กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง พับแผนเก็บงบ 28 ล้านบาท
"ชมรมคนรักภูกระดึง" อัดภาพเจ็บจี๊ด สร้าง "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" ต้องสะบายแค่ไหน? ด้าน ส.ส.เลย บอก คนพื้นที่เห็นด้วย พ่อแม่ลูกหาบไม่อยากให้ลูกหลานทำต่อ เสียสุขภาพ ย้ำอยากให้ทุกคนมีโอกาสได้ขึ้นสักครั้ง
เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์เลยก็ว่าได้ สำหรับแผนพัฒนา กระตุ้นการท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดยเฉพาะการก่อสร้าง "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" ที่ผ่านมาหลายยุครัฐบาลก็ยังทำไม่สำเร็จ? ล่าสุดวานนี้ (4 ธ.ค. 66) ที่ จ.หนองบัวลำภู พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ว่า ที่ประชุมครม. ยังไม่ได้มีการพิจารณาอนุมัติงบประมาณการออกแบบกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย จำนวน 28 ล้านบาท เพราะยังมีทั้งผู้เห็นต่างและสนับสนุน จึงได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุป ก่อนจะพิจารณาเรื่องนี้
ด้านนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ให้นำเรื่องนี้ส่งให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาจัดลำดับความเหมาะสมตามความเร่งด่วน จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะแล้วเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เพราะต้องรอสำนักงบประมาณ ไปจัดลำดับความสำคัญก่อน
ขณะที่นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ (เอิร์ธ) กรณีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ว่า พูดในฐานะ ส.ส. ในพื้นที่ ภูกระดึง นะครับ ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้สร้างครับ เพราะมองเห็นว่าสร้างคุณค่ามากกว่าผลกระทบ แต่ไม่ได้มองข้ามเรื่องการรักษาธรรมชาติ คนพื้นที่รู้ดีครับว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันรักษา และรับฟังข้อห่วงใยของทุกคนเสมอ
ส่วนตัวขึ้นภูกระดึงไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ตั้งแต่เด็กจนโต เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด ได้มีโอกาสคุยกับทั้ง จนท. นักท่องเที่ยว ประชาชนในเขต พ่อแม่พี่น้องที่เป็นลูกหาบ ร้านค้า ทุกซำ ทุกผา และที่ศูนย์บริการ ส่วนใหญ่เห็นด้วยครับ เพียงแค่มีข้อห่วงใยบางประเด็น ซึ่งเราก็รับฟังเสมอ
หลายท่านเข้าใจว่า โครงการกระเช้านี้ มุ่งเน้นเพื่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วการมีกระเช้า จะช่วยแก้ไขปัญหาหลายๆอย่างได้ เช่น การขนส่งสินค้า การจัดการขยะ การจัดการจำนวน นทท. การขนส่งอุปกรณ์ต่างๆ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเป็นต้น
ประเด็น เรื่องถ้ามีกระเช้าแล้ว พ่อแม่พี่น้องที่ทำอาชีพลูกหาบ จะเสียอาชีพและรายได้ ประเด็นต้องบอกว่า ในปัจจุบันจำนวนลูกหาบนั่นเหลือไม่มาก ช่วงที่ นทท. มากก็ไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอ และการหาบสิ่งของน้ำหนักมากๆ เดินขึ้นเขา มันไม่ดีต่อร่างกายแน่นอนอยู่แล้ว มีผลเสียระยะยาว พ่อแม่พี่น้องที่เคยทำอาชีพลูกหาบเอง ก็ไม่ได้ต้องการให้ลูกหลานมาทำต่อ เพราะมันส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเราสามารถช่วยให้พ่อแม่พี่น้องกลุ่มนี้ทำงานอื่นทดแทนได้
นายศรัณย์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่หลายท่านเป็นห่วงว่า คุณค่าในการมาเที่ยวภูกระดึงจะลดลง ถ้าหากมีกระเช้าไฟฟ้า ในความคิดของผม คุณค่าของการเดินทางเป็นสิ่งที่เราให้กับตัวเอง ถึงจะมีกระเช้า แต่คุณค่าของการเดินขึ้นภูกระดึงก็ไม่ได้ลดลง ไม่มีใครลดทอนคุณค่าเหล่านั้นได้ ยกเว้นตัวเราเอง
นายศรัณย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จะมีกระเช้าหรือไม่ ผมก็อยากเดินขึ้นเหมือนเดิม ถ้าร่างกายยังไหว ไม่ว่าจะกี่สิบครั้ง การเดินขึ้นภูกระดึงมันก็ยังพิเศษเสมอสำหรับผม การมีทางเลือกให้คนอื่นที่ต้องการขึ้นภูกระดึง ไม่ได้ทำให้คุณค่าของประสบการณ์ในการไปขึ้นของผมเสียไป อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสขึ้นไปสักครั้ง
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟสบุ๊ค "ชมรมคนรักภูกระดึง" ต่างมีสมาชิกในกลุ่มทั้งคนในพื้นที่จังหวัดเลย และคนรักภูกระดึง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หลาย
โดยผู้ใช้เฟสบุ๊ค "Apirath Maknuan" ได้โพสต์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า "เพื่อที่คนไทยทุกวัยจะได้ขึ้นภูแบบสะดวกสบาย เรามีกระเช้า บอกซำทุกจุด หรือใครอยากเดินเราก็มีบันไดเลื่อนบริการ แม้อยู่หลังแปเราก็มีทางเลื่อนสู่ลานกางเต็นท์ ไม่ต้องห่วงจะไม่ทันพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสักเรามีรถไฟ PTS บริการ หรือหิวอะไรสั่ง Grab มาส่งที่เต็นท์กันไปเลย หากอยากเดินทางส่วนตัว มี Taxi มีเธอ รอรับระหว่างทาง ทางดีมีเซเว่น อยากบอกว่าทุกอย่างเป็นการแสดงไม่มีจริงแต่บางคนคงอยากให้มี
ขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊ค "Nok Navigator" ได้โพสต์ต่อว่า เหรียญมีสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำกระเช้าขึ้นไปทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีข้อจำกัดเรื่องสภาพร่างกาย มีโอกาสขึ้นไปได้ และกระเช้าอาจช่วยนำคนเจ็บคนป่วย ขยะ ข้าวปลาอาหาร น้ำกิน น้ำใช้ เครื่องใช้อื่นๆ ขึ้นไปได้ง่ายขึ้น เส้นทางเข้าสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการหมุนเวียนของเม็ดเงินต่างๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่า นักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น
ส่วนข้อเสีย พวกที่เลือกเดิน ส่วนมากเป็นคนที่รักธรรมชาติอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ได้แต่รูปถ่ายสวยๆ กลับมาแล้วก็ไม่มีความหมายอะไร
เมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบน จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่น อาคาร บ้านพัก บ้านรับรอง ถนนหนทางข้างบน ที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่ได้เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้อะไรทั้งนั้นว่า ทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมแหล่งที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ภายใต้ข้อจำกัดของ งบประมาณและกำลังคนในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ ถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมากๆ เราพร้อมที่จะเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตแล้วหรือไม่?
ทั้งนี้ยังมีผู้ใช้เฟสบุ๊ค "Pongpon Tappapurana" บอกว่า กระแสการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงกลับมาอีกแล้ว ใครที่ไปขึ้นภูตอนนี้ ช่วยไปจุดธูปบอกกล่าว การก่อสร้างโครงการนี้กับเจ้าปู่ภูกระดึงที ขอบารมีเจ้าปู่ จงพิทักษ์ ปกปักรักษา ผืนป่าแห่งนี้ ไม่ให้การสร้างกระเช้าสำเร็จ ถูกตีตกไป มีกระเช้าขึ้นง่ายจริง แต่มันไม่จบที่แค่สร้างกระเช้าไง คำถามต่อไป แล้วคนที่อ้างว่า ขึ้นไม่ไหวจะเดินไปตามจุดต่างๆบนภูอย่างไร ต้องมีการตัดถนนผ่านป่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้มากขึ้นหรือไม่? หวงแหนเสน่ห์ของภูเอาไว้บ้าง ถ้าเสน่ห์มันหายไป คนที่กลับไปขึ้นภูซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เป็นสิบๆครั้ง คงไม่มีใครอยากกลับไปอีก อย่าทำการท่องเที่ยวแบบทุบหม้อข้าวตัวเองเลย คนพิการ คนแก่ 60-70 ปี เด็กน้อยขวบสองขวบที่พ่อแม่พาขึ้นภู มีให้เห็นเยอะแยะ อย่าเอาความไม่สะดวกของมนุษย์ไปทำร้ายธรรมชาติเถอะนะ ใครไม่เห็นด้วยช่วยๆกันใส่แฮชแทกเดียวกับผมนะครับ #คัดค้านการทำกระเช้าขึ้นภูกระดึง