สมศักดิ์ ชง 'ครม.' อัพเกรด 'ป.ป.ท.' เพิ่มอำนาจไต่สวนชี้มูล ออกหมายจับ จนท.รัฐ

สมศักดิ์ ชง 'ครม.' อัพเกรด 'ป.ป.ท.' เพิ่มอำนาจไต่สวนชี้มูล ออกหมายจับ จนท.รัฐ

"สมศักดิ์" เผย ชง "ครม." ปรับปรุงกฎหมาย ป.ป.ท. ให้อำนาจตรวจสอบ จนท.ประพฤติมิชอบทุกระดับ ไต่สวนชี้มูล-ออกหมายจับได้ เข้าไปขุดคุ้ยการขออนุมัติที่ล่าช้า ป้องกันเรียกรับเงิน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ได้มีการเสนอปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนของพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 จากเดิมที่มี 67 มาตรา ซึ่งจะมีการปรับแก้ 29 มาตรา บัญญัติใหม่ 14 มาตรา ยกเลิก 1 มาตรา รวมทั้งสิ้นจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 80 มาตรา โดยกฎหมายนี้ มีการใช้มาแล้วถึง 16 ปี ซึ่งควรจะมีการปรับให้เข้ากับสมัย โดยกฎหมายฉบับนี้ขณะร่างแก้ไขนั้นได้ออกแบบ รวมถึงให้กฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว ซึ่งจะมีการปรับให้มีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมอบให้เท่านั้น ดังนั้น ป.ป.ท.เอง ก็ถือเป็นหน่วยงานในการตรวจสอบของฝ่ายบริหาร จึงควรมีการปรับแก้ ให้การทำงานไม่เกิดความทับซ้อนแต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ในเรื่องการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ โดยจะสามารถไต่สวนชี้มูลได้ด้วยตนเอง ซึ่งตนมองว่า การทำในลักษณะนี้ จะเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตได้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมาย ป.ป.ท.ปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะมีให้เปิดเผยได้ถึง 3 ขั้นตอน คือ 1.ก่อนการไต่สวน 2.เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนแล้ว และ 3.คณะกรรมการ ป.ป.ท.ชี้มูล พร้อมกันนี้ ยังมีอำนาจในเรื่องการออกหมายจับ โดยสามารถขอศาลออกหมายจับได้เอง รวมถึงดำเนินการจับปล่อยตัวชั่วคราว หรือ จะมอบพนักงานสอบสวนทำแทน ซึ่งหากยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นผู้ประกอบการจะขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ก็ยังไม่มีการอนุมัติป.ป.ท.ก็สามารถเข้าไปดูถึงเหตุผลได้ เพื่อป้องกันการเรียกรับเงิน โดยก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น 

“ด้านการศึกษา ป.ป.ท. ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมที่มีข่าวอยู่ในเวลานี้จำนวนมากได้เช่น พฤติกรรมครูลวนลามอนาจารนักเรียน ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบในเรื่องวินัย และเอาผิดในเรื่องเพศอนาจารได้ เพราะเป็นความผิดทางอาญา รวมถึงยังสามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ราชการ เลิกงานไวกว่าเวลาได้ และกรณีการนำรถหลวงไปใช้ส่วนตัวในเวลานอกราชการ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ป.ป.ท.สามารถที่จะเอาผิดได้ โดยสืบสวนสอบสวนได้ทันที จึงถือเป็นเรื่องการสร้างความโปร่งใสป้องกันการประพฤติมิชอบของส่วนราชการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ โดยกฎหมายฉบับนี้ จะสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต หรือ UNCAC ด้วย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงแก้กฎหมายที่ล้าสมัย ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้กฎหมายนั้นใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม รวมถึงกฎหมายที่ดี ต้องไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันด้วย ดังนั้น การเสนอกฎหมายนี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจ หรือ แย่งอำนาจไปแต่เป็นการทำงานในภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเรื่องของการป้องกันการทุจริต รวมถึงการประพฤติมิชอบ ซึ่งในการแก้กฎหมาย ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนมาแล้วถึง 2 ครั้ง ก่อนที่ตนจะเสนอกฎหมายนี้เข้าครม.และมีมติอนุมัติหลักการแล้ว จากนี้ ก็จะส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ เสนอดังนี้

1.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจและหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) ในส่วนที่เกี่ยวกับการคดีทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มอบหมาย และส่วนการประพฤติมิชอบซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อให้เป็นไปตามการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1.
        
นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังไม่ได้ให้ความเห็นชอบและตกไป เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 โดยปรับปรุงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ที่ต้องดำเนินการแทนตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมอบหมาย และในส่วนการประพฤติมิชอบที่เป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เช่น การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ การขอหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดความผิดและโทษกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการไต่สวนและการปฏิบัติต่าง ๆ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐมีความชัดเจนยิ่งขึ้น