5 ปัจจัยผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ‘พรรคร่วมฯ’เข็นดิจิทัลวอลเล็ต

5 ปัจจัยผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ‘พรรคร่วมฯ’เข็นดิจิทัลวอลเล็ต

‘พรรคร่วมฯ’เข็นดิจิทัลวอลเล็ต 5 ปัจจัยผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เร่งเดินหน้าโครงการ ภารกิจ‘เศรษฐา’ทำให้เสร็จ ก่อนส่งไม้ต่อ‘แพทองธาร’

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลยื้อหลักการ เปลี่ยนหลักเกณฑ์ มาหลายครั้ง ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยในฐานะเจ้าของนโยบายเสียรังวัด และอาจเสี่ยงต่อคะแนนนิยมในอนาคต

ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง ต้องตั้งโต๊ะแถลงความชัดเจน เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ยอมกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการขอออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต

แตกต่างจากช่วงเดินสายหาเสียงที่เจ้าตัวยืนยันชัดเจนว่าไม่จำเป็นต้องกู้เงิน พร้อมอธิบายวิธีการรีดงบประมาณ แต่เมื่อเข้าบริหารประเทศผ่านมากว่า 2 เดือน “เศรษฐา” เจอทางตัน ไม่สามารถบริหารงบประมาณได้ดั่งใจหวัง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องผิดสัญญาประชาคม

โดยวางไทม์ไลน์ พ.ร.บ.กู้เงิน เอาไว้ว่าจะใช้ระยะเวลาในการตีความในชั้น “กฤษฏีกา” และกระบวนการกฎหมายช่วงปลายปีนี้ ก่อนนำเข้าสู่สภาช่วงต้นปี 2567 และประชาชนได้ใช้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ในช่วงเดือน พ.ค. 2567

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญ ยังเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากที่เคยสัญญาว่าบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ 10,000 บาททุกคน ไม่เว้นคนจน-คนรวย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทว่า ล่าสุดกลับวางหลักเกณฑ์มอบสิทธิให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม

ภายหลัง “เศรษฐา” แถลงเปิดรายละเอียดทั้งหมด มีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงต่อต้านอย่างหนักจากหลายแวดวง โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ. กู้เงิน โดยมีข้อถกเถียงจะขัด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา 6 และ มาตรา 9 ที่ระบุว่าต้องไม่ไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียง หาคะแนนนิยมหรือไม่

ทั้งนี้ ข้อกฎหมายถือเป็นโจทย์ใหญ่ของ “เศรษฐา-เพื่อไทย” ที่ต้องฝ่าด่านไปให้ได้ แม้จะพออุ่นใจได้อยู่บ้าง เพราะมาอยู่ในขั้วอนุรักษนิยม อาจมีคำแนะนำที่ปลอดภัยมากขึ้น แต่จะดีกว่า หากไม่พาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ “พรรคร่วมรัฐบาล” เริ่มมีขบวนการปล่อยข่าวว่า อาจจะวงแตกไม่ร่วมเข็นโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะหากยกมือผ่านในที่ประชุม ครม. เกรงว่าจะโดนเช็คบิลภายหลัง รวมถึงการออกเสียงของ สส. ในการผ่าน พ.ร.บ. กู้เงิน

กรุงเทพธุรกิจ รวบรวม ปัจจัยที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” พร้อมจับมือ “เพื่อไทย” ลุยไฟ เดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้

โอกาสสูง สส.ผ่านพรบ.กู้เงิน

พรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 16 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง

โดยจำนวนเสียงโหวต พ.ร.บ. กู้เงิน จาก 314 เสียง สามารถผ่าน 4 วาระรวดแบบไม่ต้องลุ้น แต่ที่ต้องทำการบ้านหนักคือการอธิบายเหตุผลความจำเป็นของโครงการ เพราะ “ฝ่ายค้าน” นำโดยพรรคก้าวไกล รอโอกาสชำแหละโครงการ เพื่อตีกินทางการเมืองอยู่แล้ว

สว.รอสัญญาณ “บิ๊ก ป.”

สำหรับเสียงของ สว. ที่ต้องร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน หาก “บิ๊ก ป.” อดีตเบอร์หนึ่งไฟเขียว อาจจะไม่ยากที่จะผ่านด่าน สว. ไปได้ แต่หากมี “บิ๊ก ป. อกหัก” กระโดดลงมาเล่นเกม อาจจะส่งผลสะเทือน เพราะมี สว. ที่คอนโทรลได้บางส่วนอยู่ในมือ

แต่เชื่อว่า “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ไม่ยอมให้เกิดเหตุแทรกซ้อน จนส่งผลสะเทือนต่อการรักษาอำนาจ ไม่เช่นนั้นเกมอาจจะเข้าทาง “ขั้วตรงข้าม”

ไม่พร้อมลงสนามเลือกตั้ง

นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญที่ 314 เสียง ต้องร่วมกันฝ่าด่านไปให้ได้ เนื่องจากผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่ผ่านมา บ่งบอกได้ว่า “ก้าวไกล” คือพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมลำดับหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยฐานเสียง ไม่ต้องอิงกับบ้านใหญ่ ไม่ต้องใช้กระสุน มีเพียงกระแสก็ชนะเลือกตั้งได้

มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะแตกหักกันในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต่างก็ต้องการรักษาสถานะของพรรคร่วมรัฐบาลกันเอาไว้ให้เหนียวแน่น หากต้องขัดแย้งกันจนไปต่อไม่ได้ ผลเสียย่อมตกอยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลเอง

ฉะนั้นการรวมพลัง “พรรคร่วมรัฐบาล” ผ่านร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ อย่าลืมว่า กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องรักษาอำนาจให้ยาวนานที่สุด

รอเก็บกระสุน-ฟื้นกระแส

อีกเหตุผลที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” ต้องจับมือกันให้แน่น หนีไม่พ้นเรื่อง “กระสุน” ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีหลายพรรคการเมืองใช้ “กระสุน” ไปไม่น้อย จนสะเทือนการเงินการคลังของพรรค จึงจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมรัฐบาลกันต่อ เพื่อเก็บ “กระสุน” ไปสู้ศึกครั้งหน้า

ขณะที่บางพรรคจำเป็นต้องกระตุ้น “กระแส” ของตัวเองให้กลับมาอยู่ในจุดสูงสุดเช่นกัน โดย 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา นอกจาก “กระแส” ยังไม่กระเตื้องแล้ว ยังดิ่งติดลบลงไปอีก

ดังนั้นจึงไม่ใช่เวลาที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะมาแตกแยกหรือขัดแย้งกันเอง

ภารกิจ‘เศรษฐา’ต้องทำให้เสร็จ

ขณะเดียวกันโครงเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นโครงการเสี่ยงที่จะถูกหยิบมาเล่นงานทางการเมืองพรรค“เพื่อไทย” ดังนั้นต้องทำให้เสร็จในยุคของ “เศรษฐา” ไม่ตกไปถึงยุค “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในกรณีที่คนตระกูลชินวัตร ต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ คนที่สอง

เพราะการขึ้นมาของ “แพทองธาร” กล่องดวงใจของ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะมีโครงการเสี่ยงสูงไม่ได้ บทเรียนจากตัวของ “ทักษิณ” บทเรียนจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องถูกขจัดไปไม่ให้เป็นภัยต่อ “แพทองธาร”