'คำนูณ' ห่วง ออกกม.กู้เงิน แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดรธน.-กม.วินัยการคลัง
"สว.คำนูณ" ชี้หลักเกณฑ์ออกกม.พิเศษกู้เงินต้องยึดเงื่อนไข รธน.มาตรา140 - กม.วินัยการเงินการคลัง ระบุเข้าใจเจตนารัฐบาลแต่ยังกังวล ขอฟังกฤษฎีกา
ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตนกังวลว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่ เนื่องจากบทบัญญัติระบุชัดเจนว่าการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนั้นทำได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน หากเข้า 4 เงื่อนไข จึงจะสามารถออกกฎหมายพิเศษกู้เงินได้
"ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเข้าสู่สภาฯ ในเดือนธ.ค.นี้ ดังนั้น การบรรจุเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลงไปในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะปลอดภัยกว่า และอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทัน ซึ่งการที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แล้วมาออกพ.ร.บ.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ตนเห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังได้" นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่าส่วนที่รัฐบาลระบุความจำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ตนขอไม่ก้าวล่วง เพราะมีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์แตกต่าง 2 ทาง และความเห็นของรัฐบาลที่มองว่าจีดีพีของประเทศโตต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศอื่น เมื่อเปรียบเทียบแล้วถือเป็นวิกฤตของประเทศ ซึ่งตนก็เคารพความเห็นของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมา และเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงมองว่าประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันได้
"เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยชี้แจงต่อ กกต. เรื่องที่มาของเงินสรุปโดยรวมว่า มาจากเงินงบประมาณ แต่ล่าสุดกลับระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณด้วยการออกกฎหมายกู้เงิน ซึ่งหากเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนตัวไม่ขัดข้อง แต่มีความเป็นห่วงว่าจะไม่ตรงตามข้อกฎหมาย" นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ระบุว่าจะขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงต้องรอฟัง รวมถึง ครม. จะมีมติเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงินต่อรัฐสภาหรือไม่ จากนั้นก็ต้องดูว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน มีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลดึงดันออก พ.ร.บ.กู้เงินต่อไปจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า "ไม่ขอใช้คำว่าดึงดัน แต่มองว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศและขอให้เครดิตนายกฯ ที่เลือกวิธีนี้ แต่วิธีนี้จะไปต่อได้หรือไม่ คงต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
นายคำนูณ ฐานะปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวด้วยว่าสำหรับการประชุมกมธ. ได้พิจารณาศึกษานโยบายประชานิยมในภาพรวมในเชิงวิชาการ โดยมีประเด็นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่กมธ.ฯ ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วย ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 กำหนดการกำกับนโยบายประชานิยมไว้ด้วยว่าให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หากคณะกรรมการฯเห็นด้วย ก็ให้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระสามหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กกต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากมีความเห็นสองในสามว่าเข้าข่ายกระทำผิด ก็ให้ส่งรายงานเสนอไปยังครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่เป็นกลไกตามรัฐธรมมนูญ ที่จะทำให้กฎหมายวินัยการเงินการคลังมีความศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติได้ เรื่องนี้จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป.