'พัชรวาท' สั่ง เกาะติด รอยเลื่อน เสี่ยง 'แผ่นดินไหว' กำชับ เตรียมแผนเผชิญเหตุ

'พัชรวาท' สั่ง เกาะติด รอยเลื่อน เสี่ยง 'แผ่นดินไหว' กำชับ เตรียมแผนเผชิญเหตุ

“พัชรวาท” สั่ง “กรมทรัพยากรธรณี” แนะนำข้อปฏิบัติให้ ปชช. เตรียมรับมือ “แผ่นดินไหว” เพื่อความปลอดภัย กำชับ เกาะติดกลุ่มรอยเลื่อน ใน 23 จังหวัด เข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ ประเมินผลกระทบ ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยแจ้งข่าวให้ทันสถานการณ์

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหวที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ทำให้ประชาชนในภาคเหนือหลายจังหวัดรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งเกิดแผ่นดินไหวที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แม้ไม่มีรายงานความเสียหาย แต่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนว่า จากกรณีดังกล่าวได้มีความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับ เหตุการณ์แผ่นดินไหว และข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัย เพื่อลดความตระหนก ให้มีความสบายใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่ และเร่งรัดให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการสำรวจ ศึกษา และติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำแผนที่แสดงภัยพิบัติแผ่นดินไหว และแผนที่แสดงจุดปลอดภัยสำหรับเป็นจุดรวมพลชั่วคราวและอพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว จัดทำแผนการซักซ้อมอพยพภัยแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้นำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ไปใช้ประกอบการจัดทำ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  

ทั้งนี้ ได้รับทราบรายงานจาก กรมทรัพยากรธรณี ว่าประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่สำคัญส่วนใหญ่ที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้ อยู่ในภาคเหนือเช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา และกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย 

โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี ให้ติดตามข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบในพื้นที่ ให้คำแนะนำแก่ประชาชน และจัดทำรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวด่วนเสนอ ผู้บริหาร ทธ. ทส. เผยแพร่สู่เครือข่ายภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ทราบข้อเท็จจริง และมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนชี้แจงถึงสาเหตุและวิธีปฏิบัติตนเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้กับประชาชนได้เข้าใจ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนก 

พร้อมกันนี้ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจวัดแผ่นดินไหว และติดตามการเกิดแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เพื่อแจ้งข่าวให้กับประชาชนทราบสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชน สามารถตรวจสอบข้อมูล หรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหวได้จากกรมทรัพยากรธรณี ผ่านช่องทาง เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ค ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสารมวลชน หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี หมายเลขโทรศัพท์ 02 621 9500