ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน. ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย
ย้อนไปเมื่อ 77 ปีที่แล้ว มีความพยายามของ สส.กลุ่มหนึ่งที่จะเสนอกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญ
เมื่อเปิดดูรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 5 ครั้งที่ 17/2489 สมัยสามัญ ปีที่ 1 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 มี.ค. 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ซึ่งมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย พุทธศักราช 2489 ภายใต้การผลักดันกลุ่ม สส.สายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ของ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ สส.ระยอง และคณะ ประกอบด้วย นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร สส.สุราษฎร์ธานี นายเชื้อ สนั่นเมือง สส.เพชรบูรณ์ นายธรรมนูญ เทียนเงิน สส.ชลบุรี นายยืน สืบนุการณ์ สส.สุรินทร์ เขต 2 นายสมบูรณ์ บัณฑิต สส.น่าน ร.ท. กระจ่าง ตุลารักษ์ สส.ขอนแก่น เขต 1 นายประมวล กุลมาตย์ สส.ชุมพร ร.ต.ท. สงกรานต์ อุดมสิทธิ์ สส.เลย นายอรัญ รายนานนท์ สส.จันทบุรี
โดยเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักและเป็นระบอบที่อารยะประเทศทั่วโลกยอมรับนับถือ และเพื่อป้องกันมิให้การปกครองระบอบของประเทศไทยโน้มน้าวหรือก้าวไปสู่ระบอบเผด็จการซึ่งโลกชิงชัง อันจะเป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกรังเกียจในสังคมนานาชาติ
สำหรับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2489 นั้น มี ทั้งหมด 7 มาตรา โดยมาตรา 3 นิยามคำว่า “รัฐธรรมนูญ” หมายความว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“เผด็จการ” หมายความว่า “การปกครองที่บุคคลคนเดียวหรือมากกว่าใช้อำนาจสิทธิขาดบงการให้ประชาชนปฏิบัติตามเจตน์จำนงของตนเองโดยพลการ โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย"
สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ได้วางบทกำหนดโทษที่สำคัญ ดังนี้
มาตรา 4 ผู้ใดกระทำการละเมิดบทบัญญัติใดๆ แแห่งรัฐธรรมนูญโดยเจตนาไม่สุจริตเกี่ยวกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลากร ผู้นั้นีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
มาตรา 5 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายบังคับให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติใดๆ แห่งรัฐธรรมนูญก็ดี หรือให้ละเว้นปฏิบัติการตามบทบัญญัติใดๆ แห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 3,000 บาท จนถึง 50,000 บาท
มาตรา 6 ผู้ใดทำการปกครองตามระบอบเผด็จการหรือโน้มน้าวในทำนองเผด็จการโดยเจตนาไม่สุจริต ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 3,000 บาทจนถึง 50,000 บาท
มาตรา 7 ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามกฎหมายว่าการเลือกตั้งมีกำหนดตั้งแต่ 4 ปีจนถึง 20 ปี นับแต่วันพ้นโทษด้วย
โดยนายเสวตร แถลงต่อที่ประชุมสภาฯ ถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตอนหนึ่งว่า “ความจริงกฎหมายชนิดนี้ได้เคยมีมาแล้วในสมัยเริ่มปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่กฎหมายฉบับนั้นเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารมากกว่าของประชาชน กฎหมายฉบับนั้นไม่เพียงแต่จะลงโทษผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างเท่านั้น แต่มีหลักการกว้างขวางมาก ได้ลงโทษกระทั่งผู้ที่ทำความหวาดหวั่นหรือทำให้เสื่อมความนิยมในระบอบรัฐธรรมนูญ และผู้ที่แม้สงสัยว่าจะทำการเช่นนั้นก็อาจจะถูกเนรเทศไปอยู่ดินแดนที่ไกล ดังที่สมาชิกบางท่านได้เคยประสบมาแล้ว”
“ทีนี้ได้มีผู้เสนอความเห็นมาว่ากฎหมายชนิดนี้ควรจะเป็นบทบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือให้มีการลงโทษหรือบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นการกบฏอย่างสูง อย่างเช่นประเทศนอร์เวย์เคยบัญญัติไว้ แต่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะทำให้เป็นการยากแก่การแก้ไขในอนาคตต่อไป”
ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวว่า “เรื่องที่จะป้องกันผู้ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมพิจารณาแล้วนั้นกรรมาธิการได้ระแวงถึงอยู่ ในการนี้เราจำเป็นที่จะต้องป้องกันโดยละเอียด เหตุฉะนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลจะขอรับเรื่องนี้ไปพิจารณาและรอดูข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการซึ่งจะมีมาด้วย ความจริงการที่จะร่างนั้นอาจจะมากกยิ่งกว่าที่ท่านร่างมานี้อีก เราจะได้ระบุไว้เฉพาะเจาะจงทีเดียวว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานั้นลงโทษอย่างนั้นผิดมูลเหตุนี้ลงโทษอย่างนี้ ในชั้นนี้จะขอรับไปพิจารณาก่อน”
ทำให้ นายเสวตร กล่าวว่า “เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีปรารถนาเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง”
จากนั้นประธานสภาฯ ได้ขอให้ที่ประชุมสภาฯ วินิจฉัยว่า ผู้ใดเห็นว่าควรมอบร่าง พ.ร.บ.นี้ใหรัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยมีสมาชิกยกมือพร้อมเพียงกัน เป็นอันว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2489 ได้ถูกส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ
ทว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ไม่ได้นำกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับหลักการอีก จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ
หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของไทย ที่จัดทำร่างโดยสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2489 เพียง 1 เดือน ได้เกิดเหตุสำคัญเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ในขณะที่นายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2489 ที่ถูกยกในขณะนั้นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับต้องถูกยกเลิกด้วยอำนาจนอกระบบ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุน เป็นหัวหน้าคณะได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ประเทศไทยนับแต่ปี 2489 เรื่อยมาจนถึงปี 2566 มีรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีก17 ฉบับ รวมมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้มากถึง 20 ฉบับ และเกิดการรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วนรวมแล้ว 13 ครั้งนับแต่ปี 2475
และปัจจุบันรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็พยายามจะผลักดันให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยภายใน 4 ปีตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้