'ก้าวไกล' โบ้ยให้ถาม 'เพื่อไทย' เหตุผลสภาล่ม วานนี้
'รังสิมันต์' ย้อนเกร็ด เพื่อไทย รัฐบาลต้องรับผิดชอบองค์ประชุม หลังพบสภาฯ ล่มวานนี้ เปิดผลพิจารณา พบ "ก้าวไกล" ไม่ร่วมโหวต หลังพยายามประนีประนอม
ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาฯ ล่มเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ในระหว่างการลงมติว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือไม่ ว่า การรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยระบุไว้เมื่อสมัยที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลดังนั้นการรักษาองค์ประชุมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ
“วันแรกของการเปิดประชุมสภาฯ หากเปรียบวันแรกของการเปิดเทอม นี่ก็คือวันแรกที่นักเรียนจะต้องมาเรียนครบ แต่พบว่ากลับมาไม่ถึง 250 คนหรือไม่ถึงกึ่งหนึ่งแปลว่าอะไร เราไม่ได้ตั้งใจจะให้ล่ม ตั้งใจว่าหักเสียงของรัฐบาลถึง 250 เสียง เราตั้งใจว่าจะเติม แต่เราก็ต้องการให้ประชาชนได้ตรวจสอบว่า สส. ของรัฐบาล สุดท้ายมากันครบหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลที่อยากจะเข้ามาเป็น สส. กันนักหนาสุดท้ายอยู่ทำหน้าที่หรือไม่" นายรังสิมันต์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเหตุการณ์สภาฯล่มดังกล่าว เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกของการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณ 18.40 น. ในระหว่างการลงมติว่าจะรับหลักการของร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอหรือไม่ ซึ่งเป็นร่างแก้ไขเพื่อปรับปรุงการทำงานของสภาฯ ที่สำคัญ เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเปิดเผยรายงานหรือรายละเอียดของการประชุม, ให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 5,000 คน เข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาฯพิจารณาได้, กำหนดสัดส่วนประธานกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบต้องสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวพบว่า สส.พรรครัฐบาลไม่เห็นด้วย แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล พยายามประนีประนอม โดยเสนอญัตติขอให้ส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาฯ พิจารณาแทนการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ ซึ่งมีการลงมติ และพบว่าญัตติดังกล่าวโหวตแพ้ และเมื่อเข้าสู่การลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ พบว่า มีผู้แสดงตน 332 คน ส่วนกรลงมติพบว่ามีผู้ลงมติเพียง 228 คน เห็นชอบ 1 เสียง ไม่เห็นชอบ 223เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ทำให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ระบุว่า เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในสมัยสภาฯ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ที่เคยวินิจฉัยองค์ประชุมว่า ในการลงมติเพื่อรับหลักการหรือไม่ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึง่ และไม่สามารถใช้เสียงข้างมากได้ จึงได้สั่งปิดการประชุม และเตรียมที่จะนำมาลงมติใหม่อีกครั้งในวันนี้ (14 ธ.ค.)
ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีที่การประชุมสภาฯ ล่ม เป็นครั้งที่ 2 ในสภาชุดที่ 26 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ระหว่างการพิจารณาญัตติราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ
อย่างไรก็ดีในประเด็นดังกล่าว ก่อนการเข้าวาระประชุมของสภาฯ วันนี้(14 ธ.ค.) นายปดิพัทธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่ารัฐธรรมนูญตามมาตรา 120 วรรคหนึ่งกำหนดหลักการเบื้องต้นว่าการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุมเว้นแต่กรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทุ้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกำหนดข้อบังคับการประชุมเป็นอย่างอื่นได้ ซึ่งของกระทู้ได้มีการกำหนดไว้ใช้จำนวน 1 ใน 5 และในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 25 วรรคสองกำหนดว่าเมื่อมีสมาชิก มาลงชื่อประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาจึงจะเป็นองค์ประชุม
“ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับองค์ประชุมและการลงมติในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)สรุปได้ว่าองค์ประชุมมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าเมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมครบเพื่อเปิดการประชุมแล้ว หลังจากนั้นสมาชิกจะอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในที่ประชุมอีกต่อไป หากเป็นเช่นนั้นผลจะเป็นว่าหลังเปิดประชุมแม้จะมีสมาชิกอยู่ประชุมไม่กี่คนก็อาจ ลงมติและมีเสียงข้างมากได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ” นายปดิพัทธ์ กล่าว
นายปดิพัทธ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับแนวทางในการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อการลงมติว่าในทุกกระบวนการทั้งการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติและขั้นตอนการลงมติจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงจะถือเป็นองค์ประชุมที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