‘งบประมาณ’ มัดจำฝ่ายค้าน ปิดจ็อบ ปชป. รอ‘เสียบรัฐบาล’ ?
“งบประมาณ” เรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่อาจถูกตีเป็นราคาค่างวดการเมือง วัดใจ 21สส. "ค่ายพระแม่ธรณี" ปิดจ๊อบฝ่ายค้าน เปิดฉากร่วมรัฐบาล?
“ศึกสภา-วาระร้อน” รับเปิดศักราชปีงูใหญ่ 2567 ต้องจับตาไปที่ ศึกสำคัญไม่ว่าจะเป็น “2 เวทีซักฟอก”
ทั้งการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตมรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หรือ “อภิปรายทั่วไป” และการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา151 หรือ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ”
จับสัญญาณฝ่ายค้าน จนถึงนาทีนี้ “ชัยธวัช ตุลาธน” ผู้นำฝ่ายค้านป้ายแดงบอกว่า ศึกซักฟอกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเห็น “จุดผิดพลาด” ของรัฐบาล
ไม่ต่างจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งดีเลย์จากปัจจัยการเมืองไปกว่าครึ่งปี กำลังจะเข้าสู่สภาวาระแรกในวันที่ 3 ม.ค.
ขึ้นชื่อว่า “งบประมาณ” เรื่องของเงินๆ ทองๆ แล้ว แน่นอนว่าบรรดา “นักเลือกตั้ง”ต่างฝ่ายต่างงัดสารพัดกลเม็ดในการชิงไหวชิงพริบ สร้างแต้มต่อรอง หวังไปที่ “เค้กชิ้นโต” ที่จะนำไปลงแต่ละในพื้นที่ แต่ละนโยบาย ตุนกระสุนการเมืองในอนาคต
แม้แต่บางพรรคที่เวลานี้ประกาศกร้าวทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้าน”เต็มสูบ พร้อมชำแหละรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ ถึงเวลาจริงอาจขึ้นอยู่กับแต้มต่อรองเสียมากกว่า
เช็กเสียงฝ่ายค้านเวลานี้ ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล มี 148 เสียง แต่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้เหลือ 147 เสียง
พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และพรรคเป็นธรรม 2 เสียง
ทว่า เนื้อในพรรคร่วมฝ่ายค้านเวลานี้ เอาเข้าจริง อาจไม่ได้เป็นเอกภาพสักเท่าไรนัก โดยเฉพาะแนวร่วมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้เกมอำนาจของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรค รวมถึงขุนพลสีฟ้าที่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นสมาชิก “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย”
แม้ก่อนหน้า “เสี่ยต่อ เฉลิมชัย” หรือ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ในฐานะเลขาธิการพรรค จะย้ำถึงบทบาทประชาธิปัตย์ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และไม่ใช่พรรคอะไหล่ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ หากในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
เช่นนี้ สส.ประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะสายเฉลิมชัย 21 คน ซึ่งจำนวนนี้ก็มีบางคนพูดเองเสียด้วยซ้ำ หมดยุคปชป.เวอร์ชันเก่า ก้าวผ่านสู่ปชป.เวอร์ชันใหม่ ที่ไม่ใช่พรรคปฏิปักษ์กับค่าย “นายใหญ่” เพื่อไทยอีกต่อไป
จึงชวนจับตาว่า ที่สุด ปชป.สายเฉลิมชัยจะ “ซัดหนัก” จริงตามที่พูด หรือเป็นแค่ “รูทีน” แต่เพียงเท่านั้น
อย่าลืมว่าปชป.เอง ก็อาจมี “สัญญามัดจำล่วงหน้า”กับฝั่ง “ผู้มีอำนาจ” นั่นคือ “16 เสียง” ที่โหวตอุ้มเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้ารัฐบาล แต่ตกขบวนร่วมรัฐบาลหลังเคลียร์ศึกในพรรคไม่จบ
เวลานั้นแกนนำหยิบยกเหตุผลว่าไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือร่วมรัฐบาล แต่เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้
เช่นเดียวกับครั้งนี้ เรื่องงบประมาณที่เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ แน่นอนว่า บรรดานักเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ขั้วไหน ก็อยากได้งบไปลงในแต่ละโครงการ แต่ละพื้นที่ เพื่อต่อยอดการเมืองกันแทบทั้งนั้น
บทเรียนในอดีตก็มีให้เห็นกันมานักต่อนัก “สส.ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล” ตีกันเอาเป็นเอาตาย แต่พอถึงเวลาก็ “รวมกันเฉพาะกิจ” เข็นงบฯ จนผ่านในที่สุด
จึงไม่แปลก หากการพิจารณางบในวาระแรก จะมีการหยิบยกเหตุผลสุดคลาสสิก “เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้” ในการโหวตผ่านในวาระแรก ดังที่เคยมีให้เห็นมานักต่อนักในอดีต
เตือนความจำอีกนิด นอกเหนือจาก “16 เสียง ปชป.” ที่โหวตอุ้มเศรษฐา + อีก 5 สส.ในกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย รวมเป็น 21เสียง ซึ่งถูกมองว่า มีสัญญามัดจำล่วงหน้าไปแล้ว 1 งวด
ย้อนกลับไปในช่วงรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังมีคนในพรรคเพื่อไทย อาทิ “รองอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ที่เวลานั้นเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเวลานี้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เคยพูดไว้ก่อนโหวตนายกฯ 22 ส.ค.2566 เพียงไม่นานว่า
“ตัวเลข 278 เสียง (ณ เวลานั้น) สำหรับสภาล่าง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคง และเราก็จะยินดีมาก หากพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งการโหวตสนับสนุนจะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โอกาส’ ที่จะพูดคุยกันต่อ ในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าหากพรรคใดไม่โหวตสนับสนุน ก็ไม่ได้อยู่ในสมการนี้”
แม้งบประมาณวาระนี้ ยังเป็นวาระแรก ยังต้องลุ้นในวาระต่อๆ ไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของ “นายใหญ่” พรรคเพื่อไทย ว่าจะเอาอย่างไรหลังจากนี้
ในวันที่ “ค่ายพระแม่ธรณี” ถูกรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ โดยกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย จึงต้องจับตาว่า จากวาทกรรมที่เปิดฉากซัดขั้วตรงข้ามแบบดุเดือดในเรื่อง “ตีเช็คเปล่า”เวลานี้
ทำไปทำมา จะกลายเป็นการจ่ายมัดจำงวดสุดท้าย เพื่อเปิดทางสู่การพลิกขั้วหลังจากนี้หรือไม่ อย่างไร ? ต้องติดตาม...