'ทวี' ลุยวางมาตรการเข้มป้องอุบัติเหตุ ยอด 2 วันสังเวย 71 ส่วนใหญ่เมาแล้วขับ
'ทวี' สวมหมวก รมว.ยุติธรรม นั่งหัวโต๊ะประชุม ศปภ. วางมาตรการเข้มข้น ลดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ สรุปตัวเลข 2 วัน เสียชีวิตแล้ว 71 ราย บาดเจ็บ 739 ราย สาเหตุหลักมาจาก 'เมาแล้วขับ-ขับเร็ว'
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลง สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 30 ธ.ค. 2566
โดย พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ในฐานะประธานแถลงข่าวศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่2 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 385 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 404 คน ผู้เสียชีวิต 37 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
- ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.55
- ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.60
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.29
เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่บนถนน
- เส้นทางตรง ร้อยละ 80.52
- ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.44
- ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.32
โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 9.61
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 20.63
จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,408 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตาก (18 ครั้ง)
จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (18 คน)
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)
พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนสะสม ในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (29 – 30 ธ.ค. 66) เกิดอุบัติเหตุรวม 724 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 739 คน ผู้เสียชีวิต รวม 71 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 37 จังหวัด
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ ขอนแก่น (31 ครั้ง)
จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และตาก (จังหวัดละ 30 คน)
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และจ.ปราจีนบุรี (จังหวัดละ 5 ราย)
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงเฉลิมฉลองกันตามสถานที่จัดงานปีใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะเส้นทางชุมชนเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก พร้อมคุมเข้มเส้นทาง โดยรอบแหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน สถานบันเทิง และสถานที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัด ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครในพื้นที่ เพิ่มกำลังตรวจตราดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ คุมเข้มพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงเข้มงวดร้านค้าในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และการจำหน่ายเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน ควบคู่กับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนและการได้โทษตามกฎหมายที่กำหนด
ส่วนในคืนนี้ที่จะมีการฉลองยาวถึงเช้านั้น ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้กำชับให้มีการประชุม ลงพื้นที่พื้นที่ติดตามสถานการณ์ ไม่ใช่แค่ด้านจราจร แต่รวมถึงการป้องกัน ปราบปราม คาดว่าจะไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนมาตรการดูแลความปลอดภัยการเดินทางในขากลับ เมื่อวานนี้ได้ประสานตำรวจทั่วประเทศ ประสานกรมการขนส่งทางบก สถานีขนส่ง ตรวจแอลกอฮอล์คนขับรถตั้งแต่สถานีต้นทาง พร้อมตั้งจุดตรวจกว่า 200 จุด ทั่วประเทศ ส่วนการบริหารด้านการจราจรก็จะประเมินตามสถานการณ์จราจร
นายโชตินรินทร์ กล่าวว่า จำนวนด่านชุมชน 6,921 ด่าน โดยมีมาตรการป้องปรามและลดพฤติกรรมเสี่ยง
พบว่าผู้ที่ดื่มแล้วขับจำนวน 1,740 คน จังหวัดที่มีการดำเนินการป้องปรามมาตรการสูงสุด คือ จ.สุรินทร์ 331 คน ขับรถยนต์ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน 8,452 คน จังหวัดที่มีการดำเนินการป้องปรามมาตรการสูงสุด คือ จ.อุบลราชธานี 727 คน
ไม่สวมหมวกนิรภัยจำนวน 21,253 คน จังหวัดที่มีการดำเนินการป้องปรามมาตรการสูงสุด คือ จ.อุบลราชธานี 2,808 คน ความปลอดถัยของยานพาหนะจำนวน 2,746 คน จังหวัดที่มีการดำเนินการป้องปรามมาตรการสูงสุด คือ จ.อุบลราชธานี 1,369 คน และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ จำนวน 836 คน จังหวัดที่มีการดำเนินการป้องปรามมาตรการสูงสุด คือ จ.ชัยภูมิ 170 คน
ขณะที่นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมและจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำชับจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชน ถนน อบต.และหมู่บ้าน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว พร้อมกวดขันกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยและไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองและเสี่ยงอันตราย พร้อมกำชับหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยจากการจุดพลุและประทัด เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567
สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทาง สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPMเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป