ปัจจัยเสี่ยง 'สงครามโลก'ลาม 'ไทย'ประเทศแห่งโอกาส
"ไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีปัจจัยสำคัญต้องคำนึง คือ ความขัดแย้งเดิมนอกประเทศและภายในประเทศ หากรัฐบาลควบคุมไม่ได้ เราก็จะตกอันดับกลุ่มประเทศที่เป็นพลังทางบวกในเอเชีย"
แม้สถานการณ์ในปี2567 ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งต่อเนื่อง นอกจากไม่มีทีท่าจะยุติลงแล้ว ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้การสู้รบขยายวงกว้าง แต่ภายใต้ความสุ่มเสี่ยงนี้ "ไทย" กลับถูกจัดอันดับให้เป็น 1ใน5ประเทศที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง หากได้รับการบริหารจัดการที่ดีจากรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน"
ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ความมั่นคง และการต่างประเทศ ระบุว่า สถานการณ์โลกปี 2567 มี 3 เรื่องต้องจับตาซึ่งจะกระทบต่อประเทศไทยในหลายประเด็น แต่หากได้รับการบริหารจัดการที่ดี ก็จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทย
ประเด็นแรก ความขัดแย้งยุโรป การสู้รบรัสเซีย-ยูเครน อาจได้เห็นความอ่อนแอของรัสเซีย หลังเกิดความสูญเสียมหาศาล แต่รัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ ยังมีพละกำลังอยู่ จึงไม่ทำให้ยูเครนได้เปรียบแต่อย่างใด จึงต้องระดมกำลังสนับสนุนเช่น เนเธอร์แลนด์ ส่งเครื่องบิน F16 เกือบ 20 ลำ รวมถึง เดนมาร์ก ซึ่งรวมแล้วมีมากกว่า 60 ลำ สร้างความเข้มแข็งให้ยูเครนในการสู้รบกับรัสเซีย กดดันนำไปสู่การเจรจาขอคืนพื้นที่ถูกยึด
ส่วน สหรัฐฯ เดินหน้ากดดัน ชาติในยุโรปตะวันตก ที่เป็นพันธมิตรให้มาสนับสนุนยูเครนมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง การสนับสนุนโดยตรง อาจจะยังไม่สะดวก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งภายในสหรัฐเอง
" ไบเดน เตรียมแพ็คเกจใหญ่ไว้ให้ยูเครนในปีหน้า หากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐฯดีขึ้น การเลือกตั้งชัดเจน สหรัฐก็จะกลับมาสนับสนุนยูเครนมากขึ้น รวมถึงหลายประเทศในยุโรป หันมาสนับสนุนยูเครนค่อนข้างมากเพราะฉะนั้นแนวโน้มสถานการณ์ยังไม่สู้ดีความขัดแย้งยังเข้มข้น เพราะสหรัฐฯพยายามปิดล้อมรัสเซียเพิ่มมากขึ้น และรัสเซียก็พยายามแสวงวงล้อมไปสู่พันธมิตรใหม่ๆแต่ก็ยังไม่สำเร็จมากนัก"
ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง กรณี อิสราเอลและฮามาส ชัดเจนว่าอิสราเอลไม่ลดละและมุ่งมั่นที่จะกำจัดฮามาส โดยการเข้าไปสถาปนาพื้นที่ใหม่ ให้มั่นใจว่า อิสรเอลจะไม่ถูก ฮามาสหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆโจมตีอย่างเช่นที่ผ่านมา ส่งผลความขัดแย้งยืดเยื้อ
นอกจากนั้น อาจมีความขัดแย้งใหม่สุ่มเสี่ยงจะเกิดสงครามกลางเมือง ปะทุในกลุ่มประเทศแอฟริกา เช่น ซูดาน เอธิโอเปีย ไนเจอร์ ซูดานใต้ และอาจบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ในปี 2567 เพราะฝ่ายที่เป็นพันธมิตรและคอยสนับสนุน ก็อยู่ใน 2 ขั้วที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย
ส่วนความแปรปรวนใน เอเชีย เช่นการทดลองขีปนาวุธ การส่งดาวเทียมจารกรรมของเกาหลีเหนือ สถานการณ์ไต้หวันที่จะมีการเลือกตั้ง ในปี 2567 รวมถึงการระดมกำลังของสหรัฐฯที่จะเข้ามาสร้างพันธมิตรใหม่ ในเอเชียผ่านทาง กลุ่มออคัส (AUKUS )คือออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีเรื่องการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ของออสเตรเลียมาร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มควอด (Quad) ที่ประกอบด้วย อินเดีย สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะมีการตรึงกำลังเพื่อไม่ให้จีนขยายบทบาทในทะเลจีนใต้ หรือข่มขู่ไต้หวันมากกว่านี้ ซึ่งก่อให้เกิดความตึงเครียด โดยเฉพาะในฤดูการเลือกตั้ง ทั้งของสหรัฐฯ และไต้หวัน
ส่วน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีการสู้รบในเมียนมา อยู่ในช่วงพกผัน กับการปฏิบัติการกองกำลังชนกลุ่มน้อย ร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายประชาชน ของ Pdf หรือ อองซานซูจี ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น และประสบความสำเร็จในการโจมตีเมืองเล็กๆ และในปี 2567 จะเริ่มโจมตีเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระทบการค้าขายชายแดนไทย-เมียนมา การขนส่งพลังงาน แรงงาน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากกรณีดังกล่าวหลายประเทศเริ่มปรับตัว ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมัน จากรัสเซีย แสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่ เว้นทางการขนส่งใหม่ เพราะสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส กระทบต่อเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง ที่มีกองกำลังสมทบของกลุ่มกบฏฮูตี ที่สามารถคุกคาม ข่มขู่ เรือสินค้าจนต้องอ้อม ไปเส้นทางอื่น ซึ่งตัวเลขผลกระทบจะเห็นชัดในปีนี้ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลง ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
