'กมธ.งบฯ' ซัด 'ส.งบ' หมกเม็ด เล็งฟอร์ม 'ฝ่ายค้าน' คุ้ยรายละเอียดร่างกม.งบ67
'ณัฐพงษ์' ชี้ ส.งบฯ หมกเม็ด ทำงบไม่โปร่งใส เตรียมฟอร์มทีมฝ่ายค้าน คุ้ยรายละเอียดร่างพ.ร.บ.งบฯ67 ก่อนผ่าน ผุดไอเดีย ทำร่างกม.งบฯ68 ฉบับในฝัน ประกบรัฐบาล
ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการแก้หนี้นอกระบบอของรัฐบาล ว่า ตนรู้สึกว่าการดำเนินงานของรัฐบาลหลายอย่าง ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะขณะที่กำลังแก้ไขหนี้นอกระบบให้ประชาชน ยังเตรียมออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ที่สร้างหนี้สาธารณะให้ประชาชน ซึ่งตนขอตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ขณะนี้กมธ. ยังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะต้องการความชัดเจนในรายละเอียด เช่น ขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่
นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการเตรียมความพร้อมต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า กมธ.อยู่ระหว่างรอคำของบประมาณที่อนุมัติจัดสรรรายโครงการ ที่คาดว่าจะมีรายละเอียดในวันที่ 23 ธ.ค. และ ครม.จะมีมติในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ เพื่อเตรียมพิจารณาว่าเหมาะสมและสอดคล้องความต้องการของประชาชนหรือไม่
เมื่อถามว่า ในส่วนการอภิปรายงบประมาณนั้น ได้มีการแจกแจงให้พรรคร่วมฝ่านค้านได้รับผิดชอบหัวข้อการอภิปรายอะไรบ้าง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีแผนว่าจะเปิดเผยข้อมูลคำขอ 5.8 ล้านล้านบาท เทียบคู่กับ 3.48 ล้านล้านบาท ที่ทางสำนักงบฯจัดสรรมา สส.ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านช่วยกันตรวจสอบ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้ถือหลักเกณฑ์เพียงผู้เดียว
"ในการจัดสรรงบ ซึ่งทางกมธ.ฯ ได้เข้าไปดูงานที่สำนักงบฯ และได้คำชี้แจงกลับมาว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เปิดให้ทุกคนเข้าไปตรวจสอบได้ นั่นคือ ไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ เป็นการตัดสินใจภายในสำนักงบประมาณทั้งหมด ดังนั้น เป็นสิทธิและหน้าที่ของสส.ทุกคนที่สามารถตั้งคำถามถึงการตัดงบประมาณว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะให้มีการผ่าน ร่างกฎหมายงบประมาณ ปี67" นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 67 ล่าช้าเป็นครึ่งปีถือเป็นความเสียหาย เพราะงบการลงทุนที่เป็นรายจ่ายจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ทั้งนี้ตนมองว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจของการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน จะเกิดประโยชน์ กับประชาชนในระยะยาว จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาโดยเร็ว
"ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 68 ที่จะเข้าต่อจากปี 67 ทางกมธ.ฯ ตั้งใจจะให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 68 เป็นร่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอประกบกับร่างของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ ที่สส. ฐานะตัวแทนประชาชนอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร" นายณัฐพงษ์ กล่าว.