‘บ่วงหุ้นศักดิ์สยาม-ค่าแรง’ วัดใจ‘พท.-ภท.’ ยังไงดีครับนาย!
2ปมร้อน ทั้งหุ้น"ศักดิ์สยาม" ที่กำลังจะชี้ชะตาวันที่17ม.ค.นี้ และ "ค่าแรง400บาท" ทำไปทำมาจะกลายเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" ลามเป็น2จุดตัดวัดใจ ระหว่าง "เพื่อไทย" และ "ภูมิใจไทย" ว่าท้ายที่สุดจะเอายังไงกันดีครับนาย!!!
ศักราช “ปีงูใหญ่ 2567” โหรการเมืองหลายสำนัก ต่างทำนายทายทัก ถึงหลากหลายด่านวัดใจที่อาจนำไปสู่จุดพลิกผันครั้งสำคัญ โดยเฉพาะรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่เวลานี้บริหารราชการแผ่นดินมาเกิน 100 วัน
ไม่ต่างจากสัญญาณการคืนสู่อิสรภาพของ “ทักษิณ ชินวัตร” ศาสดาเพื่อไทย ซึ่งถูกจับตาว่าถึงเวลาขึ้นแท่นบัญชาการ “หน้าฉาก” อย่างเต็มตัวเสียที ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการ “ล้างไพ่” ครั้งสำคัญอีกด้วย
ไม่ต่างจากบรรดาคดีการเมือง ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่ “จุดตัดวัดใจ” โดยเฉพาะเอกภาพ 11 พรรค “315 เสียง” ร่วมรัฐบาล เวลานี้
โดยเฉพาะคดีถือครองหุ้นของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อันเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค.นี้
อย่างที่รู้กันว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาล “สูตรผสมสีข้ามขั้ว” ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย ที่มีตัวละครร่วมคือ พรรคประชาชาติ และ พรรคภูมิใจไทย ที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกันในรัฐบาลชุดที่แล้ว
ย้อนกลับไปต้นเรื่อง เกิดขึ้นหลังการอภิปราย “ครม.ประยุทธ์” โดย “ศักดิ์สยาม” เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก ผู้ที่อภิปรายเรื่องนี้ คือ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ก่อนวันที่ 7 ก.พ.2566 ทิ้งทวนช่วงปลายรัฐบาลประยุทธ์ โดย “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำ และพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ได้ยื่นต่อเรื่องประธานสภาฯ ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรี และ สส. ของศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้ศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นมา
ในห้วงที่กระบวนการล่วงเลยไปกว่าครึ่งปี กระทั่งพรรคเพื่อไทยรวมถึงประชาชาติที่เคยเป็นฝ่ายค้านเดิม พลิกขั้วร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย
ประจวบเหมาะกับกระบวนการทางคดี ที่ดำเนินมาถึงขั้นตอนการไต่สวนนัดสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2566
พยานปากสำคัญฝ่ายผู้ร้อง คือ คนในพรรคประชาชาติ ที่เคยเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่เวลานี้แปรเปลี่ยนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย
ว่ากันว่า ช่วงที่ผ่านมา ในช่วงที่คดีความอยู่ในชั้นรอการไต่สวน มีความพยายามประสานจาก “บิ๊กเนมสีน้ำเงิน” ส่งผ่าน “นายกฯเศรษฐา” เพื่อเป็นตัวกลางไปถึงพรรคประชาชาติ ให้มีการเจรจาเปิดทาง
ทว่า ด้วยเหลี่ยมและชั้นเชิงการเมือง ฝั่งประชาชาติยังยืนยันเดินหน้าต่อ แต่ถอยครึ่งทาง โดยชั้นไต่สวนพยานได้ใช้วิธีการส่งเป็นเอกสารแทนที่จะเดินทางไปไต่สวนด้วยตัวเอง
จึงต้องจับตาด่านชี้ชะตาจากศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 ม.ค.นี้ ท่ามกลางสัญญาณ “ปีงูใหญ่” แต่อาจกลายเป็น “ปีงูดุ”
ขณะเดียวกันต้องจับตาไปที่การเปิดดีลต่อรองในระดับ “ซูเปอร์บิ๊กเนม” เหนือเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้าอีกด้วย
แต่ไม่ว่าผลวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค.นี้ จะออกมาหน้าไหน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกโยงไปที่ความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่า “ศักดิ์สยาม” ที่ยามนี้ถอยหลบฉาก ไร้ซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งก็เพื่อรอ “ชำระชะล้าง” คดีความที่ติดตัวให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ซึ่งเวลานี้ เขาก็ยังเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยอยู่ แถมยังส่ง “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ พี่ชาย เข้ามานั่งรักษาโควตารัฐมนตรี เสมือนเป็นตัวแทนรอวันที่ตนเองรอดบ่วงศาลรัฐธรรมนูญ
