ชัยเสรี ‘มาดามรถถัง’ ไม่ธรรมดา เสียงสะท้อน ‘กลาโหม-กองทัพ’
"แม้ กองทัพไทยสนับสนุนบริษัท ชัยเสรี น้อยเมื่อเทียบกับการซื้อจากต่างประเทศ แต่หน้าที่ของฉันจะทำให้ดีที่สุด สิ่งที่พิสูจน์ได้ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหประชาชาติ ภูฏาน ซื้อของเรา ก็ยืนยันได้ว่า ประเทศไทยทำของไม่ได้กระจอก"
ควันหลง งานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ 2023 ( Different & Security 2023) จัดขึ้นประจำทุก 2 ปี
โดยปีนี้มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 500 บริษัทจาก 40 ประเทศทั่วโลก นำผลิตภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์ทางทหาร เทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ ระบบอาวุธปืนกล รถถัง อาวุธนำวิถี ยานยนต์ทางทหาร อากาศยาน เครื่องบินขับไล่ เรือรบขนาดต่างๆ เรือดำน้ำ ดาวเทียม UAVs โทรคมนาคม ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ เทคโนโลยีอวกาศ อาวุธเล็กและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบ EOD ปืนพก เสื้อเกราะ เป็นต้น มาจัดแสดงผ่านบูธนานาชาติ 23 ประเทศ
บูธหนึ่งที่อยู่ในความสนใจผู้นำกองทัพ ทั้งในและต่างประเทศ ต้องแวะมาเยี่ยมชม บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบป้องกันดินแดน รับออกแบบ ผลิตและอัปเกรดยานเกราะ ในระบบย่อยและระบบตีนตะขาบ โดยมี "นพรัตน์ กุลหิรัญ" หรือ “มาดามรถถัง” เป็นผู้ก่อตั้ง
โดยปีนี้ “ชัยเสรี” ได้นำยุทโธปกรณ์มาจัดแสดง ทั้ง รถหุ้มเกราะล้อยางลำเลียงพล First Win รุ่น ATV (Armoured Tactical Vehicle) รถหุ้มเกราะล้อยาง First Win (Armoured Ambulance Vehicle) เป็นรถพยาบาลสายการแพทย์ พร้อมระบบกู้ภัยและอุปกรณ์ รถหุ้มเกราะล้อยางใช้ต่อสู้ทางยุทธวิธี First Win รุ่น AFV (Armoured Fighting Vehicle) รถหุ้มเกราะล้อยางลาดตระเวน First Win รุ่น ARV (Armoured Reconnaissance Vehicle) รถหุ้มเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก 8x8
“นพรัตน์” เล่าถึงที่มาที่ไปว่า ได้ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกลาโหม เป็นโรงงานผลิตด้วยตัวเอง ขายให้กับกองทัพในและต่างประเทศเข้าสู่ปีที่ 55 แล้ว ที่อยู่ในธุรกิจนี้
เรามีรถพิเศษ คือ รถหุ้มเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก 8x8 ที่ผลิตให้กับหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทย จำนวน 7 คัน
และอีกความภาคภูมิใจของบริษัท ชัยเสรี คือได้ผลิตยานเกราะล้อยางแบบ 4x4 First Win ส่งประจำการ สหประชาชาติแล้วเมื่อปี 2564 จำนวน 15 คัน กันกระสุน ระเบิด เป็นรถที่ออกแบบเพื่อภารกิจสงครามโดยเฉพาะ ดูแลผู้บาดเจ็บได้ 4 คน รถออกแบบให้มีความสูง 2.20 เมตร เพื่อให้บุรุษพยาบาลทำการรักษา ไม่ต้องก้มศีรษะ เดินไปมาได้สะดวก การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยใช้ระบบอัตโนมัติ
ถือเป็นผลงานของประเทศไทยเป็นความภาคภูมิใจของบริษัท ชัยเสรี เราผลิตรถรุ่นนี้ได้คำนึงภาวะสงคราม จะทำอย่างไรให้ช่วยเหลือชีวิตคน ขณะนี้ยานเกราะล้อยางแบบ 4x4 First Win ประจำการ Central African Republic ของสหประชาชาติ
"ตอนนี้เราได้ออเดอร์จากสหประชาชาติเพิ่มอีก 10 คัน และเราก็ทำยานเกราะล้อยาง 4x4 แบบปกติและแบบ First Win เอาเครื่องยนต์ไปไว้ด้านหลัง สำหรับรถหุ้มเกราะล้อยางลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก ผลิตจากการเรียนรู้การติดตามพฤติกรรมผู้ก่อการร้าย ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีลงน้ำ การติดตามจะยุติทันที ดังนั้น ชัยเสรีเลยออกแบบให้สามารถวิ่งได้ทั้งบนถนน และเมื่อลงน้ำ ก็กลายเป็นเรือ เราได้ทดสอบวิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว" มาดามรถถัง อธิบาย
