โหมโรง12ธ.ค. ศึกรอบใหม่‘รัฐบาลเศรษฐา’ ‘4ซักฟอก-งบ67-แจกหมื่น’รอเขย่า

โหมโรง12ธ.ค. ศึกรอบใหม่‘รัฐบาลเศรษฐา’   ‘4ซักฟอก-งบ67-แจกหมื่น’รอเขย่า

ศึกรอบใหม่"รัฐบาลเศรษฐา" จับตา! เปิดสภา12ธ.ค. "4ซักฟอก" จ่อคิว- "งบ67-แจกหมื่น" รอกฐิน ไม่ต่างจากศึกนิรโทษกรรมลุ้น "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ใคร"End games"

12ธ.ค.โหมโรงเวทีสภา หลากวาระร้อนรอจ่อคิว ตั้งแต่วันแรกของการเปิดสมัยประชุมและจะทิ้งช่วงยาวไปถึงวันที่9เม.ย.2567ถึงจะปิดสมัยประชุม บอกได้เลยว่า เปิดสภารอบนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน”  นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และพรรคเพื่อไทย ยังต้องเจอหลากหลายด่าน “เขาวางกต” ที่รอวัดใจอยู่เบื้องหน้า

ต้องเจอแน่ๆ คือการยื่นกระทู้ถาม ทั้ง กระทู้ถามสด ระบุให้สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามได้ครั้งละหนึ่งกระทู้โดยระบุชื่อเรื่องที่จะถามพร้อมวัตถุประสงค์ว่าจะถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้ใด และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด 

ดังต่อไปนี้ (1) เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน (2) เป็นเรื่องที่กระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน (3) เป็นเรื่องเร่งด่วน…”

ถัดมา กระทู้ถามทั่วไป ที่ต้องตอบในที่ประชุมสภา กระทู้ถามทั่วไป ที่ต้องตอบในราชกิจจานุเบกษา (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2544 ข้อ 128) และกระทู้ถามแยกเฉพาะ ซึ่กระทู้ประเภทต่างๆจะสามารถยื่นได้ทุกสัปดาห์ อภิปรายได้ทุกอาทิตย์ 

ถัดมา“2ศึกซักฟอก” ทั้งการ "อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ"  ตามมาตรา152แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุให้สส.จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภา จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้

ต่างจากการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุให้สส.จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ

โหมโรง12ธ.ค. ศึกรอบใหม่‘รัฐบาลเศรษฐา’   ‘4ซักฟอก-งบ67-แจกหมื่น’รอเขย่า

ทั้งนี้ แม้ตามมาตรา 154 แห่งรัฐธรรมนูญ  จะระบุว่าการอภิปรายทั้ง2แบบแต่กรณีสามารถกระทำได้ปีละ1ครั้ง แต่ตามภาษากฎหมายแล้วคำว่า “ปีละ1ครั้ง” ไม่ได้หมายถึงปีพ.ศ. แต่หมายถึง “ปีสมัยประชุม”

หมายความว่า การอภิปรายทั้ง 2 แบบ ในสมัยประชุมแรกที่ปิดฉากไปเมื่อ 30ต.ค.ที่ผ่านมา  ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่นเลย ฉะนั้นจึงยื่นได้ทั้ง 2 แบบในสมัยประชุมนี้  เหนือไปกว่านั้นในสมัยประชุมหน้า คือสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ของปีประชุม 2567 ฝ่ายค้านก็ยังยื่นได้อีก 

เท่ากับว่า ปีปฏิทิน 2567 “รัฐบาลเศรษฐา” อาจต้องฝ่าสมรภูมิซักฟอกถึง 4 ครั้ง คือการอภิปรายทั่วไป(ไม่ลงมติ) และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างละ2ครั้ง 

ท่าทีจาก “ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน”  อย่าง “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดถึงเรื่องนี้ว่า  ฝ่ายค้านจะต้องหารือถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ หรือ การอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในช่วงก่อนปิดสมัยประชุม ช่วงเดือนเม.ย.67

ยังไม่นับกลไก “คณะกรรมาธิการสามัญ”  ที่รอจ่อคิวเขย่ารัฐบาลเศรษฐา ทั้งเรื่อง “หมูเถื่อน” โยงเด้งอธิบดีดีเอสไอ ที่ไม่ใช่เรื่องหมูๆแต่ลามไปถึงการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง “ป.-ฉ.” หรือ “ส.”  ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกมธ.กลายชุด ไม่ว่าจะเป็นกมธ.เกษตร ซึ่งตัวประธานเป็นคนของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ,กมธ.ตำรวจฯ 

ยังไม่นับรวม ประเด็นตั๋วตำรวจเพื่อไทย,กรณีอภิสิทธิ์ชน ของนายใหญ่ชั้น14 ที่รอเข้าห้องเย็นกมธ.เช่นเดียวกัน 

