‘อนุดิษฐ์’ ห่วงโยง ขังนอกคุก ‘ทักษิณ’ ทำ ‘นักโทษ’ เข้าเกณฑ์อื่น เสียสิทธิ
“อนุดิษฐ์” ชี้ ขังนอกเรือนจำ มีมาตั้งแต่ ปี50 ศาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ก่อนที่ “ราชทัณฑ์“ ออกระเบียบตามหลัง ชี้ หลักเกณฑ์กำหนดไว้นานแล้ว ไม่ใช่เขียนใหม่เอื้อใคร ระบุ เพื่อบริหารนักโทษตามพฤติการณ์ ชี้ มีความพยามโยงการเมือง หวั่น กระทบนักโทษอื่นที่เข้าเกณฑ์ อาจเสียสิทธิ
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นผู้ต้องขัง และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า เท่าที่ได้ติดตามและหาข้อมูลประกอบก็พบว่า ระเบียบราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.เป็นการออกระเบียบตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง อีกทั้งการกำหนดให้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขัง ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้สถานที่อยู่อาศัยเป็นที่คุมขัง เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 ลงวันที่ 25 ก.ย.63 ที่ออกและให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า การควบคุมในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะถูกใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2550 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 และ 89/2 โดยให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งให้ผู้ต้องขังไปคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำได้ กรมราชทัณฑ์เพิ่งออกระเบียบเพื่อใช้หลักเกณฑ์นี้หลังจากที่ศาลใช้มาแล้วถึง 16 ปี ส่วนในต่างประเทศใช้มานานแล้ว และที่ตั้งรองอธิบดีเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพราะเป็นระเบียบของกรมซึ่งมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
“หากดูที่มาที่ไปของระเบียบราชทัณฑ์ รวมถึงตัวกฎหมายราชทัณฑ์ ปี 2560 ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น ก็จะเห็นว่า กระบวนการทั้งหลายต้องถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งกระบวนการต่างๆ ก็เกิดในช่วงรัฐบาล คสช. รวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะมาถึงรัฐบาลชุดนี้ด้วย”
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 กำหนดให้มีสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังอันเป็นไปตามหลักทัณฑวิทยา เพราะการบริหารโทษผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิด ลักษณะของความผิด และความรุนแรงของคดีจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังและทำให้การได้รับพระราชทานอภัยโทษมีประสิทธิภาพ ทำให้มีเฉพาะผู้ที่สมควรเท่านั้นที่จะได้รับการลดโทษ หรือปล่อยตัวสู่สังคมต่อไป จึงต้องมีการจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังเพื่อการจำแนกและแยกคุมขังทั้งในเรือนจำและสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดให้สถานที่ใดที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.ย.63 รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 กำหนดให้สถานที่อยู่อาศัยและสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่น สถานศึกษา วัด มัสยิด หรือโรงพยาบาล เป็นสถานที่คุมขัง จากนั้น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 กำหนดให้มีคณะทำงาน 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานของเรือนจำเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังและข้อเท็จจริงของแต่ละเรือนจำ เพื่อเสนอต่อคณะทำงานของกรมที่มีรองอธิบดีเป็นประธานคณะทำงาน พิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้ต้องขังที่แต่ละเรือนจำเสนอมาว่าสมควรที่จะใช้วิธีคุมขังในสถานที่คุมขังที่มิใช่เรือนจำหรือไม่ แล้วเสนอต่ออธิบดีเพื่ออนุมัติ
“ดังนั้น ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาจึงเป็นเพียงเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และกฎกระทรวงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2560 และ 2563 ตามลำดับ มิได้สร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเอื้อผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ที่ติดตามเรื่องนี้ก็เพราะเห็นว่ามีความพยายามโยงเรื่องให้เป็นประเด็นการเมืองในกรณีของ นายทักษิณ จนอาจส่งผลให้กฎหมาย และระเบียบที่ปรับปรุงให้มีความทันสมัย และเป็นไปตามหลักสากล จะไม่ได้ถูกใช้ตรงตามเจตนารมณ์ กระทบผู้ต้องโทษคนอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาตามระเบียบที่อาจจะเสียสิทธิในส่วนนี้ไปด้วย เท่าที่ทราบทางกรมราชทัณฑ์ ส่งหนังสือแจ้งรายละเอียด และแนวทางปฏิบัติไปยังเรือนจำและทัณฑสถาน 144 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ในแต่ละเรือนจำได้พิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และรวบรวมรายชื่อ เสนอมายังกรมราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.66 แต่ถึงขณะนี้การดำเนินการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะถูกวิพากษวิจารณ์อย่างหนัก