เธอยืนยันว่า คนไทยเราก็มีความสามารถ การที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของคนไทย เป็นความภาคภูมิใจเมื่อได้ใช้ เราก็จะมีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เรื่อยๆ งานนี้เป็นงานที่แสดงให้แขกนานาชาติกว่า 50 ประเทศที่มาชม เราจะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าใครเลย ถือเป็นความภาคภูมิใจ
“นพรัตน์” ยังเปิดเผยถึงการพูดคุยกับ รมว.กลาโหม คนใหม่ "สุทิน คลังแสง" ที่ได้เยี่ยมชมบูธชัยเสรี ว่า รมว.กลาโหม เป็นพลเรือน ไม่ได้เป็นทหาร เราก็เรียนให้ท่านทราบถึงคุณลักษณะของรถรุ่นต่างๆ ที่เราผลิตขึ้นมา ซึ่งท่านเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะมีความมั่นคงต้องผลิตยุทโธปกรณ์ได้เอง ต้องมีคุณภาพสามารถดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมได้ด้วย เพราะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ มีปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุง ใช้ไม่นานก็ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ถ้าผลิตในประเทศเราสามารถทำได้ และท่านก็รับทราบ บอกว่าจะสนับสนุน เพราะมองว่าความมั่นคงของประเทศควรจะเป็นลักษณะนี้
“ส่วนที่ผ่านมากองทัพไทยสนับสนุนบริษัท ชัยเสรี น้อยเมื่อเทียบกับการไปซื้อจากต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องของการจัดซื้อ หน้าที่ของตัวฉันจะพยายามทำอย่างดีที่สุด สิ่งที่พิสูจน์ได้ เราขายต่างประเทศได้ทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ สหประชาชาติ ภูฏาน เขาก็ซื้อกับเรา เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยทำของไม่ได้กระจอก เป็นของที่มีคุณภาพ จึงมีการจัดซื้อไปทั่วโลก” นพรัตน์ ระบุ
ส่วนทายาทอย่าง "กฤต กุลหิรัญ" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า ที่ผ่านมากองทัพจัดหายุทโธปกรณ์ภายในประเทศสัดส่วนน้อยไม่ถึง 1,000 ล้าน เมื่อเทียบกับการจัดหาต่างประเทศอยู่ระดับหลักหมื่นล้าน ซึ่งนโยบายภาครัฐสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศที่ชัดเจนสุด คือ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วน กอ.รมน.จัดซื้อปีละคันสองคัน เนื่องจากมีงบประมาณไม่ได้มากมายและไม่ใช่หน่วยที่มีหน้าที่จัดหายุทโธปกรณ์ สำหรับกองทัพบก น่าจะอยู่ช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ภายในประเทศ
“อยากให้รัฐบาลและกองทัพมองอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นหนึ่งในโอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ หากสร้างเองได้ สามารถซ่อมบำรุงเองได้ ยุทโธปกรณ์ก็จะอยู่กับเรายาวนานขึ้น หากไปซื้อต่างประเทศอยู่กับเราได้ประมาณ 6 ปี ซ่อมบำรุงไม่ได้ก็ต้องจัดซื้อใหม่ และไม่มีความมั่นคงด้วย ถ้าเราซื้อและผลิตภายในประเทศได้เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น” กฤต กล่าว
เขาระบุด้วยว่า บริษัท ชัยเสรี ผลิตรถ แต่อุปกรณ์ต่างๆ เช่นเครื่องยนต์ เกียร์ เราสามารถจัดหาจากตัวแทนภายในประเทศได้ รวมถึง โครงสร้างรถ เป็นการเปลี่ยนมือทางธุรกิจ B2B (Business-to-Business) ให้บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ภายในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจะเกิดการจ้างงาน ทุกคนมีรายได้สุทธิต้องเสียภาษี เงินก็จะเข้าประเทศเราเอง ทุกคนที่มีรายได้จับจ่ายใช้สอยซื้อของก็ต้องมีภาษี เงินเข้าประเทศเราเช่นกัน ถ้าซื้อโครงการจากต่างประเทศ เงินไหลออกไปต่างประเทศทั้งหมด
ทายาทของมาดามรถถัง ทิ้งท้ายว่า อยากให้มองว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศ สร้างการพัฒนาความมั่นคงเศรษฐกิจเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย