้นศาล แต่ถ้าตรวจแล้วเป็นไม้ปลอม ก็ต้องรื้อปูใหม่ทั้งหมด

“สภาเป็นเสาหลัก เสาหนึ่งของประเทศ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการและฝ่ายรัฐสภา ถามว่าวันนี้อาคารของรัฐสภา ควรเป็นอาคารที่มองเข้ามาแล้วเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นมาก วันนี้ผมเดินดูผมก็บอกว่ายอมรับไม่ได้ ใครจะยอมรับได้สิทธิของเขา แต่ส่วนตัวผม ผมยอมรับไม่ได้”

เขาบอกว่า การตรวจสอบดังกล่าวทำให้ถูก บริษัทผู้รับเหมาดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทไปแล้ว 4 คดี และทุกคดีศาลได้ยกฟ้อง

“ผมไม่ยอมถอนฟ้อง จะสู้จบหมดเลย 4 คดี ยกฟ้อง ก็ถึงฟ้องกลับครับ ถ้าได้อาคารมาแล้วไม่สวยงาม แขกต่างประเทศ หรือเด็กเล็กๆ จะมาดูวันเด็ก ดูแล้วบอกมันประหลาด ถามว่าเรารู้สึกยังไงครับ สภาเกิดในรุ่นเรา ที่เราเป็นตัวแทน” วิลาศทิ้งท้าย