ปลด‘โซ่การเมือง’-สร้างขีดแข่งขัน โจทย์ใหญ่ฝ่า‘กับดักรายได้ปานกลาง’
"ถ้าจะให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง จำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องลงทุนสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้ประเทศมีซัพพลายเชนใหม่ มีงานและมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
โจทย์ใหญ่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากยังติดหล่มอยู่ใน “หลุมดำ” โดยเฉพาะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ที่เป็นเสมือนอุปสรรคขวากหนามสำคัญ ไม่ต่างจากพันธนาการ “การเมือง” ที่อาจเป็นตัวฉุดรั้งสำคัญไม่แพ้กัน
“Change the future today: เปลี่ยนประเทศไทยต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้” เปิดมุมมอง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หนึ่งใน “ผู้นำความคิด” ทางการเมืองที่เคยสร้างสถิตินำพาคนรุ่นใหม่เข้าสู่สภามากที่สุดยุคหนึ่ง
เขาเริ่มต้นที่การฉายภาพสั้นๆถึงบทบทนอกสภาโดยเฉพาะการทำงานในระดับท้องถิ่น พร้อมเปรียบการบริหารงานระดับท้องถิ่นกับเศรษฐกิจ เหมือนกันตรงที่ประเทศไทยกำลังติด “กับดักรายได้ปานกลาง” มาอย่างยาวนาน แนวทางที่ไทยจะออกจากกับดักตรงนี้ คิดว่ามี2ประเด็น
ถ้าเราดูวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาตั้งแต่ศตวรรษที่2500เรามีการสร้างธนาคารแห่งประเทศไทย มีการสร้างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่1 คิดว่า
จนถึงวันนี้mindsetไม่ได้เปลี่ยนไปเลย นั่นคือการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศแต่เพียงเท่านั้น
ไม่มีประเทศใดที่จะออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้โดยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างบริษัทของประเทศไทยที่เป็นแบรนด์ระดับโลกที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองคิดว่ามันน้อยมาก
"ถ้าจะให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง จำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องลงทุนสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้ประเทศมีซัพพลายเชนใหม่ มีงานและมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง"
ธนาธร ยังฉายภาพว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี2540 อุตสาหกรรมที่เป็นตัวแบกอุ้มเศรษฐกิจของประเทศไทยคืออุตสาหกรรมออโตโมทีฟ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานและสร้างมูลค่าส่งออกมากที่สุด 2อุตสาหกรรมนี้ถูกดิสรัปอย่างไร และคิดว่า พาประเทศไทยพาเศรษฐกิจไทยไปตรงนี้ไม่ได้
หมายความว่า จะไม่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่มีการลงทุนอย่างก้าวกระโดด แต่มีเพียงแต่การชดเชยค่าเครื่องจักรที่มันเก่า แต่การลงทุนเพื่อขยายการผลิตเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ๆจะน้อยมาก
พูดง่ายๆ2อุตสาหกรรมหลักที่เราพึงพิงมาตั้งแต่ปี2540 จะพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ไม่ได้ จะพาเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าจำเป็นจะต้องซัพพลายเชนใหม่สร้างอุตสาหกกรรมที่เป็นเทคโนโลยีของคนไทย
- “เปลี่ยน” ปัญหา เป็น “ดีมาน”
"ถ้าเราสามารถตั้งโจทย์ได้โดยเอาปัญหาสังคมเป็นตัวตั้ง แปรปัญหาสังคมมาเปลี่ยนให้เป็น “ดีมาน” หรือเปลี่ยนให้เป็นความต้องการทั้งประเทศแล้วใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นตัวสร้างดีมาน และเมื่อเกิดดีมานขึ้น ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ เกิดอุตสาหกรรมใหม่เกิดการจ้างงานแรงงานในประเทศ"
ถ้าเอาปัญหาประชาชนแปรเปลี่ยนเป็นดีมานโดยใช้การใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้นดีมาน และทำให้เกิดความสร้างขีดสามารถในในการแข่งขันเพื่อไปพัฒนา “ซัพพลายไซต์”
ย้ำอีกครั้งปัญหาของเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการบริโภค ถ้าเราไปเน้นเรื่องการกระตุ้นการบริโภคมันไม่ยั่งยืน ถ้าจะพูดถึง “sustainable growth” ต้องพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน
มีการทำการศึกษาหรือประเมินหรือประเมินคาดการณ์หรือไม่ว่าถ้าสมมุติเราใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของประชาชนเรื่องพื้นที่กำลังทำอยู่จะสามารถกระตุ้นหรือทำให้เศรษฐกิจของไทยก้าวไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน?
ประธานคณะก้าวหน้า มองว่า แน่นอนที่สุดการอัดฉีดเข้าไปที่ภาคการบริโภคมันเร็วกว่า แต่การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ใน3เดือน6เดือน ดังนั้นในการลงทุนถ้ารัฐบาลไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองไม่มีใครทำได้ เพราะทำแล้ว4ปียังไม่แน่นอนว่าจะเห็นผลหรือไม่ ดังนั้นการจะทำให้ยั่งยืนคือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
- “โจทย์ใหญ่”สร้างขีดความสามารถหลุดพ้น“หลุมดำ”
คิดว่าอะไรที่เป็นหลุมดำทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ตอนนี้?