หากผลเป็นไปใน “ทางบวก” คือ “ศักดิ์สยาม” รอด นั่นหมายความไปถึงเก้าอี้เสนาบดี ที่เขาจะได้รับ หากมีการปรับครม. ซึ่งระดับ “เลขาฯพรรค” เคยเป็น รมว.คมนาคม ซึ่งถูกจัดอยู่ในชั้นกระทรวง “เอบวก”
ดังนั้น ระดับ “เสี่ยโอ๋” เมืองปราสาทหิน จะลดเกรดไปนั่งกระทรวงเกรดบี เกรดซีแทนพี่ชาย ก็ยากที่จะยอมง่ายๆ
หากส่องดูรายกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยถือครอง จะมีแค่กระทรวงมหาดไทยของ “รองหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ที่ถูกจัดอยู่ในชั้นเกรดเอ และพอจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาได้
ขณะกระทรวงอื่นๆ ที่ถือครองเวลานี้ บิ๊กเนมยังหวังว่าจะมีการเขย่าใหม่โดยเฉพาะกระทรวงที่ดูด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง ที่หวังเห็นเป็นของพรรค
แต่หากผลออกมาใน “ทางลบ” คือ ศักดิ์สยามติดบ่วงถือหุ้น ซึ่งสุ่มเสี่ยงติดโทษแบนยาว ก็ต้องจับตาเช่นกันว่า จะมีผลไปถึงโควตารัฐมนตรีที่ “บิ๊กอุ้ม” ถือครองแทนน้องชายมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในพรรคซึ่งเป็นแหล่งรวมของบรรดาบ้านใหญ่-นายทุนที่หมายปองเก้าอี้เสนาบดีเช่นเดียวกัน
ดังนั้น คดีถือหุ้นบ่วงร้อนที่กำลังคล้อง“ศักดิ์สยาม”เวลานี้ ย่อมกลายจุดชี้เป็น-ชี้ตาย ที่บทสรุปที่จะได้เห็นอย่างน้อย 3 ประเด็นสำคัญ และเป็นเดิมพันคดีนี้ว่าแกนนำสำคัญของภูมิใจไทย จะ “รอด” หรือ “ร่วง”
1.ที่มาเงินค่าหุ้น 119 ล้านบาท ที่ “ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ” ใช้ซื้อหุ้น ซึ่งฝั่งผู้ร้อง ระบุว่า เป็นลูกจ้างบริษัทในเครือตระกูลชิดชอบ ขณะที่ฝ่าย “ศักดิ์สยาม” กล่าวอ้างว่า เป็นเพื่อนเคยทำธุรกิจร่วมกันกว่า 30 ปี ที่ต้องพิสูจน์กันว่า เงินที่ใช้ซื้อหุ้นเป็นเงินของผู้ใดหันแน่
2.การโอนหุ้น เป็นนิติกรรมอำพรางในลักษณะนอมินีถือหุ้นแทนหรือไม่ อย่างไร
3.รายได้และหลักฐานการเสียภาษี ของผู้ถือหุ้น กับสถานะทางการเงินที่จะซื้อหุ้น 119 ล้านบาท สอดคล้องกันหรือไม่
คำวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค.นี้ จะถือเป็นจุดตัดวัดใจระหว่าง ภูมิใจไทย เพื่อไทย รวมถึงประชาชาติ ในฐานะตัวละครร่วม
อีกทั้งอาจจะผูกโยงไปถึงอีกหนึ่งจุดตัดวัดใจระหว่าง 2 พรรค ที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นเกมยื่นหมูยื่นแมว นั่นคือ นโยบาย 400 บาทซื้อใจแรงงาน ที่ว่ากันว่า มีการส่งสัญญาณระหว่าง “นายใหญ่” ตัวจริงของทั้ง2พรรคเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ มีภาพสะท้อนความเห็นที่เป็นไปในคนละทิศละทาง ระหว่าง “2 บิ๊กรัฐบาล” ฝั่งนายกฯเศรษฐา ประกาศกร้าวกลางสภา “400 บาทเร็วที่สุด”
ขณะที่ภูมิใจไทย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เจ้ากระทรวงจับกัง ระบุว่า “ต้องดูอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ”
ประจวบเหมาะกับที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งถูกจับตาว่า จะเป็นพรรคอะไหล่ชิ้นสำคัญที่ถูกดึงร่วมรัฐบาล หลังเช็ตทีมใหม่เป็นที่เรียบร้อย ย่อมทำให้มีการจับตาไปที่สูตรการเมือง ที่อาจเปลี่ยนไปหลังจากนี้
ทั้ง “2 ปมร้อน” ที่ดูเหมือนจะมีความเกี่ยวโยงเล็กๆ บวกสัญญาณการเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ “บิ๊กสีน้ำเงิน” ย่อมอ่านสถานการณ์ออก และจำเป็นต้องเร่งเตรียมแผน 1 แผน 2 โดยเฉพาะเสียงในมือ ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยข้อมูลว่าภูมิใจไทยไม่ได้มีแค่ 71 เสียงเฉพาะในส่วนของพรรค แต่มีมากกว่านั้น โดยเฉพาะผึ้งหลากหลายสี ที่กำลังแตกรัง และรอช้อนหวังสร้างแต้มต่อรองหลังจากนี้
แน่นอนว่า ด้วย“ต้นทุน-กระสุน” ที่เสียไปในช่วงการเลือกตั้ง ไม่ต่างจากสถานการณ์ขณะนี้ ที่เพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้ง นั่งในรัฐบาลไม่ถึงครึ่งปี ไม่มีพรรคใดอยากถูกเตะออกจากสมการ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน!!