'(อดีต) กรธ.' ชี้สัญญาณอันตราย แก้ 'กม.ประชามติ'
แนวคิด แก้กม.ประชามติ ที่รอลุ้นผล พรุ่งนี้ ว่าจะออกมาในแนวทางใด ล่าสุดมีความเห็นจาก "อดีตผู้ยกร่างรธน.60" ชี้ว่านี่คือสัญญาณอันตราย และหวังทำลายหลักการความชอบธรรมของ "เสียงข้างมาก"
คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของรัฐบาล เตรียมหารือ 24 พ.ย. นี้ นอกจากวาระที่ติดตามการรับฟังความเห็นของประชาชน ที่ชุดรับฟัง ของ “นิกร จำนง” ออกไปรับฟังความเห็นแล้ว
จะมีประเด็นพ่วง คือ ข้อเสนอแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 13 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ “ผ่านประชามติ” ที่กำหนดให้ใช้เสียง “ข้างมากเกินครึ่ง” 2 สเต็ป คือ ผู้ออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งและผู้มีสิทธิ และ เสียงเกินครึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ
แน่นอนว่าประเด็นนี้ ฟากของ “รัฐบาล” คงได้รับการเห็นพ้อง และสำทับแรงสนับสนุนจาก “พรรคก้าวไกล” ฐานะฝ่ายค้านเบอร์หนึ่งในสภาฯ เพื่อเปิดทางนำไปสู่ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ได้โดยง่าย
ดังนั้นขั้นตอนการ แก้ไข-ปรับปรุง พ.ร.บ.ประชามติ จึงแทบไม่มีขวากไหนขวางกั้น แม้จะมี เสียง “สว.” ที่สะท้อนว่า “ไม่เห็นด้วย” ก็ตาม
กับประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ “เสียงข้างมาก2ชั้น” นั้น ในมุมของ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่าง ศ.เกียรติคุณ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า นี่คือ การทำลายหลักการของความชอบธรรม ที่ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนด ตามระบบประชาธิปไตยแบบเสรี
ดร.ชาติชาย มองด้วยว่า พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 คือ หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับที่ ที่กำหนดไว้ว่า การออกเสียงประชามติที่เป็นข้อยุติต้องมีคนออกมาใช้สิทธิ เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ขณะเดียวกันเสียงที่นับว่าเป็นมตินั้นต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ดังนั้นเสียงที่แทรกออกมาระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญ เขาคงคิดว่า การแก้รัฐธรรมนูญอาจจะผ่านยาก หากใช้เสียงข้างมากแบบดับเบิ้ล
“การใช้กลไกประชามติ ถือว่าเป็นการสร้างมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างความชอบธรรมทางการเมือง เพราะหากประชาชนเห็นด้วยกับเรื่องที่นำไปออกเสียงประชามติ แม้ สส. หรือ สว. ไม่เห็นด้วย ไม่สามารถคัดค้านได้ ส่วนความต้องการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของฝ่ายที่อยากจะแก้รัฐธรรมนูญ ที่มองว่าการใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากเกินครึ่ง 2 ชั้นนั้น เป็นอุปสรรคที่อาจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้ยาก” ดร.ชาติชาย ระบุ
ส่วนประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 13 ที่ยังไม่มีข้อสรุป ว่าจะทำลายหลักการ “เสียงเกินครึ่ง2ชั้น” แบบใด ดร.ชาติชาย ให้ความเห็นด้วยว่า ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไร ความเห็นในหลักวิชาการนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการออกเสียงประชามติ อยู่บนทฤษฎีการเมือง คือ เสียงส่วนใหญ่เป็นของประชาชน ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย หากกำหนดให้ใช้เสียงประชามติไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จะผิดหลักการของการออกเสียงประชามติในระบบเสรีประชาธิปไตย
"หากคิดว่าเสียงที่ออกมาประชามติ ได้แค่ 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 3 ก็พอ นั้นไม่ถูกต้อง และอาจจะเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมา แม้ว่าพ.ร.บ.ประชามติ จะออกมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหายังครอบคลุมถึงเนื้อหาเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน” ดร.ชาติชาย ระบุ
อย่างไรก็ดีในมิติทางการเมือง “ดร.ชาติชาย” มองว่าการส่งสัญญาณแก้ พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับปัจจุบันที่ยังไม่เคยบังคับใช้ และไม่เคยมีกรณีตัวอย่างที่เป็นปัญหา อันอาจนำไปสู่การแก้ไข คือ สัญญาณอันตราย ที่สื่อให้เห็น “เจตนาของนักการเมือง” ที่จ้องรื้อระบบป้องกันทุจริตของนักการเมือง ในรัฐธรรมนูญ
“ฝ่ายการเมืองอาจไม่มั่นใจว่า การทำประชามติในคราวแรกว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ จะผ่านหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้มีปัญหา ข้อขัดข้องหรือข้อบกพร่องที่ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ เสรีภาพเลย มีเพียงนักการเมืองที่อยากจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์กับการใช้อำนาจ และเป็นหลักการการใช้อำนาจ ที่นักการเมืองไม่พอใจ ทั้งกรณีที่ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ตัดสินจริยธรรม หรือตัดสินการใช้อำนาจล่วงเกินหรือวุ่นวายกับงบประมาณแผ่นดิน” อดีต กรธ. ประเมิน
พร้อมท้าวความไปถึงตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยว่า การวางหลักการคานอำนาจนักการเมือง ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะ ต้องคุมประพฤติ สส. เพราะที่ผ่านมาการทำหน้าที่สส.ในสภาฯ มีปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่ากลไกตรวจสอบกันเองไม่ดีพอ พรรคการเมืองไม่มีวุฒิภาวะ และไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จนเป็นที่มากของการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจตุลาการ เข้ามาคานอำนาจ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งและไว้วางใจได้
“แม้การแก้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น จะมาจากนักการเมืองที่ไปให้สัญญากับประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอ้างวาทะกรรมว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ต้องมาจากประชาชน ดังนั้นต้องทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้ แต่กลับไม่ได้ตกลงว่าจะแก้ไขเรื่องใด จึงถือเป็นอุบายทางการเมือง ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้นการปรับแก้มาตรา 13 ของพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญได้ง่าย แม้รู้ว่าจะเสียหลักการของเสียงข้างมากก็ตาม” อดีตกรธ. ระบุ
ส่วนประเด็นการเมืองที่ “ดร.ชาติชาย” วิเคราะห์สิ่งที่นักการเมืองจะแก้รัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป นอกจากโละการคานอำนาจ ถ่วงดุล และข้อห้าม ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงข้าราชการ ยุ่งกับงบประมาณแผ่นดินแล้ว คือ การหาช่องทางเพื่อสร้างตลาดการเมือง ผ่านการโละกติกาเลือกตั้ง บล็อคฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะ ฝ่ายพรรคก้าวไกล ไม่ให้เติบโตทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะพรรคการเมืองใหญ่ๆ อาทิ พรรคเพื่อไทย ฐานเสียงลดลง หรืออย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคเก่าแก่ซึ่งรอวันสูญพันธุ์
"ในตลาดการเมืองพรรคใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ จึงคิดแก้ไขกติกา ผมมองว่าผิดตั้งแต่ต้น เพราะขณะนี้ประชาชนไม่มีปัญหากับรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาในเรื่องปากท้อง สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ทำงานให้รวดเร็วหรือไม่มีหน่วยงานที่ตอบโจทย์ปัญหาชาวบ้านได้ อีกทั้งบริบทการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนไป แม้จะมีกลุ่มที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ แต่เป็นพวกสุดโต่ง อยากจะปรับแก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ หรือ สถาบันเบื้องสูง แต่ภาพรวมแล้วคนไม่สนใจ และไม่ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด” ดร.ชาติชาย กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า สำหรับการทำงานของกรรมการประชามติของรัฐบาล ตอนนี้ขอเฝ้าดูอยู่ห่างๆ.