 

โหมโรง12ธ.ค. ศึกรอบใหม่‘รัฐบาลเศรษฐา’   ‘4ซักฟอก-งบ67-แจกหมื่น’รอเขย่า

เหนือไปว่านั้น ยังมี “เกมนิติสงคราม” หรือการใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อต่อสู้ฟาดฟันทางการเมือง ผ่าน “4กฎหมายร้อน” ที่รอสั่นคลอนรัฐบาลเศรษฐา รวมถึงเขย่าความเชื่อมั่นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น

1.ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “พ.ร.บ.กู้แจกหมื่น” ที่ต้องผ่านหลากหลายด่านเขาวงกต

ไม่ว่าจะเป็นการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งส่อลากยาวถึง2รอบ รอบแรก ตีความคำถามของรัฐบาล “ทำได้-ไม่ได้”  หรือไม่ อย่างไร? และ รอบที่สอง คือการส่งร่างให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้ง 

 ก่อนหน้านี้ "จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง ระบุว่า  ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน น่าจะเข้าสภาได้ในสมัยประชุมหน้านี้(ไม่เกินเม.ย.2567 ) ไทม์ไลน์ใกล้เคียงกับที่นายกฯเศรษฐาอธิบาย

ทว่า หากที่สุดกฤษฎีกาสรุปความเห็นว่า ออก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ก็อาจไม่มีกฎหมายเข้าสภา (ถ้ารัฐบาลเชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา) แต่ฝ่ายค้านก็อาจเล่นงานรัฐบาลด้วยวิธีอื่น เพื่อตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาล นั่นก็คือการยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ หรืออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

แต่หากกฎหมายถูกเข็นเข้าสภาสำเร็จ ยังต้องไปลุ้นกันที่ด่านสส.3วาระ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งด่านวัดความสามัคคีในพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งมากน้อยแค่ไหน

ยังไม่นับด่านสุดท้ายคือ “สภาสูง” ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้อาณัติของ “ผู้คุมเกม” ตัวจริง ที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงเล็ดลอดออกมาจากฝั่งสภาสูง ชวนจับตา ที่สุดอาจมีการการยืมมือสว. “คว่ำแจกดิจิทัล” ในด่านสุดท้าย  

2.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เป็นอกีหนึ่งวาระที่รัฐบาลทุกชุดจะโดนอภิปราย “ยำใหญ่” ในระดับน้องๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจ

อย่างที่รู้กันว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ล่าช้ากว่ากำหนดมากว่า 8 เดือน ส่วนหนึ่งจะมาจากปัจจัยการเมืองในช่วง“รอยต่อ”เปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้น ย่อมไม่พ้นข้อสังเกตว่ามีการดีเลย์เพื่อรอความชัดเจนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่

3.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปัจจุบันมีร่างที่รอบรรจุวาระการประชุมสภาอยู่แล้ว คือ ร่างของพรรคก้าวไกล

ต้องจับตา “นิรโทษเวอร์ชั่นเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาลที่จำเป็นต้องเสนอประกบ เพื่อ “เพลย์เซฟ” ทางการเมือง แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ทอดทิ้งขบวนการประชาชนที่ต่อสู้กันมา แต่ไม่เอาด้วยกับก้าวไกลแค่บางเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่อง 112

โอกาสที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะดำเนินไปอย่างสะดวกโยธินย่อมเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะประเด็น มาตรา 112 ที่แทบจะหาจุดกึ่งกลางไม่ได้

เหนือไปกว่านั้น ยังมีชนวนอื่นนำไปสู่ความเห็นต่าง และความขัดแย้ง เช่น ปมคาใจหากจะนิรโทษคดีเผาเมือง จากการชุมนุมในอดีต  ซึ่งคู่ขัดแย้งพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ก้าวไกล แต่อาจกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างรวมไทยสร้างชาติ

4.ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่โดนดึงเกม และหลงเกมกันไปมาก จนมองไม่เห็นว่าจะได้เริ่มนับหนึ่งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันเมื่อใด

แม้กฎหมายประชามติ ฝ่าย สส.จะเห็นด้วยให้แก้ แต่ฝ่าย สว.ค้านแน่ และหากกฎหมายผ่าน ก็ต้องมาเถียงกันต่อเรื่อง “คำถามประชามติ” ซึ่งส่อเค้ายืดเยื้อยาวนานอีกเช่นเดิม

กว่า3เดือนรัฐบาลเศรษฐา ต้องจับตา “สมรภูมินิติสงคราม” ที่รอเปิดฉากหลังเปิดสภาในวันที่ 12ธ.ค.นี้ ! ยังไม่นับรวม “เกมภายใน” พรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้กำลังขยับรับเกมอำนาจที่อาจเขย่าใหญ่ในช่วงต้นปีหน้าอีกด้วย