ธนาธร มองว่า ย้ำอีกครั้งเศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่ได้แย่ หมายความว่าไม่ใช่เศรษฐกิจติดลบ ปัญหามันเรื้อรังมากกว่านั้นคือเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน 10ปีที่ผ่านมาถ้าเราเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน
ยกตัวอย่างอินโดนิเซีย และมาเลเซีย ซึ่งทั้ง2ประเทศใน10ปีที่ผ่านมา GDP growth เติบโตเฉลี่ย4-6% ขณะที่ไทย10ปีที่ผ่านมา GDP growth เติบโตเฉลี่ย2-4%
“ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจไทย ย้ำอีกครั้งว่าเศรษฐกิจไทยไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหามันมีปัญหาแน่นอน หนี้สินครัวเรือนต่อGDPเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เกิดสภาวะหนี้สินโดยเฉพาะหลังจากวิกฤติโควิด แต่ถามว่าเมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจทำไมยังโตต่อเนื่องเพียงแค่2-4% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเติบโต4-6% ดังนั้นนี่คือโจทย์ใหญ่ทำอย่างไรที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน”
เขายังฉายภาพไปที่ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีประชากรอายุเกิน60ปี มากกว่า20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะกลายเป็นภาระของคนรุ่นต่อไป คนที่อายุ20ปีวันนี้อาจจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยอยู่เท่าเดิม
ดังนั้นถ้าเราไม่ปรับปรุงเรื่อง Productivityลองคิดดูว่า ถ้า output เท่าเดิม ผลผลิตเท่าเดิมแต่ต้นทุนการผลิตน้อยลง คือใช้แรงงาน เวลา เงินลงทุน หรือวัตถุดิบน้อยลงเพื่อให้ได้output หรือผลผลิตเท่าเดิม
ดังนั้นโจทย์คือต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ให้ได้outputเท่าเดิม แต่ใช้ Input น้อยลง นี่คือโจทย์อีก10ปี20ปีที่จะต้องทำให้ได้ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุนเรื่องนี้คนรุ่นต่อไปจะต้องทำงานหนักขึ้นโดยที่ประเทศไทยอยู่เท่าเดิม
- “ความเหลื่อมล้ำ” หลุมดำ ฉุด “ขีดการแข่งขัน”
เขายังมองว่า อีกหนึ่งหลุมดำที่คิดว่าใหญ่พอกันคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ห่างกันโดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงวิกฤติโควิดยิ่งเห็นได้ชัด ปัญหานี้จึงเกี่ยวพันกับความสามารถขีดการแข่งขันและสังคมสูงวัยตามที่กล่าว ไปแล้ว
ย้อนหลังกลับไป10ปีเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยมี8แสนคน แต่วันนี้เด็กเกิดใหม่มี5แสนคน คือย้อนกลับไป20ปีที่แล้วมีเกือบล้าน หมายความว่า เด็กเกิดใหม่จาก1ล้านวันนี้เหลือ5แสน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
ถามว่าทำไมคนไม่อยากมีลูกเพราะค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ที่เป็นหลุมดำของการไม่มีขีดความสามารถ วันนี้ขอถามว่าเรามีงานที่มีคุณภาพให้คนเหล่านี้ทำหรือไม่
การที่เราจะสร้างงานได้คือจะต้องส่งออกได้ จะต้องมีอุตสาหกรรม ต้องขายของได้จะขายของได้ก็ต้องแข่งขันกับโลกได้ แต่เมื่อแข่งขันกับโลกไม่ได้อุตสาหกรรมมีจำกัด งานมีจำกัดคนก็ไม่มีความมั่นคง ดังนั้นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเวลานี้ถือว่าเป็นอันตรายมาก
- ถึงเวลา “เปลี่ยน” ระบบจัดสรรงบกระจายถ้วนหน้า
“วันนี้จำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณใหม่ วันนี้มีความเหมาะสมที่จะต้องแปลเปลี่ยนงบประมาณที่ไม่จำเป็นปรับเปลี่ยนเป็นงบที่จะอุดหนุนส่งเสริมให้คนอยากมีลูก หรือพ่อแม่ควรจะได้รับงบที่ส่งเสริมให้เขามีความมั่นคงได้”
ธนาธร ยังมองว่า วันนี้เด็ก0-6ปี คุณต้องไม่ได้600บาท คิดว่า ถ้าเราใช้งบประมาณสัก1,200บาทต่อคนทุกคนถ้วนหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจนเพื่อกระตุ้นให้คนที่อยากมีลูกมีความมั่นใจและพร้อมมีลูกมากขึ้น ซึ่งหากทำเช่นนี้จะใช้งบเพียง4-5หมื่นล้าน ส่วนตัวเห็นว่า สามารถจัดสรรได้โดยการลดงบประมาณต่างๆที่ไม่จำเป็นลง
