เปิด พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 อำนาจนายกฯ แต่งตั้งโยกย้าย ?
ไม่มีความใดใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับ ส่วนเรื่อง “ตั๋ว” ย่อมเป็นเรื่องยาก ที่จะหาหลักฐานจากฝ่ายการเมือง
กระแสดราม่า “ตั๋วเพื่อไทย” จากกรณี นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย พูดกลางวงประชุม สส.พรรค เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2566 เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ “ผู้กำกับ” จนเกิดแฮชแท็กใน X (ทวิตเตอร์) #ตั๋วเพื่อไทย
ทำให้มีการตั้งคำถามถึงอำนาจ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเป็น "ประธานคณะกรรมการข้าราชการตํารวจ" สามารถแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจได้หรือไม่
แม้ล่าสุด นายกฯ เศรษฐา จะชี้แจงว่า ไม่มีอำนาจและไม่เคยแทรกแซงก้าวก่าย การแต่งตั้งข้าราชการ หรือตำรวจ เพราะเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะพิจารณาตามผลงาน
ดังนั้น จึงต้องเปิด “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565” เพื่อเคลียร์ปมสังคมถกเถียงกันเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ถึงอำนาจนายกรัฐมนตรี มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
ตามโครงสร้างคณะกรรมการข้าราชการตํารวจ (ก.ตร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาได้ทำหน้าที่ตาม มาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
สำหรับแต่งตั้ง “รอง ผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ” เป็นอำนาจของ ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การแต่งตั้ง "ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรองจเรตำรวจแห่งชาติ" - "ผู้บัญชาการและจเรตำรวจ" เป็นอำนาจของ ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) เสนอแนะ แล้วเสนอ ก.ตร. ให้ความเห็นชอบ แล้วจึงนำเสนอนายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การแต่งตั้ง “รอง ผบช.และรองจเรตำรวจ” - “ผู้บังคับการ” เป็นอำนาจของ ผบ.ตร. คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้ง ข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) เสนอแนะ โดยให้นำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้า ส่วนราชการระดับกองบัญชาการที่ได้มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการ ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. มาประกอบการพิจารณาด้วย
หากมีความเห็นแตกต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้า ส่วนราชการ ให้ชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81 (1) (ก) ก่อนเสนอ ก.ตร. พิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วจึงนำเสนอนายกฯ นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ส่วนการแต่งตั้ง “ผู้กำกับฯ” ตามที่นายกฯเศรษฐาพูดกลางวงประชุม สส.พรรคเพื่อไทยนั้น อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 79 หากเป็น บช.ในสังกัดสำนักงาน ผบ.ตร.ให้ “ผบ.ตร.”เป็นผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้ง ส่วน บช.ที่มิได้สังกัด สำนักงาน ผบ.ตร.ให้ “ผู้บัญชาการ เป็นผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้ง
โดยให้นำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับกองบัญชาการ หรือกองบังคับการ แล้วแต่กรณีที่ได้มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. มาประกอบการพิจารณาด้วย หากมีความเห็นแตกต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการ ให้ชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามมาตรา 81
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ลงนามในบันทึกข้อความที่ 0009.231/4320 ถึงผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือ ตำแหน่งเทียบเท่า เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก. ลงมาถึง สว. วาระประจำปี 2566 ดังนี้
หน่วยงานในสังกัด สง.ผบ.ตร. ให้ดำเนินการจัดส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น บัญชีข้อมูลผู้ไม่เหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ข้อมูลเสนอแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องไปยัง ตร.(ผ่าน ทพ.) ภายใน 20 พ.ย.2566
บช. ที่มิได้สังกัด สง.ผบ.ตร. ให้ดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก. ลงมาถึง สว. ให้เสร็จสิ้น ให้มีคำสั่งแต่งตั้งพร้อมกันทุกหน่วยใน 29 พ.ย.2566 โดยให้คำสั่งมีผลใช้บังคับ พร้อมกันใน 30 พ.ย.2566
ดังนั้น จึงไม่มีความใดใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับ ส่วนเรื่อง “ตั๋ว” ย่อมเป็นเรื่องยาก ที่จะหาหลักฐานจากฝ่ายการเมือง