เปิดค่ายบำบัด‘ขี้ยา’ เคสโคม่า ‘ทหารเกณฑ์’ เสพปีครึ่งแสน
ต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องทำเป็นระบบ และอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายจริงจัง แก้ปัญหาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
นับเป็นการต่อยอด "โรงเรียนวิวัฒพลเมือง" หรือ ศูนย์วิวัฒพลเมือง สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ในค่ายทหาร ปัจจุบันมีจำนวน 33 แห่งทั่วประเทศ หลัง “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “รัฐบาลเพื่อไทย” ลดปัญหายาเสพติดให้เป็นรูปธรรมภายในเวลา 1 ปี 12 ด้าน
โดยหนึ่งใน 12 ด้าน คือการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวช ผลจากการเสพยาเสพติดที่สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนในสังคม และบ่อนทำลายอนาคตของชาติ มากเป็นอันดับหนึ่ง
นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” เคลมว่า รัฐบาลเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแรก ที่จัดการเป็นนโยบาย ให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นความท้าทาย
ทั้งนี้ เคยมีตัวชี้วัดผลงาน หลังเคยแก้ปัญหายาเสพติดสำเร็จมาแล้ว ในช่วงเวลาสั้นๆ ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่นำโดยนายกฯ“ทักษิณ ชินวัตร” กับนโยบายประกาศสงครามยาเสพติด เมื่อต้นปี 2546
ข้อมูลของกองทัพพบว่า ก่อนนโยบายสงครามยาเสพติดจะถูกประกาศใช้ ในทุกปีๆ การตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหาร กองประจำการ หรือ"ทหารเกณฑ์" ปีละ 80,0000-100,000 คน เกิน 50% มีประวัติเสพยาเสพติด ตรวจพบปัสสาวะเป็นสีม่วง ซึ่งจะใช้วิธีบำบัดรักษากันเองภายในหน่วยทหาร
แต่หลังจากนโยบายสงครามยาเสพติดประกาศใช้ พบว่า 100% ทหารเกณฑ์ ตรวจปัสสาวะไม่พบเป็นสีม่วง ต่อมานโยบายดังกล่าวก็ยกเลิกไป หลังถูกฝ่ายการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนในขณะนั้นโจมตีอย่างหนัก ส่วนทหารเกณฑ์ก็กลับมาตรวจปัสสาวะและพบว่าเป็นสีม่วงเหมือนเดิม
จากวันนั้นถึงวันนี้รวม 20 ปี "ทหารเกณฑ์"ในแต่ละปี ยังคงพบตัวเลขเกิน 50% ที่ปัสสาวะเป็นสีม่วง
โดยจากการซักถาม 90% เคยเสพยาบ้า เพราะเข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง แต่ด้วยกิจวัตรประจำวันเมื่อมาอยู่ในค่ายทหาร เช่น ตื่นตี 5 ออกกำลังกาย อาบน้ำ กินข้าว ฝึก พักเที่ยง กินข้าว ฝึกต่อ อาบน้ำ ทานอาหารเย็น ทำกิจกรรม เข้านอน ทำให้ไม่มีเวลาว่างกลับไปเสพ
เมื่อถึงเวลาปล่อยกลับบ้าน ซึ่งเป็นการหยุดพักตามวงรอบ กลับไปเจอสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เพื่อนกลุ่มเดิม ก็กลับไปเสพยาอีก เมื่อกลับเข้าหน่วย ตรวจปัสสาวะก็พบสีม่วงทุกปี ชีวิตทหารเกณฑ์จึงวนลูปเช่นนี้ ตรวจกี่ที ก็พบปัญหาเสพยาทุกครั้ง
ไม่ต่างกับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยของ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในแต่ละกองทัพภาค หลังสอบถามกำลังพล ที่เคยมีประวัติเสพยาเสพติด จาก 100 คนพบว่า 80 คนยกมือยอมรับ เคยเสพมาทั้งสิ้น
ส่วนโรงเรียนวิวัฒพลเมือง หรือ ศูนย์วิวัฒพลเมือง สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด เคสก้าวร้าว รุนแรง ซึ่งเป็นประชาชนคนทั่วไปที่เป็นอันตรายต่อสังคม ผ่านกิจกรรม เช่น สอนให้รู้จักเห็นความสำคัญของตัวเอง ฝึกวิชาชีพ ฝึกสมาธิ ไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน โดยนักจิตวิทยา