ประเด็นที่สอง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ตามแนวโน้ม สถานการณ์ในยุโรปและสหรัฐฯ แม้ว่าในสหรัฐฯ จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี ตลาดหุ้นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สหรัฐฯกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งก็จะเกิดการชะลอตัว แต่สิ่งสำคัญคือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัญหาใหญ่สุด ทำให้หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบาย ถอยห่างจากจีน หาทางเลือกใหม่ รวมถึงพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย และจะเห็นโอกาสใหม่ๆตามมา ในเรื่องการลงทุน ในด้านการผลิต แต่หากปรับตัวไม่ได้ก็จะกลายเป็นปัญหา
สำหรับในมุมเศรษฐกิจโลกมีความท้าทายในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในเอเชียจะสูง 3 หรือ 4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีตัวแปรสำคัญเพราะมีหลายประเทศที่จะเป็นตลาดใหม่ และเป็นตลาดที่กำลังเติบโต เช่น เวียดนาม ไทย ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีพลวัตสูง เพิ่มขึ้นมาในประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เช่นสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย มีความต้องการที่จะลงทุนทางด้านพลังงาน จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา ซึ่งเป็นประเด็นบวก ร่วมกับของสหรัฐฯในเรื่องของตลาดหุ้น ที่มีความ เข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงการเกิดโอกาสใหม่ๆในแง่การลงทุน การค้า
"ในภูมิภาคเอเชียคาดเดากันว่า จะมีเศรษฐกิจเติบโต มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ และเป็นตัวแปรที่สำคัญในการพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัว ถ้าเอเชียเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ที่มีพลัง และสามารถแก้ไขปัญหาตัวเองได้ เศรษฐกิจโลกในภาพรวมก็จะไม่เลวร้ายมากนัก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความแปรปรวนในเรื่องของสงครามสู้รบ ราคาพลังงานด้วยเช่นกัน"
ประเด็นที่สาม ในปี 2567 ประเทศต่างๆ กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก 4,000 กว่าล้านคน จะมีการเลือกตั้ง ถือเป็นปีที่มีการเลือกตั้งใหญ่ที่สุดของโลกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เช่นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษ อินเดีย ไต้หวันกลุ่มประเทศแอฟริกา เป็นต้น ทำให้เกิดความท้าทาย ในการเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนนโยบาย
"ปี 2567จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองโลก
บางประเทศอาจเปลี่ยนนโยบายจากขวาไปซ้าย หรือจากซ้ายไปขวา การจับขั้วกลุ่มประเทศมหาอำนาจเปลี่ยน การใช้นโยบายการค้าการลงทุน นโยบายการต่างประเทศ ความมั่นคง เป็นอาวุธดำเนินการโจมตีจะมีความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง แต่ละประเทศจะได้รัฐบาลใหม่จะมีความชัดเจนว่า จะเลือกอยู่ข้างจีนหรือสหรัฐฯ"
สำหรับประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึง 2 ส่วน คือสถานการณ์ความขัดแย้งเดิมนอกประเทศ แม้ไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นคู่กรณี เช่น การสู้รบอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีคนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนที่โดนจับเป็นตัวประกันยังปล่อยตัวมาไม่ครบ ทำให้ไทยตกเป็นคู่กรณีโดยปริยาย ต้องหาทางแก้ไขปัญหาให้ดีกว่านี้ รวมถึงการจัดระเบียบแรงงานไทยในอิสราเอล การไปช่วยพัฒนาพื้นที่ฉนวนกาซ่าในอนาคตหากเป็นไปได้ เพราะจะทำให้สามารถควบคุมพลวัตเก่า ที่มีความขัดแย้ง และพัฒนาพลวัตใหม่ให้เป็นโอกาส หลีกเลี่ยงการไม่ไปกระตุ้นหรือบริหารจัดการที่ผิดพลาด กลายเป็นเงื่อนไขที่ไปสร้างความแปรปรวนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งโลกทุกกรณี
อีกส่วนคือสถานการณ์ความขัดแย้งเดิมภายในของไทยก็จะเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะไทยถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีพลวัตใหม่มากกว่าพลวัตเก่าแต่มีความขัดแย้งในเรื่องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การนิรโทษกรรม การอภัยโทษ การใช้จ่ายเงิน สวัสดิการของรัฐเงินช่วยเหลือต่างๆที่กระทบเสถียรภาพการเงินการคลัง จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงตามมา เมื่อกระทบการเมือง รัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารพลวัฒใหม่ได้ ประเทศไทยก็จะตกจากกลุ่มประเทศที่เป็นพลังทางบวกในเอเชีย ซึ่งพื้นฐานได้เปรียบ อัตราการเจริญเติบโต ยังเป็นบวกไม่ได้เลวร้ายเหมือนหลายประเทศ