91 ปี 'วันรัฐธรรมนูญ' ย้อนรอย 'ส.ส.ร.'รื้อใหญ่ กติกาปกครอง
ตั้งแต่ยุคที่การปกครอง ถูกเปลี่ยน 2475 ถึงปัจจุบัน เข้าวาระ 91 ปี และยุค "รัฐบาล-พท." ยังหวนรื้อใหญ่กติกาปกครอง ผ่าน "ส.ส.ร." ซึ่งใน91ปี ตัวแทนปชช. เข้ามามีส่วนร่วมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น
10 ธ.ค.2566 ถือเป็นวันครบรอบ 91 ปี วันสถาปนารัฐธรรมนูญไทย
หากย้อนไป 91 ปีที่แล้ว คือ 10 ธ.ค.2475 การได้มา และการมี “กติกาสูงสุดเพื่อปกครองประเทศ” ถือเป็นของใหม่ มีตัวแทนของชนชั้นปกครอง(คณะราษฎร)ในนามของ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ยกร่าง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย “พระมหากษัตริย์” เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ กติกาปกครองสูงสุดของประเทศ ที่เรียกว่า “รัฐธรรมมนูญ” ของไทย ผ่านมาแล้ว 20 ฉบับ และเตรียมตั้งเค้าก่อร่าง เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 21 ในสมัยรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย และมีแนวทางที่จะให้ “ประชาชน" ฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง เป็นผู้ยกร่าง “กติกาสูงสุด” ภายใต้ชื่อว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มาจากการเลือกกันเองของ “ประชาชน”
ทว่า ในบรรดา รัฐธรรมนูญของไทย 20 ฉบับ ที่ผ่านมา จะพบว่าการหยิบยื่นโอกาสให้ “ตัวแทนของประชาชน” เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้นเกิดขึ้นเพียง 1 ฉบับคือ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540”
โดยก่อกำเนิดจากตัวแทนของประชาชน 76 จังหวัด ซึ่งมาจากการเลือก 3 ระดับ คือ เลือกตั้งโดยประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ต่อจากนั้นให้ผู้สมัครเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน ก่อนจะให้สมาชิกรัฐสภาเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน และผสมกับนักวิชาการอีก 23 คน ที่สถาบันการศึกษาเสนอ
ครั้งนั้นมี “อุทัย พิมพ์ใจชน” เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน และมี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นเลขานุการ
โดยวางหลักการ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของ “รัฐธรรมนูญไทย” ฉบับต่อๆ มาคือ ขยายสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วมของพลเมืองในการเมือง เพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชนเพื่อให้ระบอบการเมืองสุจริตและโปร่งใส ทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และกำหนดให้รัฐจัดบริหารพื้นฐานให้ประชาชน ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข คมนาคม สวัสดิการให้กับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม
หากย้อนความถึง “ส.ส.ร.” ในประเทศไทย นอกจาก ส.ส.ร.40 แล้ว ยังพบว่า มี ส.ส.ร. เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น 2 ชุด คือ ส.ส.ร. พ.ศ.2491 ที่นับเป็น “ส.ส.ร.ชุดแรก” ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน ที่มาจาก สส.-สว. และบุคคลภายนอก ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492
ต่อมาคือ ส.ส.ร. พ.ศ.2502 ที่มี “พล.อ.สุทธิ์ สุทธิสารรณกร” นายทหารคนสนิทของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นายกฯ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก โดยคณะนี้ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ยาวนานกว่า 9 ปี จน “พล.อ.สุทธิ์” ถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่ง เมื่อปี 2511 และเปลี่ยน “ทวี บุณยเกตุ” รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานสภาฯ แทน และ 21 มิ.ย.2511 รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ประกาศใช้
ต่อมามี ส.ส.ร.คณะล่าสุด ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่มาจากการคัด “สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ” จำนวน 1,982 คนที่ลงมติเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน ก่อนที่ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.คัดให้เหลือ 100 คน โดยยุคนั้น “นรนิติ เศรษฐบุตร” ทำหน้าที่ประธาน ส.ส.ร.
ขณะที่การยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของ “กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” 35 คน มีที่มาจาก สมาชิกส.ส.ร. ในจำนวน 100 คน เลือกกันให้ได้ 25 คน และ คมช. เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน ยุคนั้น “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” รับบทประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ความพิเศษของ “รัฐธรรมนูญ 2550” คือ การนำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงลงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อ 19 ส.ค.2550 โดยผลของเสียงข้างมาก 14.7 ล้านเสียง “เห็นชอบ” ต่อ 10 ล้านเสียง “ไม่เห็นชอบ” จากผู้ที่มีสิทธิออกเสียง 45 ล้านคน
ผลลัพท์ของประชามติที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 57% และเสียงเห็นชอบ คิดเป็นสัดส่วน 57.81% ต่อ 42.19% กลายมาเป็นต้นแบบของ “เกณฑ์ผ่านประชามติ” 2 ชั้น ใน พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 13 คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบประชามติต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
ขณะที่ “รัฐธรรมนูญ 2560” ที่บังคับใช้ตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 จนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมได้สำเร็จ 1 ครั้ง ในประเด็นระบบเลือกตั้ง จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือก สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงเปลี่ยนการคำนวณสส.บัญชีรายชื่อ และจำนวน สส.เขตให้มี 400 คน จากเดิม 350 คนและ สส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิม 150 คน
ทว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีประวัติที่ “สส.-ฝ่ายการเมือง-ภาคประชาชน” คิดจะแก้ใหญ่ คือ "รื้อทั้งฉบับ" ผ่านกลไกของ “ส.ส.ร.” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ “ฝ่ายผู้มีอำนาจ” และกลไกในฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สว.250 คน อาศัยศาลรัฐธรมนูญตีความตามบทสรุปของคำวินิจฉัยที่ 4/2564
ที่เป็น “บรรทัดฐานสำคัญ” ทางการเมือง ในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ที่หากจะให้อำนาจอื่น ที่ไม่ใช่ “รัฐสภา" ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ “ประชาชน” ออกเสียงประชามติเห็นชอบเสียก่อน เพราะก่อนหน้านั้นประชาชน 16 ล้านเสียงได้ออกเสียงประชามติมาแล้ว
ทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่กำหนดให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แทนรัฐสภา ค้างเติ่งในวาระสาม ของสภาฯชุดที่ผ่านมา
แม้รัฐบาลตั้งใจจะทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และตั้ง “กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่างของรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาศึกษา แต่ในขั้นตอนยังพบกับ “อุปสรรค” ปลีกย่อย ที่ดูเหมือนว่า “ฝ่ายอำนาจเก่า” วางค่ายกลขวางไว้
ดังนั้นต้องจับตาว่า ท่าทีของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่วางนโยบายให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่าน ส.ส.ร.ที่จะเป็นชุดที่ 5 ของประเทศไทย จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และนำไปสู่ปลายทางที่หวังให้ “รัฐธรรมนูญใหม่” เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับในแง่หลักการ “ประชาธิปไตย” จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาใด
เมื่อทุกฝ่ายการเมืองขณะนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน คือ “ต้องไม่คว้าน้ำเหลว”.