เมื่อบำบัดจนหายดีแล้ว คนเหล่านี้จะไม่ต่างกับทหารคนหนึ่ง คือ มีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ของตัวเอง แต่เมื่อกลับออกไป เจอสังคมแบบเก่า สิ่งแวดล้อมเดิมๆ เพื่อนกลุ่มเดิม ก็กลับไปเสพอีกไม่ต่างกับชีวิตทหารเกณฑ์
ล่าสุด กระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) ร่วมกับผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ กอ.รมน.จังหวัดเป้าหมาย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเห็นชอบ
1.ร่างแนวทางปฏิบัติ การดำเนินงานดูแลส่งต่อผู้มีอาการทางจิตเวช อันเนื่องจากการใช้ยาเสพตโดยปรับปรุงแก้ไขบทบาทของศูนย์พักคอย จากเดิมมีหน้าที่ในการดูแลผู้มีอาการทางจิตเวช"กลุ่มสีเหลือง" เป็นการดูแลและให้การบำบัดรักษาผู้มีอาการทางจิตเวช"กลุ่มสีส้ม"อย่างจำกัด ก่อนส่งต่อไปรับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลยาเสพติด หรือโรงพยาบาลจิตเวช
2.สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ เพื่อจัดทำแนวทางในการดำเนินงานของศูนย์พักคอย ในประเด็นต่างๆ อาทิ การพิจารณาออกกฎหมายรองรับการดำเนินงานของศูนย์พักคอย มาตรฐานศูนย์พักคอยและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ การจัดทำ SOP และระบบการรับและส่งต่อผู้มีอาการทางจิตฯ การสนับสนุนบุคลากรวิชาชีพเฉพาะจาก สธ.ร่วมปฏิบัติงาน การฝึกอบรม และงบประมาณ
3.กอ.รมน. เป็นหน่วยร่วมบูรณาการ และ 4.กรอบแนวทางขั้นต้น ในการจัดตั้งศูนย์พักคอยของกองทัพบก
ระยะที่ 1 (ธ.ค.2566- ก.พ.2567) เปิดศูนย์พักคอย จำนวน 40 เตียง ในพื้นที่เป้าหมายตามที่สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนด ซึ่งพิจารณาพื้นที่ที่ไม่มีที่ตั้งของสถานพยาบาลยาเสพติด/โรงพยาบาลจิตเวช ได้แก่ พื้นที่รับผิดชอบ ของ ป.ป.ส. ภาค 2 พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ภาค 3 พื้นที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ศรีสะเกษ และภาค 7 พื้นที่ จ.กาญจนบุรี
โดยกรมแพทย์ทหารบกเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา
โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน และขยายผลไปยังศูนย์พักคอยในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ระยะที่ 2 (ม.ค.2567 เป็นต้นไป) เปิดศูนย์พักคอยจำนวน 50 เตียง ภายในโรงพยายบาลกองทัพบก 5 แห่ง แห่งละ 10 เตียง ได้แก่
โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง และโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ จ.นศรีธรรมราช
ระยะที่ 3 (ตามความพร้อมและศักยภาพของหน่วย) เปิดศูนย์พักคอยในโรงพยาบาลกองทัพบกในส่วนที่เหลืออีก 27 แห่ง รวม 110 เตียง รวมถึงพิจารณาจัดตั้งในพื้นที่อื่น ภายใต้เงื่อนไขการมีกฎหมายรองรับการดำเนินงานของศูนย์พักคอย และได้รับการสนับสนุนบุคลากรวิชาชีพฯ การฝึกอบรมฯ และงบประมาณ
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องทำเป็นระบบ และอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายจริงจัง แก้ปัญหาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อทำให้สังคมไทยปลอดยาเสพติด