การจะหลุดพ้นจากหลุมดำเหล่านี้ท้ายที่สุดคุณหนีปัญหาการเมืองไม่พ้น ผมคิดว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ต้องแก้ปัญหาการเมือง
"ในเมื่อแต่ละฝักแต่ละฝ่ายพร้อมสู้รบกันจนแตกหัก ผู้นำที่มีอำนาจมักใช้ทรัพยากรของตัวเองไปเพื่อห้ำหั่นทางการเมืองงบประมาณถูกใช้เพื่อสร้างความนิยมให้กับตัวเองและพวกพ้อง ขณะเดียวกันงบประมาณยังถูกใช้ไปเพื่อระบบอุปถัมภ์ของตัวเองเพียงเท่านั้น ตราบใดที่ยังแก้การเมืองไม่ได้ก็ไม่มีทางที่จะทำเรื่องต่างๆตามที่กล่าวมา"
เขายังมองว่า เป็นเรื่งที่สำคัญมากว่าการพัฒนาประเทศภายใต้บริบทการเมืองเช่นนี้เป็นไปไม่ได้จะเป็นต้องแก้ปัญหาโครงสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างประชาธิปไตย ประเทศไทยเป็นประเทศมีรัฐประหารมากที่สุดในโลก เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ทุก5ปี สิ่งที่เกิดขึ้นบ่งบอกว่าเราไม่มีกติกาที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นตราบใดที่หากฎกติกาที่ทุกคนยอมรับร่วมกันไม่ได้ ยังนึกไม่ออกว่าประเทศจะพัฒนาต่อไปอย่างไร
- รักษาสมดุลมหาอำนาจ บาลานซ์"ศก.-การเมือง"
ประธานคณะก้าวหน้า ยังฉายภาพท่ามกลางการแข่งขันกับทั่วโลก รวมถึงประเทศมหาอำนาจต่างๆ คิดว่ายุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8ปีที่ผ่านมาพาประเทศเข้าใกล้จีนมากเกินไป เช่นกรณีการเกิดสงครามรัซเซีย-ยูเครน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ลงมติงดออกเสียง ในขณะที่143 ประเทศในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีมติประณามรัสเซีย
ส่วนตัวมองว่า นโยบายประเทศที่จะรักษาสมดุลได้ ในเอเซียเรามีจีน ญี่ปุ่น ฝั่งตะวันตกมีสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่าเรามีประเทศมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารมากมาย คิดว่า position ของเราไม่ควรอิงกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไปแต่ควรต้องรักษาสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
ที่ผ่านมาไทยถดถอยในสถานะการนำทางอาเซียนผมอยากเห็นไทยมีความเป็นผู้นำและพร้อมจะร่วมมือกับชาติต่างๆเพื่อหาบทสรุป รวมถึงกรอบในการทำงานและการเจรจามหาอำนาจต่างๆร่วมกัน
- หนุน“ทุนใหญ่” กระจายซัพพลายเชน-สกัดผูกขาด
ในทางเศรษฐกิจคิดว่าเราต้องการเห็นรัฐที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยให้แข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้นซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับบทบาททุนใหญ่ของประเทศไทย
แน่นอนผมต่อต้านทุนผูกขาด แต่ถามว่า เราต่อต้านบทบาทของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยหรือเปล่า... “ไม่” กลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยต้องมีบทบาทเฉพาะในขั้นตอนการพัฒนาประเทศ ที่ต้องไม่ใช่การขูดรีดหรือดึงมูลค่าส่วนเกินในประเทศ
“บทบาททุนใหญ่รัฐควรต้องสนับสนุนทุนใหญ่ แต่ต้องไม่ใช่การสนับสนุนทุนใหญ่ให้กลับมาหามูลค่าส่วนเกินในประเทศ มูลค่าส่วนเกินในประเทศต้องพัฒนาSMEs ต้องพัฒนาซัพพลายเชนของทุนใหญ่ให้เป็นซัพพลายเชนตรงนั้น มีบริษัทขนาดเอ็มขนาดเล็กมาซัพพลายกันเป็นทอดๆเกิดการจ้างงานกันเป็นทอดๆ”
ประธานคณะก้าวหน้า ทิ้งท้ายว่า หากเปรียบเศรษฐกิจไทยตอนนี้เหมือนคนอายุ40ปลายๆยังไม่แก่แต่ปรับตัวไม่ทัน คนๆนี้กำลังอยู่ในทาง2แพร่งคือถ้าอยู่ต่อไปก็จะแก่และจนขณะเดียวกันก็มีทางเลือกที่จะปรับพัฒนาวิธีคิดและการมองโลกเชื่อมโยงตัวเองกับโลกในการเรียนรู้และนำทักษะใหม่ๆเข้ามาใช้ในชีวิตได้
แต่ก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้ก็มีพันธนาการทางสังคม โดยเฉพาะการเมืองที่ล่ามโซ่เอาไว้ด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ฉะนั้นคนๆนี้จะหลุดพ้นพันธนาการไปได้ต้องกล้าหาญเปิดประตูสู่โลกใบใหม่ออกไปเผชิญโลก กล้าเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส