‘4 คิง’ สังเวียนสภาฯ ‘4 พ.ร.บ.’ รอ ‘ยำใหญ่’
หากเปรียบ หนัง “4 คิง” ภาค 2 ที่กำลังเข้าฉายและเป็นกระแสอยู่ในเวลานี้ สมรภูมิการเมือง โดยเฉพาะเวทีสภา มี“4 กฎหมายร้อน” ก็กำลังจะกลายเป็นชนวนเปิดศึกระหว่างหลายอริไม่ต่างกัน!
“เกมนิติสงคราม” หรือ การใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อต่อสู้ฟาดฟันทางการเมือง ต้องจับตาหลังเปิดสภาฯ โฟกัสเฉพาะ “4 กฎหมาย” เผือกร้อนที่จ่อคิวเข้าสภาฯ หลังเปิดฉากสังเวียนในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ต้องไปลุ้นกันที่
1.พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือ “กฎหมายกู้แจกหมื่น”
สัญญาณจากรัฐบาล ล่าสุด “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง พูดถึงการส่งคำถามไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ทำได้หรือไม่ หรือขัดกฎหมายอย่างไร
“จุลพันธ์” ยังบอกว่า สาเหตุที่ล่าช้าเพราะต้องเติมรายงานของสภาพัฒน์เข้าไปประกอบ จึงต้องจับตาว่า ด่านกฤษฎีกาจะสรุปความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร หากเห็นด้วยตามที่รัฐบาลเสนอ ก็ไม่มีปัญหา ขั้นตอนต่อไป รัฐบาลก็จะเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาในแต่ละวาระ
ทว่า หากกฤษฎีกาตีความว่า การออกกฎหมายดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ต้องลุ้นว่ารัฐบาลจะตัดสินใจ “ลุยไฟ” ดันกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา ด้วยเหตุผลที่ว่า "เป็นเพียงการให้ความเห็นของกฤษฎีกาไม่มีอำนาจชี้ขาด" หรือไม่
หากเป็นเช่นนี้รัฐบาลก็อาจต้องไปสู้กับเกมสกัด โดยเฉพาะการยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตีความหลังจากนี้
แน่นอนว่า หากท้ายที่สุดรัฐบาลเข็น “กฎหมายกู้แจกหมื่น” เข้าสภาฯ ได้สำเร็จ ก็ยังต้องไปวัดพลังในอีกหลายด่าน ที่รออยู่เบื้องหน้า
2.พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นวาระที่รัฐบาลทุกชุด จะโดน “ยำใหญ่” ในระดับน้องๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจ และอย่างที่รู้กันว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ล่าช้ากว่ากำหนดมากว่า 8 เดือน
แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากปัจจัยการเมืองในช่วง “รอยต่อ” เปลี่ยนผ่านรัฐบาล อีกทั้งการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังล่าช้าเป็นทุนเดิม
ทว่า การจัดทำงบฯ ล่าช้า ในจังหวะเดียวกันกับที่หลากหลายโครงการ โดยเฉพาะ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ยังไม่มีความชัดเจน ย่อมไม่พ้นข้อสังเกตว่ามีการดีเลย์เพื่อรอความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่
ขณะเดียวกัน ยังมีการมองว่าหากที่สุดการออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้าน ตามความเห็นกฤษฎีกาไม่สามารถทำได้ และรัฐบาลเลือกที่จะไม่ลุยไฟดัน พ.ร.บ.กู้เงินเข้าสู่สภาฯ รัฐบาลอาจหันมาใช้งบปี 2567 บางส่วนในการแจกเงินหมื่น ในระหว่างรองบปี 2568 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนัก
หากเป็นเช่นนั้น เกมจะเข้าทางฝ่ายค้านในการจัดอีกหนึ่ง “ยำใหญ่” กลางสภาฯ อย่างดุเดือดแน่นอน
ยังไม่นับรวม งบประมาณรายกระทรวง อาทิ “งบกองทัพ” ในวันที่พรรคเพื่อไทยคุมกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการปรับลดงบจัดซื้ออาวุธ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
3.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปัจจุบันมีร่างที่รอบรรจุวาระการประชุมสภาฯ อยู่แล้ว คือ ร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอต่อประธานสภาฯ ไปเมื่อเดือน ต.ค.ก่อนปิดสมัยประชุม
อีกทั้งยังต้องจับตาศึกชิงมวลชน “นอกขั้ว” ทั้งก้าวไกลที่ส่ง “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรค เดินสายพูดคุยกับแกนนำ กปปส.และคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง
แม้ก้าวย่างของ “ค่ายส้ม” มีโอกาสถูกโดดเดี่ยวสูงในสภา จากประเด็นการแก้ไข ม.112 ที่ส่อแวว “ขยายเพดาน” ไม่ต่างจาก “ใบสั่ง” ฝั่ง “ผู้มีอำนาจ” มีก้าวไกล ไม่มีเรา
หากมองเกมยาว ก้าวไกลยังหวังใช้เกมซ่อนเงื่อนนิรโทษกรรม “ชิงมวลชน” เพื่อป็นโล่กำบัง ท่ามกลางสัญญาณการยุบพรรคก้าวไกล เพื่อ “ล้างไพ่” การเมือง ที่ต้องลุ้นกันในปีหน้า หรือหากมองเกมยาวกว่านั้นก็อาจหมายรวมไปถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น พลพรรคคนส้ม ยังได้ทีตอกย้ำครหาอภิสิทธิ์ชน หลังถูกค่อนแคะว่า เล่นเกมเกี้ยเซียะ ไม่กล้าแตะ "นายใหญ่ชั้น 14"
ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีบทเรียนนิรโทษกรรม ซ้ำยังเจอครหา “ทำเพื่อนาย” แต่ก็จำเป็นต้องเล่นบทซื้อใจแนวร่วม เกาะขบวนมวลชนด้วยการเสนอร่างกฎหมายประกบพรรคก้าวไกล บลัฟกลับ “มีเพื่อไทย ไม่มี 112”
ทว่า นิรโทษกรรมที่เพื่อไทยกำลังเดินเกม ทำไปทำมา อาจกลายเป็น “ดาบ 2 คม” คมหนึ่งคือศึกชิงแนวร่วมกับก้าวไกลในฐานะฝ่ายตรงข้าม
อีกคมคือความสัมพันธ์ในขั้วรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็น “จุดร่วม” ที่แตกต่างระหว่าง “เพื่อไทย” และ “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งกันทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมปี 2549-2557 แต่ยามนี้กลับเปลี่ยนสถานะจากศัตรู กลายเป็น “พรรคร่วมรัฐบาล”
4.ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เรื่องนี้โดนดึงเกม และหลงเกมกันไปมาก จนมองไม่เห็นว่า จะได้เริ่มนับหนึ่งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันเมื่อใด
แม้กฎหมายประชามติ ฝ่าย สส.จะเห็นด้วยให้แก้ แต่ฝ่าย สว.ค้านแน่ และหากกฎหมายผ่าน ก็ต้องมาเถียงกันต่อเรื่อง “คำถามประชามติ” ซึ่งเกมแก้รัฐธรรมนูญนี้ ส่อเค้ายืดเยื้อยาวนานอีกเช่นเดิม
หากเปรียบกับหนัง “4 คิง” ภาค 2 ที่กำลังเข้าฉาย และมีกระแสในเวลานี้ (เนื้อหาต่อเนื่องจากภาคแรก สื่อถึงความขัดแย้งของคู่อริ 4 สถาบัน)
ในสมรภูมิการเมือง โดยเฉพาะเวทีสภา “4 กฎหมายร้อน” ก็กำลังจะกลายเป็นชนวนเปิดศึกระหว่างหลายอริไม่ต่างกัน!