‘กองทัพ’ ถอดใจ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร 4 ปีสมัครใจ (เทียม) - เกรดต่ำ
"กองทัพ" กำลังพบปัญหาในการผลักดันนโยบายรัฐบาล "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" กับตัวเลขความต้องการ ซึ่งยังสวนทางกับยอดผู้สมัครใจ
วันที่ 26 ธ.ค.2566 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ได้นัดหมาย “ผบ.เหล่าทัพ” ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน ดอนเมือง พร้อมขนวงดุริยางค์ทหาร มาดวลเพลง หวังผลักดันเป็น Soft Power
ในวันนั้น “สุทิน” เตรียมโชว์ลูกคอร้องเพลง เช่น ทบ.2 ลูกอีสาน ทหารอากาศขาดรัก เชิญชวนชายไทยสมัครใจเป็นทหาร หลังกองทัพบกประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครออนไลน์ตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 ที่ผ่านมา
โดย “สุทิน”คาดหวังว่า การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหาร กองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ระหว่างวันที่ 1-20 เม.ย. 2567 จะได้ตัวเลขชายไทยสมัครใจเข้าเป็นทหารตามเป้าที่ได้วางไว้ แบบไม่ต้องเกณฑ์ (ยกเลิกเกณฑ์ทหาร) หลังปิ๊งไอเดียให้ “กองทัพ” หั่นยอดความต้องการจากเดิม 90,000 -100,000 นายต่อปี ให้ลดลงประมาณ 10,000 นาย
พร้อมนำงบประมาณของจำนวนคนที่ลดลงไปเติมเป็นค่าประกอบเลี้ยง ซึ่งปกติจะหักจาก “เงินเดือนทหารเกณฑ์” จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน จากที่ได้รับ 10,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้รับเงินเดือนเต็มจำนวน
“สุทิน” มั่นใจว่า การเพิ่มแรงจูงใจพิเศษนี้ จะทำให้ชายไทยมาสมัครใจเป็นทหารเพิ่มขึ้น เหมือนอินเทอร์เน็ต 5G
จากข้อมูลกองทัพบก เปิดรับสมัครทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ครั้งแรก ประจำปี 2564 ด้วยการสร้างแรงจูงใจ เช่น ผู้ที่สมัคร สามารถเลือกหน่วยทหารที่จะเข้าประจำการได้ โดยไม่จำกัดภูมิลำเนา
หากอยู่ครบ 2 ปี มีสิทธิสอบเข้านักเรียนโรงเรียนนายสิบ ซึ่งจะรับจากคนที่เป็นทหารกองเกิน 80% หากเรียนดี เรียนเก่ง ก็จะได้โควตาเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร นอกจากนี้ จะมีคะแนนเพิ่มพิเศษร้อยละ 15 ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการในสังกัดกองทัพบก
พร้อมชูสวัสดิการ ค่าตอบแทน เงินเดือน 10,000 บาท/เดือน รักษาพยาบาลฟรี ส่งเสริมการศึกษาสูงขึ้น 1 ระดับ ส่งเสริมการฝึกอาชีพตามความสนใจ ได้ลาพักเสาร์-อาทิตย์ ถ้าปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่เสี่ยงภัยจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม
กองทัพบก เริ่มเปิดรับสมัครทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการด้วยกัน 2 แบบ คือ วิธีร้องขอ(กรณีพิเศษ)ด้วยระบบออนไลน์ ซึ่งดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ส่วนอีกแบบรับสมัครในวันตรวจเลือกจริง
ปี 2564 มียอดผู้สมัคร 28,572 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 3,207 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก 25,365 คน
ปี 2565 มียอดผู้สมัคร 29,997 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 6,652 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก จำนวน 23,345 คน
ปี 2566 สมัคร จำนวน 35,617 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 10,156 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก 25,461 คน
สำหรับปี 2567 “กองทัพ” ได้พยายามทุกวิถีทาง ทั้งระดมประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ เว็บไซต์หน่วยทหารทั่วประเทศ เชิญชวนให้ชายไทยมาสมัครใจเป็นทหาร ตั้งแต่เดือน 1 ก.ย. 2566- 27 ม.ค.2567 ขณะนี้ผ่านไป 3 เดือน มีผู้สมัครเข้ามาประมาณ 12,000 กว่าคน แต่ผ่านคุณสมบัติ และการทดสอบสมรรถภาพร่างกายเพียงแค่ 5,000 คน
โดยบางส่วนเปลี่ยนใจไม่มารายงานตัว ส่วนที่มารายงานตัว พบว่าไม่ได้ตรงตามสเปค มาตรฐานที่กองทัพกำหนดไว้ เช่น ร่างกายไม่ได้ขนาด ทั้งส่วนสูงและน้ำหนัก มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคอ้วน หรือผอมเกินไป โรคซึมเศร้า ส่วนผู้ที่ผ่าน ก็ได้ทหาร เกรดซี เกรดดี
ต่างจากการตรวจเลือกโดยวิธีปกติ กองทัพจะได้ทหารเกรดเอ เกรดบี แต่พบข้อมูลว่าผู้สมัครใจในวันตรวจเลือกจริง เป็นการสมัครใจเทียม หมายความว่า หากมีผู้สมัครใจเป็นทหาร 30,000 คน จะมีจำนวน 20,000 คน เป็นทหารเพียงแค่ 6 เดือน และปลดประจำการไป ไม่ได้อยู่ครบ 2 ปี
เพราะการลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา 16 ระบุเรื่อง สิทธิที่จะได้รับในวันตรวจเลือกไว้ว่า
หากจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป สมัครเป็นทหาร รับราชการ 1 ปี
หากจับสลากแดง ไม่มียื่นหลักฐานเพื่อขอสิทธิลดวันรับราชการ ต้องรับราชการ 2 ปี
จบ ปวส. หรืออนุปริญญาขึ้นไป สมัครเป็นทหาร รับราชการ 6 เดือน หากจับสลากแดง ยื่นเอกสารวุฒิการศึกษา เขียนคำร้องฯ ขอสิทธิลดวันรับราชการ จะรับราชการ 1 ปี
ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ แค่ปริมาณจำนวนชายไทยสมัครใจเป็นทหารจำนวน ก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพ หรือแม้แต่จะปรับยอดลง ตามความต้องการของฝ่ายการเมือง
ยกตัวอย่าง เหลือ 6,0000 คน แต่ตัวเลขผู้สมัครใจอยู่ที่ 10,000 ต้นๆ ไม่เกินไปกว่านี้ ส่วนที่สมัครใจในวันตรวจเลือกจริง กลายเป็นสมัครใจเทียม
อย่างไรก็ตาม กองทัพจำต้องมีกำลังเพียงพอและมีคุณภาพในการปกป้องประเทศ ช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนถึงสนองนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ
ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่กองทัพควรหยุดปั้นตัวเลขเอาใจฝ่ายการเมือง และหันมายอมรับความจริงว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารไม่สามารถทำได้ นอกจากเพิ่มแรงจูงใจด้วยการขึ้นเงินเดือน แต่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ภาระด้านงบประมาณประเทศมหาศาล ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก
แต่หากฝ่ายการเมืองยังดื้อดึง จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้ได้ ก็คงต้องแลกกับระบบความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจเสี่ยงพังไม่เป็นท่า ก็นับว่าเป็นงานหนักของ“สุทิน” ที่ต้องหาทางออกในเรื่องนี้