'ทวี' ชงร่าง กม.ขจัดเลือกปฏิบัติฯต่อ ครม. ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

'ทวี' ชงร่าง กม.ขจัดเลือกปฏิบัติฯต่อ ครม. ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

โฆษกรัฐบาลเผย รมว.ยุติธรรม ชงร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ต่อ ครม. ยันรัฐบาลส่งเสริมผลักดันกฎหมายเพื่อสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของสังคม

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายของรัฐบาล ในส่วนของกฎหมายที่ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และขจัดการเลือกปฏิบัติ ว่า ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ วิถีทางเพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือจิต สุขภาพ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้พ้นโทษ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่ออื่น การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง ความคิดเห็นอื่น อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ ซึ่งสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 2 (1) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 2 (2) (ICESCR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ มีจำนวนทั้งหมด 48 มาตรา แบ่งเป็น 5 หมวด 1 บทเฉพาะกาล ประกอบด้วย อารัมภบท (มาตรา 1-5 ) หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 6-9) หมวด 2 คณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและสภาส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (มาตรา 10-21) หมวด 3 การบริหารงาน (มาตรา 22) หมวด 4 การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (มาตรา 23-39) หมวด 5 มาตรการบังคับ (มาตรา 40-46) และบทเฉพาะกาล (มาตรา 47-48)

“ยืนยันว่ารัฐบาลส่งเสริมและผลักดันกฎหมายเพื่อสังคม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของสังคม โดยรัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมความเสมอภาคอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้แถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา โดยจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ควบคู่กับการสร้างสันติภาพและการปกป้องสิทธิมนุษยชน สำหรับร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... จะเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. ตามขั้นตอนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หาก ครม.มีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว